หมายจับ : ออกอย่างไร ใช้อย่างไร ?

เรื่องหมายจับเป็นเรื่องที่สับสนกันมาก และมีปัญหาเป็นข่าวคราวอยู่บ่อย ๆ ว่าตำรวจออกหมายเรียก บางครั้งตำรวจก็ขอให้ศาลออกหมายจับ  ซึ่งศาลก็อนุมัติหมายจับบ้าง ไม่อนุมัติบ้าง  ถ้าจะถามว่าในเรื่องนี้มีเกณฑ์อย่างไร ก็ต้องดูตามตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 


ในเบื้องต้นต้องเข้าใจเสียก่อนว่า กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ คือ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  ขออธิบายคร่าว ๆ ว่า ในทางกฎหมายจะมีหมายหลายประเภท แบ่งออกเป็นหลักใหญ่ได้ ๒ ประเภท คือ “หมายเรียก” และ “หมายอาญา”


“หมายเรียก” คืออะไร มีบัญญัติไว้ในมาตรา ๕๒ วรรคแรก ว่า “การที่จะให้บุคคลใดมาที่พนักงานสอบสวน หรือมาที่พนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ หรือมาศาล  เนื่องในการสอบสวน การไต่สวนมูลฟ้อง การพิจารณาคดี หรือการอย่างอื่นตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ จักต้องมีหมายเรียกของพนักงานสอบสวน หรือพนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ หรือของศาลแล้วแต่กรณี”


จึงเห็นได้จากมาตราดังกล่าวว่า คดีอาญาจะมีกระบวนการในเบื้องต้นแบ่งได้เป็น ๓ ขั้น  ๑. การสอบสวนของตำรวจ  ๒. การไต่สวนมูลฟ้องของศาล  ๓. การพิจารณาคดีของศาล ซึ่งกฎหมายให้อำนาจในแต่ละชั้นไว้ว่าสามารถออกหมายเรียกบุคคลใด ๆ ได้


ดังนั้น ตำรวจจึงออกหมายเรียกได้เอง ไม่ต้องขออนุมัติจากศาล  เป็นการเรียกมาเพื่อการสอบสวนคดี  จะเรียกตัวผู้ต้องหาหรือเรียกผู้ที่เป็นพยานในคดีมาก็ได้  อันนี้พูดถึงเฉพาะในชั้นตำรวจหรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าชั้นพนักงานสอบสวน  ไม่ขอพูดถึงหมายเรียกของศาล เพื่อไม่ให้ผู้อ่านสับสนมากจนเกินไป 


ทีนี้ เมื่อตำรวจออกหมายเรียกได้เอง แต่คนที่ได้รับหมายเรียกไม่ไปพบตำรวจตามหมายเรียก ผลจะเป็นอย่างไร ?  จะเป็นเหตุให้ออกหมายจับได้หรือไม่ ?  เพราะเท่ากับเป็นการขัดขืนคำสั่งของเจ้าพนักงาน  เราอย่าเพิ่งไปคิดว่าตำรวจเป็นเสื้อสีอะไร ในเบื้องต้นขอให้ทำใจกลาง ๆ ไว้ก่อน มิฉะนั้น เราจะไม่เข้าใจถึงเนื้อแท้ของปัญหาที่เกิดขึ้น


ถ้าจะให้คุณผู้อ่านเดา เรื่องการขัดขืนไม่ไปตามหมายเรียกของตำรวจจะมีผลอะไรบ้างหรือไม่ ?  คุณผู้อ่านคิดว่าอย่างไร ผมทายว่าส่วนใหญ่คุณ ๆ คงต้องเดาว่า การไม่ไปหรือการขัดขืนนั้น ต้องมีผลทางกฎหมายบางอย่างใช่ไหม  เพราะถ้าไม่มีสภาพบังคับ หมายเรียกของตำรวจก็จะเป็นแค่เศษกระดาษ  จะไปก็ได้จะไม่ไปก็ได้อย่างนั้นหรือ  เห็นทีจะไม่ใช่  ประเด็นนี้ขอหยุดไว้ตรงนี้ก่อน ขอปูพื้นเรื่องกฎหมายเสียก่อน


