สื่อมวลชนกับการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล

ในระยะหลายปีที่ผ่านมา แนวคิดเกี่ยวกับสิทธิส่วนบุคคล (Right of Privacy) ดำเนินไปสู่ความสับสนยิ่งขึ้น ในขณะที่สังคมอุตสาหกรรมได้แยกย่อยคนออกตามความชำนาญเฉพาะด้าน ทำให้วิถีชีวิตของมนุษย์ต้องเผชิญกับความแปลกแยกโดดเดี่ยวต่อกันมากขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อน และเราก็เริ่มที่จะยอมรับชินชากับมัน แต่ในขณะเดียวกัน เทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่ก็ทำให้ระบบการตรวจสอบเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งกว่าที่เคยมีมา

แจ้งข้อหาพนักงานสอบสวน เรียก ผู้ต้องหา ผู้ถูกกล่าวหา

ปัญหาการออกหมายเรียกผู้ต้องหาของพนักงานสอบสวน
: ว่าด้วยอำนาจ, ความชอบธรรมและความเหมาะสม

                     ร.ต.อ.เทิดสยาม  บุญยะเสนา

   ปัญหาเกี่ยวกับงานสอบสวนนั้นอาจกล่าวได้ว่ามีมากมายมหาศาล  เจ้าหน้าที่ตำรวจโดยทั่วไปนั้นหากเลือกให้ปฏิบัติงานในสายงานอื่นก็อยากที่จะออกไปปฏิบัติสายงานอื่นมากกว่า  เนื่องจากได้ทำงานเป็นเวลา, กฎหมายและระเบียบไม่ได้เคร่งครัดมากมายเหมือนการเป็นพนักงานสอบสวน  และการทำงานสอบสวนมักจะถูกตำหนิตลอดเวลาว่าเป็น  “หนังหน้าไฟ”  และมักมีผู้แสดงความคิดเห็นตลอดเวลาว่าต้องเป็นอย่างนั้น  ต้องเป็นอย่างนี้  แต่แม้เจ้าหน้าที่ตำรวจให้มาทำหน้าที่สอบสวนเอง  ก็มีน้อยคนนักที่จะรักปฏิบัติหน้าที่สอบสวน  เพราะมีข้อจำกัดทั้งทางด้านการบริหารและหน้าที่ตามกฎหมายให้ปฏิบัติเป็นอย่างมาก   ซึ่งผู้เขียนตั้งใจเขียนงานนี้ด้วยความเป็นกลางและหวังว่าผู้สนใจจะสนใจความคิดเห็นของผู้ปฏิบัติงานโดยตรงบ้าง  มิได้มุ่งตำหนิผู้ปฏิบัติงานสอบสวนเนื่องจากเข้าใจดีว่าการปฏิบัติงานสอบสวนท่ามกลางความขัดแย้งนั้นเป็นไปด้วยความยากลำบาก  และมิได้มีความคิดเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง  ซึ่งแม้ปัจจุบันความเป็นกลางจะถูกกลืนกินจนจุดยืนที่ต้องการความเป็นกลางนั้น  ถูกตั้งข้อสงสัยและในบางกรณีถูกตั้งข้อกล่าวหาว่าอยู่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง  แต่ผู้เขียนต้องการหาทางออกในปัญหาที่เกิดขึ้น  ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นสามารถหาทางออกได้ในกรณีใดบ้าง  เพราะความขัดแย้งในทางกฎหมายแล้วย่อมสามารถหาทางออกได้  ดังคำกล่าวที่ว่า “ความขัดแย้งคือความยุติธรรม” (Justice is conflict)  แต่ทุกฝ่ายต้องเปิดใจและร่วมมือกันหาทางแก้ไขให้ปัญหาต่างๆ ลุล่วงไปด้วยดี   ซึ่งในเรื่องดังกล่าวนั้นปัญหาที่สำคัญที่สุดของการออกหมายเรียกผู้ต้องหาของพนักงานสอบสวน  อาจถือได้ว่าเป็นปัญหาพื้นฐานสำคัญของการใช้กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่ดี ซึ่งจะต้องพยายามรักษาสมดุล (Balance) ระหว่าง  อำนาจรัฐในการนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ และหลักประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน  จะต้องไม่โน้มเอียงไปทางใดทางหนึ่งมากนัก  หากคำนึงถึงแต่ความคล่องตัวในการนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษมากเกินไป  ประชาชนก็อาจได้รับความเดือดร้อน  เพราะเจ้าหน้าที่ของรัฐมีอำนาจอย่างกว้างขวางในการจับ การค้น การสอบสวน  การควบคุมตัว  ฯลฯ  ในทำนองเดียวกัน  หากมุ่งจะคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากเกินไป  โดยเกรงว่าประชาชนจะได้รับความเดือดร้อนรำคาญจากการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ของรัฐ  ผู้กระทำความผิดก็อาจพ้นจากการถูกนำตัวมาลงโทษอันจะส่งผลเสียหายต่อสังคม (เกียรติขจร  วัจนะสวัสดิ์, คำอธิบายหลักกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา, พิมพ์ครั้งที่  6  (กรุงเทพมหานคร: ห้างหุ้นส่วนจำกัดจิรรัชการพิมพ์, 2551), น.1-2.; Edward Eldefonso and Alan R. Coffey, Criminal Law: History, Philosophy, Enforcement (New York: Harper&Row, 1981), p.13.)

