การขอ ip จากเว็บไซต์ ให้ตร.เอาหมายศาลมา

ผมคิดว่าเราไม่ควรตื่นตระหนกมากเกินไป และพยายามคิดว่ามันเป็นงานรูทีนของตำรวจ เพราะมันเริ่มจากมีคนร้องเรียน ict แล้ว ict ต้องมาแจ้งความที่ตำรวจ แล้วตำรวจก็ดำเนินการตามปรกติ-ธนาพล อิ๋วสกุล (ภาพ:เนชั่น)

โดย ทีมข่าวไทยอีนิวส์
28 เมษายน 2554

นายธนาพล อิ๋วสกุล เขียนในเฟซบุ๊คสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ชี้แจงเพิ่มเติมตามที่มีข่าว กองปราบฯ แกะรอยกว่า 50 รายชื่อผู้เล่นเว็บบอร์ดฟ้าเดียวกัน เรียก บ.ก.ฟ้าเดียวกันให้ปากคำ ตามที่เผยแพร่ในเวบไซต์ประชาไท http://www.prachatai3.info/journal/2011/04/34259 ว่า ผมในฐานะ “พยาน” ขอให้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจทุกท่านดังต่อไปนี้

1. ในฐานะคนที่ดูแลกระดานสนทนาฟ้าเดียวกัน การต้องไปให้การในฐานะพยานนั้นเป็นกิจวัตรในชีวิตที่ผมต้องปฏิบัติเมื่อรับผิดชอบเว็​บไซต์ฟ้าเดียวกัน เฉพาะกองปราบนี่ผมต้องเดินทางไปร่วม 10 ครั้งแล้ว

2. สูตรสำเร็จในการให้การเป็นพยานคือ เป็นเว็บไซต์ฟ้าเดียวกันจริง แค่ไม่ทราบว่าข้อความที่โพสต์จริงหรือไม่ เนื่องจากไม่มีเวลาดูทั้งหมด

3. ถ้าตำรวจขอไอพี ก็บอกว่าให้เอาหมายศาลมา (ซึ่งไม่เคยมีหมายศาลจากตำรวจ) ถ้าถามเรื่องเทคนิค ก็บอกว่าไม่ทราบ เพราะเป็นเรื่องของฝ่ายเทคนิค (อันนี้ข้อเท็จจริง)

4. ถ้าถามว่าฝ่ายเทคนิคคือใคร บอกว่าเป็นอาสาสมัคร ติดต่อทางอีเมลล์เท่านั้น ไม่เคยเจอตัว

5. กรณีการไปให้การเมื่อวันที่ 27 เมษา แตกต่างจากกรณีอื่น ๆ คือ เมื่อวันที่ 4 เมษาที่ผ่านมาผมไปให้การในฐานะพยานเหมือนกับกรณีอื่น ๆ ก่อนหน้า แต่ตำรวจจะให้เซ็นชื่อในฐานะพยานโดยมีแค่ url จำนวน 46 url ผมบอกว่าเซ็นไม่ได้เนื่องจากผมไม่ทราบจริง ๆ ว่าทั้ง 46 url นั้นมีเนื้อหาอะไร และในทางปฏิบัติคือเว็บไซต์ฟ้าเดียวกันได้เปลี่ยนผู้รับผิดชอบ/เปลี่ยนชื่อ และยังโดน ict ปิดจนถึงปัจจุบัน

6. เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นก่อนปราศรัยวันที่ 10 เมษาฯ ที่นำไปสู่การแจ้งความจับจตุพรและพวก รวมทั้งการตบเท้าของ ทหาร จึงไม่เกี่ยวข้องกับกระแสข่าวการรัฐประหารแต่อย่างใด

7. การนัดหมายจึงมีอีกครั้งในวันที่ 27 เมษา ผมจึงให้ทางตำรวจเอารายชื่อและเนื้อหาทั้ง 46 url มาให้ดูก่อนลงชื่อรับทราบเป็นพยาน ในการนี้ผมขอความช่วยเหลือผ่านเพื่อนพ้องน้องพี่หลายคนให้ไปใช้ช่วยจดรายละเอียดมาเพ​ื่อเผยแพร่ให้รับทราบ

8. ทั้งรายชื่อและเนื้อหาที่ออกมานั้น “ผิดคาด” ครับ สำหรับผมไม่เห็นมีอะไรที่จะนำไปสู่การฟ้องร้องอะไรได้ เช่น กรณี ล็อกอินที่ใช้นามว่า“กลุ่มสมชายคัมแบ๊ค (SCCB)” หรือ “ผัวเผลอแล้วเจอกัน” เป็นเรื่องเฮฮา เล็ก ๆ น้อย ๆ กรณีล็อกอิน “อย่าว่าเราเจ้าข้า” ก็เป็นแค่การเอาข้อมูลสาธารณะมาเรียงต่อกัน หรือกรณี “สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล” ก็เป็นบทความเรื่องพระสุรเสียง ซึงเผยแพร่ไปมากกว่าในเว็บไซต์ฟ้าเดียวกัน

9. กรณีดังกล่าวทำให้หลายคนตื่นตระหนก รวมทั้งไปลบข้อมูลเก่าของตัวเลงในเว็บไซต์ฟ้าเดียวกันนั้น ผมคิดว่าไม่ต้องไปทำให้เสียเวลาครับ เพราะเขาไม่ได้เอาข้อมูลในปัจจุบัน แต่เอาข้อมูลเก่าที่เขาเซฟเก็บไว้เป็นหลักฐาน คือต่อให้ลบก็ไม่ช่วยอะไร

10. ผมคิดว่าเราไม่ควรตื่นตระหนกกับเรื่องดังกล่าวมากเกินไป และพยายามคิดว่ามันเป็นงานรูทีนของตำรวจ เพราะมันเริ่มจากมีคนร้องเรียน ict แล้ว ict ต้องมาแจ้งความที่ตำรวจ แล้วตำรวจก็ดำเนินการตามปรกติ

http://thaienews.blogspot.com/