หมายประเภทต่อมาคือ “หมายอาญา”  ตรงนี้จะยุ่งหน่อย เพราะหมายอาญาแยกย่อยไปอีก ขอสรุปให้เห็นว่ามี ๑.หมายจับ  ๒.หมายค้น  ๓.หมายขัง ๔.หมายจำคุก ๕.หมายปล่อย  แต่ขอจำกัดขอบเขตของการศึกษาไว้เพียงหมายจับ เพราะเป็นเรื่องที่เป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้


“หมายจับ” คืออะไร กฎหมายบัญญัติไว้ในมาตรา ๖๖ วรรคแรก ว่า “เหตุที่จะออกหมายจับได้มีดังต่อไปนี้ (๑) เมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลใดน่าจะได้กระทำความผิดอาญา ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปี หรือ (๒) เมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลใดน่าจะได้กระทำความผิดอาญา และมีเหตุอันควรเชื่อว่าจะหลบหนี หรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือก่อเหตุอันตรายประการอื่น”


แปลความว่า หมายจับคือก็หมายที่มีไว้จับผู้ต้องหานั่นเอง  มีข้อพิจารณาอยู่ ๒ เกณฑ์ คือ (๑) คดีที่มีโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปี อย่างนี้ขอศาลออกหมายจับได้เลย ตำรวจไม่ต้องออกหมายเรียกก่อน  (อย่าลืมที่ผมอธิบายในตอนแรกว่า ถ้าเป็น “หมายเรียก” ตำรวจออกได้เอง) 


แต่หลักเกณฑ์ข้อ (๒) ก็คือ ถ้าได้ความว่าจะหลบหนี จะไปยุ่งเหยิงกับพยาน หรือจะไปทำเรื่องอันตรายอะไร ตรงนี้ก็ขอศาลออกหมายจับได้  เพราะถือว่า แม้เป็นคดีเล็ก ๆ น้อย ๆ อัตราโทษไม่ถึงสามปี แต่ถ้ามีพฤติการณ์ตามที่กล่าวมาแล้ว ให้จับตัวได้  ที่หลักเกณฑ์มี ๒ ข้อ จึงหมายถึง เข้าข้อใดข้อหนึ่งก็ออกหมายจับได้  ไม่ได้หมายความว่าต้องเข้าเกณฑ์ทั้ง ๒ ข้อ 


ทีนี้ จะเห็นได้ว่า “การหลบหนี” เป็นเหตุหนึ่งที่จะออกหมายจับได้  แต่เพื่อให้มีความชัดเจน ว่าแค่ไหนคือการหลบหนี การโอ้เอ้ โยกโย้ ประวิงเวลา จะถือว่าเป็นการหลบหนีด้วยหรือไม่ ? หรือจะต้องหนีไปที่อื่นจริง ๆ  กฎหมายจึงอุดช่องโหว่ไว้ ไม่ให้มาเถียงกันได้ว่าพฤติกรรมแบบใด เป็นการหลบหนีหรือไม่หลบหนี 


กฎหมายก็เลยบัญญัติไว้ในมาตราเดียวกัน คือ มาตรา ๖๖ ข้างต้น แต่เขียนไว้เป็นวรรคที่สองว่า “ถ้าบุคคลนั้นไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง หรือไม่มาตามหมายเรียกหรือตามนัดโดยไม่มีข้อแก้ตัวอันควร ให้สันนิษฐานว่าบุคคลนั้นจะหลบหนี”


ดังนั้น การไม่มาตามหมายเรียกของตำรวจ จึงเป็นเหตุที่ให้ศาลออกหมายจับได้ครับ  แต่กฎหมายก็ไม่ได้ตายตัวขนาดนั้น  จึงเขียนกำกับไว้ด้วยว่า การที่ไม่มาตามหมายเรียกนั้นต้อง “ไม่มีข้อแก้ตัวอันควร” ด้วย  จึงจะถือว่าหลบหนีและออกหมายจับ  เพราะฉะนั้น ถ้ามีข้อแก้ตัวอันควร เช่น ป่วยหนักอยู่โรงพยาบาล อย่างนี้กฎหมายเขาไม่เคร่งขนาดต้องออกหมายจับ  แต่ถ้าข้อแก้ตัวฟังไม่ขึ้น เช่นบอกว่า ต้องไปทำการค้าที่โน่นที่นี่ อย่างนี้ไม่เป็นเหตุเป็นผล