1.หมายเรียกผู้ต้องหาและปัญหาที่เกิดขึ้นในคดีหมิ่นประมาท
กฎหมายไม่ได้ให้คำนิยามคำว่า  “หมายเรียก” ไว้  แต่พออนุมานจากบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องได้ว่า หมายถึง  “หนังสือที่บงการซึ่งออกโดยพนักงานสอบสวน  พนักงานฝ่ายปกครอง  หรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่  หรือศาลสั่งให้บุคคลที่ถูกระบุไว้ในหมายนั้นมายังผู้ออกหมายเรียกเพื่อการสอบสวน  ไต่สวนมูลฟ้องหรือการพิจารณา หรือเพื่อการอันใดตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาอาญา”  ผู้มีอำนาจออกหมายเรียกนั้นได้แก่  ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  มาตรา  52   กำหนดไว้   3  ประเภท  กล่าวคือ.  – (1)  พนักงานสอบสวน  , (2)  พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่, (3)  ศาล   ส่วนกิจการที่จะออกหมายเรียกมี  4  เรื่องดังนี้คือ. -  (1)  การสอบสวน, (2) การไต่สวนมูลฟ้อง, (3) การพิจารณา และ  (4)  กิจการอย่างอื่น  เช่น  กรณีศาลเรียกเจ้าพนักงานที่ถูกอ้างว่าควบคุมบุคคลโดยผิดกฎหมายตามมาตรา  90  มาสอบถาม  เป็นต้น    และบุคคลที่อาจถูกออกหมายเรียก  ชั้นสอบสวน  ได้แก่ พยาน, ผู้ต้องหาหรือบุคคลที่มีเอกสารหรือวัตถุในความครอบครองที่อาจเป็นประโยชน์ต่อการสอบสวน(ณรงค์  ใจหาญ, หลักกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  เล่ม 1,  พิมพ์ครั้งที่  9  (กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์วิญญูชน, 2550), น.187 -188.) 
 
ถ้าพนักงานสอบสวน  หรือพนักงานฝ่ายปกครอง  หรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ไปทำการสอบสวนด้วยตนเอง  สามารถเรียกผู้ต้องหาหรือพยานได้โดยไม่ต้องมีหมายเรียก  และบุคคลที่ขัดขืนหมายเรียก  ย่อมมีความผิดฐานขัดคำสั่งเจ้าพนักงานตาม ป. อาญา  มาตรา  168, 169  หรือ  170  แล้วแต่กรณี     (   ฎีกาที่  1783/2493   วินิจฉัยว่า   พยานที่ขัดขืนไม่ปฏิบัติตามหมายเรียกของพนักงานสอบสวนที่ให้มาเพื่อสอบปากคำมีความผิดฐานขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน  ตามกฎหมายลักษณะอาญามาตรา  334  (2)  ( คือ  ป. อาญา  มาตรา  168  ปัจจุบัน) (ฎน.1732))   แต่ในกรณีที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มาไม่ผิดอาญา  แต่เป็นเหตุให้ออกหมายจับตาม ป.วิ.อาญา  มาตรา  66  วรรคสอง  (ฎีกาที่  1341/2509 ( ประชุมใหญ่)  วินิจฉัยว่า  กรณีผู้ต้องหาขัดขืนไม่มาตามคำให้การตามหมายเรียกโดยไม่มีข้อแก้ตัวอันควรนั้น  ป.วิ.อาญา   มาตรา  66 (3)  บัญญัติทางแก้ไขไว้โดยพนักงานสอบสวนมีหมายจับตัวมาได้เป็นบทลงโทษอยู่แล้ว     จึงเห็นได้ว่า  เจตนารมณ์ของ  ป. อาญา  มาตรา  168  หาได้มุ่งหมายจะใช้กับผู้ต้องหาที่ขัดขืนไม่มาให้การกับพนักงานสอบสวนตามหมายเรียกอีกด้วยไม่   (ฏน.2923) (สุรศักดิ์  ลิขสิทธิ์วัฒนกุล, ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาฉบับอ้างอิง ตัวบท  คำอธิบายย่อและเอกสารอ้างอิงเรียงมาตรา.  พิมพ์ครั้งที่ 6 (กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2550)  น. 120 – 121.)
ปัญหาที่เกิดขึ้นในคดีหมิ่นประมาทคือ  ในคดีหมิ่นประมาทโดยการโฆษณานั้น ส่วนใหญ่แล้วที่เกิดเหตุจะมีหลายสถานที่เนื่องจากเทคโนโลยีในปัจจุบัน  หากเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสังคมหรือมีการสัมภาษณ์บุคคลสำคัญๆ  ก็จะทำให้การแพร่ภาพหรือข้อความที่อาจจะถือว่าเป็นข้อความหมิ่นประมาทไปทั่วประเทศ  โดยท่านอาจารย์ ดร.คณิต  ณ  นคร ได้ตั้งคำถามถึงความชอบธรรมว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติหรือพนักงานสอบสวนอาจตกเป็นเครื่องมือของผู้เสียหายได้  ในกรณีที่มีผู้เสียหายไปแจ้งความไปแจ้งความยังสถานที่ไกลๆ  ในท้องที่อื่นนอกจากท้องที่ที่ไกลๆ  ซึ่งถือว่าทำให้ผู้ต้องหาได้รับความลำบากและดูเหมือนเป็นการกลั่นแกล้งกัน  (คณิต  ณ นคร, “เมื่ออำนาจรัฐตกเป็นเครื่องมือของผู้เสียหายในคดีความผิดฐานหมิ่นประมาท (2)” มติชนสุดสัปดาห์, เล่ม 1455, ปีที่   28 (ฉบับวันที่ 4 – 10  กรกฎาคม  2551), น.32.)
      การกระทำดังกล่าวของผู้เสียหาย  จึงมีลักษณะ  “ความผิดกรรมเดียวพาเที่ยวได้ทั่วไทย”   ยิ่งความผิดฐานหมิ่นประมาทนั้น  ส่วนใหญ่ถ้าเจตนาของผู้กล่าวไม่ได้กล่าวอย่างร้ายแรงและสร้างความเสียหาย  ส่วนใหญ่ศาลก็อาจจะใช้ดุลยพินิจลงโทษในสถานเบา  เช่นการรอลงอาญาหรือการปรับเพียงเล็กน้อย  ซึ่งอาจจะน้อยกว่าค่าเดินทางของผู้ต้องหาไปรับทราบข้อกล่าวหา  ซึ่งยังไม่คำนึงถึงเรื่องว่าผู้ต้องหาอาจไม่มีความผิดเมื่อกล่าวเพื่อความชอบธรรม  ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามธรรมนองคลองธรรม, ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติการตามหน้าที่, ติชมด้วยความเป็นธรรม  ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ หรือในการแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรมเรื่องการอันเปิดเผยในศาลหรือในการประชุม (ประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  329)   ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวสำนักงานตำรวจแห่งชาติ  ก็ได้มีระเบียบในลักษณะเดียวกันกับของอัยการ  ซึ่งปรากฏตามระเบียบการตำรวจเกี่ยวกับคดี  ลักษณะที่   8  บทที่  2  (1/33)  เรื่องการสอบสวนคดีความผิดฐานหมิ่นประมาท  ในกรณีความผิดกรรมเดียวกระทำลงในหลายท้องที่  และตามระเบียบกรมตำรวจว่าด้วยอำนาจการสอบสวนคดีความผิดฐานหมิ่นประมาทในกรณีความผิดกรรมเดียวกระทำลงในหลายท้องที่  พ.ศ.2533  ลงวันที่  5 กุมภาพันธ์  พ.ศ.2533
(กองวิชาการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, ประมวลระเบียบการตำรวจเกี่ยวกับคดีฉบับสมบูรณ์ (กรุงเทพมหานคร: บริษัทวิศิษฎ์สรอรรถจำกัด (ฝ่ายการพิมพ์), 2545), น. 244-245.)  ซึ่งวางหลักไว้ว่า