อ่านมาถึงตรงนี้ ถ้าจะถามผมต่อไปว่า อ้าว...การไม่มาตามหมายเรียกเป็นเหตุให้ออกหมายจับได้ก็จริง  แต่ในมาตรา ๖๖ วรรคสองที่ผมเพิ่งยกมาเมื่อกี้นี้ มีบอกเอาไว้ด้วยมิใช่หรือว่า ต้องเป็นบุคคลที่ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่งด้วย จึงจะออกหมายจับได้  สมมุติว่านาย ก. เป็นผู้ต้องหา  ถ้านาย ก. ไม่ไปตามหมายเรียก แต่นาย ก. เป็นข้าราชการ น่าจะถือได้ว่านาย ก. มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ไม่น่าจะออกหมายจับนาย ก.ได้


ตรงนี้เป็นความเข้าใจผิด เพราะกฎหมายเขียนเอาไว้ว่า "ถ้าบุคคลนั้นไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่งหรือไม่มาตามหมายเรียก...ให้สันนิษฐานว่าบุคคลนั้นจะหลบหนี"  กฎหมายใช้คำว่า “หรือ” หมายความว่า เข้าเพียงข้อสันนิษฐานข้อใดข้อหนึ่งก็เพียงพอที่จะถือว่าหลบหนี  ดังนั้น ตามตัวอย่างข้างต้น แม้นาย ก. จะเป็นข้าราชการ ถือได้ว่ามีหลักแหล่งแน่นอนก็จริง  แต่เกิดนาย ก. ดื้อแพ่ง ตำรวจก็จะทำอะไรนาย ก. ไม่ได้เลยกระนั้นหรือ ?  คำตอบคือไม่ใช่ เพราะแม้จะมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง แต่เมื่อมีหมายเรียกแล้วไม่มาตามหมายเรียก กฎหมายก็ถือว่าหลบหนีเช่นกัน


ที่กฎหมายบัญญัติไว้เช่นนี้ เพื่อให้การสอบสวนดำเนินไปได้ มิเช่นนั้นแล้ว คนที่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่งจะถูกออกหมายจับไม่ได้เลย  ซึ่งขัดต่อเหตุผล  การมีที่อยู่เป็นหลักแหล่งจึงไม่ได้หมายความว่าใช้เป็นข้ออ้างที่จะไม่ไปตามหมายเรียกของตำรวจได้  เมื่อไม่ไป ตำรวจก็สามารถขอศาลออกหมายจับ ซึ่งเมื่อเข้าเหตุ ศาลก็ออกหมายจับได้ 


ส่วนเมื่อศาลออกหมายจับแล้ว ตำรวจจะไปจับที่ไหนอย่างไร จะมีการกลั่นแกล้ง หรือขั้นตอนสอบสวนหลังจากนั้นจะชอบหรือไม่  หรือแม้แต่ข้อหาที่มีการแจ้งความเอาไว้จะฟังได้หรือไม่ ผู้ต้องหาจะมีความผิดตามกฎหมายในเรื่องที่ถูกแจ้งความหรือไม่  จะต้องไปว่ากันต่อไป ซึ่งมันก็ไม่แน่ว่า ถ้ามีการทำสำนวนคดีอย่างตรงไปตรงมาแล้ว ตำรวจอาจสั่งไม่ฟ้องก็ได้  เพราะเห็นว่าไม่ผิด 


หรือตำรวจอาจเห็นว่าผิด ส่งสำนวนไปอัยการ อัยการก็อาจสั่งไม่ฟ้องได้ เพราะเห็นว่าไม่ผิด  เช่นเดียวกัน หากอัยการเห็นว่าผิด จึงสั่งฟ้องมายังศาล  ก็ต้องไปต่อสู้คดีกัน ศาลอาจเห็นว่าไม่ผิดและยกฟ้องไปก็ได้  หรือแม้แต่หากศาลเห็นว่าผิด ก็มีกระบวนการอุทธรณ์และฎีกาต่อไป