“ข้อ  227  (1)  ด้วยกรมตำรวจได้พิจารณาเห็นว่า  คดีความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายมาตรา  326 , มาตรา  327 และมาตรา  328  อันเป็นความผิดกรรมเดียว  แต่ผู้ต้องหาได้กระทำลงในหลายท้องที่ผู้เสียหายอาจร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนในหลายท้องที่  ผู้เสียหายอาจร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนในหลายท้องที่ซึ่งให้การสั่งคดีไม่เหมือนกัน   อาทิเช่น  บางท้องที่อาจมีความเห็นสั่งฟ้อง  ทั้งๆ ที่เป็นความผิดกรรมเดียว   เพื่อป้องกันมิให้มีการสอบสวนคดีดังกล่าวซ้ำซ้อน   และการมีความเห็นทางคดีแตกต่างกันในคดีความผิดเดียวกันจึงให้ดำเนินการดังนี้
(1) เมื่อพนักงานสอบสวนรับคำร้องทุกข์ในคดีความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  326  , มาตรา  327  และมาตรา  328  อันเป็นกรณีความผิดกรรมเดียวกระทำลงในหลายท้องที่แล้ว  ให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนโดยมิชักช้า  โดยให้พนักงานสอบสวนผู้รับแจ้งสอบสวนผู้เสียหายว่าได้มีการร้องทุกข์ไว้กับพนักงานสอบสวนในท้องที่อื่นใดมาก่อนหรือไม่  หากปรากฏว่าผู้เสียหายได้เคยแจ้งความร้องทุกข์ไว้กับพนักงานสอบสวนไว้กับพนักงานสอบสวนท้องที่อื่นใดไว้ก่อนแล้ว  ให้พนักงานสอบสวนผู้รับแจ้งสอบสวนปากคำผู้เสียหายแล้วจัดส่งบันทึกคำให้การผู้เสียหายไปยังพนักงานสอบสวนที่รับแจ้งความร้องทุกข์ไว้แต่แรกดำเนินการสอบสวนต่อไป...  ”
ซึ่งในกรณีดังกล่าวปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น  ในกรณีของที่มีการแจ้งความในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และในกรณีที่แจ้งความผู้ต้องหาที่จังหวัดอยุธยานั้น    แม้จะมีการแจ้งความครั้งเดียวซึ่งเป็นครั้งแรก แต่ปัญหาก็เกิดขึ้นไม่เป็นธรรมกับผู้ต้องหา  ซึ่งบางครั้งเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่และถึงแม้ไม่ใช่แต่หากผู้ต้องหาต้องเดินทางไกล  ก็เปรียบเสมือนว่าผู้ต้องหานั้นได้รับโทษไปก่อนแล้วที่จะมีคำพิพากษาว่าผิดหรือไม่

2.ปัญหาการกระทำกรรมเดียวแต่ผู้ต้องหาได้กระทำลงในหลายท้องที่
ปัญหาที่เกิดขึ้นซึ่งอาจถือว่าเป็นช่องว่างของกฎหมาย  การที่ผู้ต้องหาได้พูดหรือแสดงการหมิ่นประมาทผู้ต้องหา  ตัวอย่างเช่น    นาย  ข. ได้พูดถ้อยคำหมิ่นประมาทนาย  ค.  ทางวิทยุกระจายเสียง หรือทางเอกสารอื่นๆ  ซึ่งทำให้เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา   โดยนาย  ข.ได้พูดถ้อยคำดังกล่าวที่กรุงเทพมหานคร  แต่บุคคลอื่นได้ยินเสียงถ้อยคำหมิ่นประมาทที่จังหวัดสุโขทัยและ นาย  ค.ได้ยินเสียงหมิ่นประมาทดังกล่าวที่อำเภอเมือง  จังหวัดสุโขทัย  ดังนี้แล้วพนักงานสอบสวน สภ.เมือง  จังหวัดสุโขทัย  ย่อมมีอำนาจสอบสวน  เพราะเมื่อคำนึงถึงความเป็นธรรมของผู้เสียหายแล้ว  การที่ผู้เสียหายต้องเดินทางไปถึงกรุงเทพมหานคร  อันเป็นสถานที่เกิดเหตุนั้น  ย่อมไม่เป็นธรรมกับฝ่ายผู้กล่าวหา
แต่อย่างไรก็ตามเมื่อปฏิบัติตามข้อเท็จจริงดังกล่าว  ทำให้ผู้กล่าวหา (บางราย)  ฉวยโอกาสจากการอำนวยความสะดวกดังกล่าว  เป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งผู้ต้องหา  โดยไปแจ้งความในพื้นที่ไกลๆ  ซึ่งทำให้ผู้ต้องหาต้องเสียเวลาเดินทางเป็นอย่างมากและเกิดความเสียหายขึ้นมากเกินความจำเป็น  นอกจากนี้แล้วยังตระเวนแจ้งความหลายท้องที่  ซึ่งตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่  464/2532   ได้พิพากษาไว้ว่า

“แม้ข้อความที่พนักงานอัยการจังหวัดบุรีรัมย์ฟ้องว่าจำเลยลงพิมพ์ข้อความหมิ่นประมาทโจทก์ร่วม  จะเป็นคนละบทความกันและลงพิมพ์ต่างหน้ากันกับที่โจทก์ฟ้องจำเลยคดีนี้    แต่ก็เป็นข้อความหมิ่นประมาทโจทก์ร่วมในหนังสือพิมพ์  ซึ่งจำเลยเป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณาฉบับเดียวกัน  ทั้งเป็นข้อความที่กล่าวถึงโจทก์ร่วมในเรื่องเดียวกัน   ทั้งเป็นข้อความที่กล่าวถึงโจทก์ร่วมในเรื่องเดียวกัน  การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดกรรมเดียว  และพนักงานอัยการจังหวัดบุรีรัมย์กับโจทก์ต่างก็เป็นพนักงานอัยการมีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลตาม ป. วิ อาญา  มาตรา  2 (5)  ,  28(1)  ด้วยกัน  การที่โจทก์นำคดีนี้มาฟ้องจำเลยอีกจึงเป็นฟ้องซ้อน  ต้องห้ามมิให้ฟ้องตาม ป.วิ. แพ่ง  มาตรา  173 (1) ประกอบด้วย  ป. วิ. อาญา  มาตรา  15 ”( สุวัณชัย ใจหาญ, พลตำรวจตรี, คำอธิบายประมวลกฎหมายอาญาว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับเพศและความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพและชื่อเสียง  (กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์มิตรสยาม, 2534), น.529-530) 
   จึงเห็นได้ว่าการที่ผู้เสียหายมาร้องทุกข์ซ้ำแล้วซ้ำอีกนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย  และไม่มีสิทธิจะทำเช่นนั้นได้  เพราะว่าเจตนาดังกล่าวถือว่ามีเจตนาที่จะสร้างความเสียหายและความเดือดร้อนให้ผู้ต้องหาโดยยังไม่ปรากฏคำพิพากษาของศาลว่าผู้ต้องหาได้กระทำความผิดหรือไม่   นั้นผู้เขียนมีข้อสังเกต  2  ประการกล่าวคือ. –
   ประการแรก   การกล่าวของผู้ต้องหานั้น  มีความเกี่ยวข้องประการใดกับ  “การโฆษณา”  คือการหมิ่นประมาทด้วยเอกสาร, ภาพวาด, ภาพระบายสี  ฯลฯ หรือการกระจายเสียงหรือป่าวประกาศด้วยวิธีอื่นใด (ประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  328)   ผู้ต้องหานั้นแม้จะกล่าวตามความเห็นของตนเอง  แต่เมื่อผู้เสียหายเห็นว่าเป็นข้อความหมิ่นประมาท  การหมิ่นประมาทโดยการโฆษณานั้น  ผู้เขียนเห็นว่าผู้กล่าวต้องมีเจตนาที่จะให้ผู้อื่นรู้เห็นโดยผ่านการโฆษณาดังกล่าว  แต่หากเป็นการที่ผู้สื่อข่าวหรือบุคคลอื่นนำไปโฆษณาหรือไปเผยแพร่เอาเองนั้น  ผู้ต้องหาน่าจะถูกกล่าวหาเฉพาะหมิ่นประมาทธรรมดาเท่านั้น  มิใช่หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ดังนั้นแล้ว  หากเป็นการหมิ่นประมาทธรรมดา  ผู้เสียหายหรือผู้แจ้งความร้องทุกข์จึงควรมาร้องทุกข์ในสถานที่ที่ผู้กล่าวหากล่าวว่ากล่าวในที่ใด  มิใช่ไปร้องทุกข์ในสถานที่ทั้งที่ผู้ต้องหาไม่ได้กล่าวหรือผู้เสียหายได้ยินข้อความ 
   ประการที่สอง คือ  ในกรณีที่ผู้ต้องหาได้พูดต่อหน้าสื่อมวลชน  เช่น โทรทัศน์, หนังสือพิมพ์ , แพร่ข้อความทางอินเตอร์เน็ต  เป็นต้นนั้น  อาจถือได้ว่าพนักงานสอบสวนทั้งประเทศก็ทราบข้อเท็จจริงเหล่านี้หมด  เนื่องจากน่าจะเป็นข้อเท็จจริงที่ทราบกันทั่วไป  ถึงแม้พนักงานสอบสวนจะไม่ได้เห็นภาพดังกล่าวด้วยตนเอง  แต่ก็น่าจะสามารถสืบค้นได้ไม่ยาก  ดังนั้น  ท้องที่ที่รู้การกระทำความผิดก่อนจึงอาจต้องตีความอย่างกว้างว่าเป็นหลายท้องที่  การที่พนักงานสอบสวนได้รับคำร้องทุกข์ไว้แต่แรกแล้ว  จึงน่าจะมีอำนาจเสนอคำร้องทุกข์นั้นไปยังท้องที่ที่เห็นควรดำเนินการสอบสวน     เช่นกรณีพนักงานสอบสวนในท้องที่ สภ.เมืองอยุธยา  มีผู้ไปแจ้งความเรื่องหมิ่นประมาท  แต่ข้อความดังกล่าวเป็นข่าวที่มีการโฆษณาทั่วประเทศและผู้เสียหายเคยเป็นข้าราชการการเมืองระดับสูง  และผู้ถูกกล่าวหาเป็นถึงข้าราชการระดับสูง  เช่นนี้ควรให้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ  เป็นผู้พิจารณาว่าควรจะให้พนักงานสอบสวนท้องที่ใดเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ 
  
3. ปัญหาการออกหมายเรียกของพนักงานสอบสวน
   ต่อคำถามของท่านอาจารย์ ดร.คณิต  ณ นครว่า “ในคดีของท่านสุนัย  นั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตรวจดูอย่างแน่ใจแล้วหรือไม่ว่าเป็นการกล่าวข้อความโดยสุจริต  ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา  329 (2)  ซึ่งเป็นข้อยกเว้นไม่ทำให้เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทนั้น”  ตามบันทึกสั่งการของกองคดี  กรมตำรวจที่  0503/6968  ลงวันที่  22  มีนาคม   2517  ข้อ 3  วางหลักไว้ว่า  “ในกรณีมีผู้มาร้องทุกข์หรือการกล่าวโทษในคดีอาญา  ในโอกาสแรกที่พนักงานสอบสวนพึงกระทำ  ในเมื่อผู้ต้องหายังไม่ได้มาปรากฏตัวต่อพนักงานสอบสวนตามนัยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา   134  คือควรทำการสืบสวนเสียก่อน    เมื่อฟังได้ว่ามีการกระทำความผิดอาญาเกิดขึ้นจึงดำเนินการสอบสวนต่อไป...แต่ถ้าตามทางการสอบสวนปรากฎว่าผู้ต้องหาหรือผู้ถูกกล่าวหามิได้กระทำความผิด  หรือไม่ได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้นตามข้อกล่าวหา  ก็ไม่ต้องทำการจับกุมตัวผู้ต้องหาหรือผู้ถูกกล่าวหาหรือแจ้งข้อแจ้งข้อหาให้ผู้ต้องหาหรือผู้ถูกกล่าวหาทราบแต่อย่างใด  แต่ให้พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนโดยทำความเห็นควร “สั่งไม่ฟ้อง” ส่งพนักงานอัยการพิจารณาโดยมิชักช้าเช่นเดียวกัน”  ในคดีดังกล่าวได้มีการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานจนกระทั่งมีการขอออกหมายจับ  แสดงว่าพนักงานสอบสวนน่าเชื่อว่าผู้ต้องหาอาจจะกระทำความผิดจึงได้ขอศาลออกหมายจับ  ตามความเห็นของผู้เขียนซึ่งมิได้มีโอกาสพิจารณาสำนวนการสอบสวนด้วยตนเอง  พนักงานสอบสวนจึงไม่มีทางเลือกอื่นในเมื่อมีการออกหมายเรียกผู้ต้องหาไปแล้ว  จึงต้องดำเนินการตามขั้นตอนออกหมายจับ  ซึ่งพนักงานสอบสวนนั้นเปรียบเสมือน “หนังหน้าไฟ”  ที่มีโอกาสใช้ดุลยพินิจแคบมากในการดำเนินการตามอย่างอื่น  ซึ่งการใช้ดุลยพินิจต่างกันกับพนักงานอัยการและศาลที่เปิดโอกาสให้ใช้ดุลยพินิจกว้างขวางกว่ามาก
  



4.ความถูกต้องตามอำนาจ, ความชอบธรรมและความเหมาะสมในการออกหมายเรียก
   ปัญหาที่เกิดขึ้น  จึงเป็นปัญหาเรื่องพนักงานสอบสวนมีอำนาจที่จะกระทำการออกหมายเรียกดังกล่าวหรือไม่นั้น  ผู้เขียนเห็นว่าพนักงานสอบสวนมีอำนาจที่จะออกหมายเรียกผู้ถูกกล่าวหาหรือผู้ต้องหามาได้  แต่ในทางปฏิบัติแล้วผู้เขียนมักจะแบ่งออกเป็น   2  กรณี 
  
กรณีแรก  หากมีผู้มาแจ้งความร้องทุกข์ในคดีความผิดอันยอมความได้  ซึ่งทั้งผู้เสียหายและผู้ต้องหาเป็นข้าราชการระดับสูง (หรือแม้กระทั่งเคยเป็น)  พนักงานสอบสวนควรหารือขึ้นไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าสมควรให้ผู้ใดเป็นผู้ดำเนินการสอบสวน  หากพิจารณาแล้วเห็นว่าควรให้ท้องที่ที่รับแจ้งความเป็นผู้ดำเนินการสอบสวน ก็ควรมีการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานเสียก่อน ตามคำสั่งของสำนักงานตำรวจแห่งชาติดังกล่าวข้างต้น  โดย     ในการนี้หากยังไม่มีพยานหลักฐานอื่น  พนักงานสอบสวนอาจเรียกผู้ถูกกล่าวหาในฐานะ “ผู้ถูกกล่าวหา”   ซึ่งเพื่อประโยชน์ของผู้ถูกกล่าวหาเองนำพยานหลักฐานมามอบให้พนักงานสอบสวนด้วย หากพิจารณาแล้วว่าพยานหลักฐานฝ่ายผู้ต้องหาจะมีประโยชน์ต่อรูปคดีในการทำความเห็นสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้อง  คำว่า  “ผู้ถูกกล่าวหา” นี้มักจะใช้นำมารวมกับคำว่า “ผู้ต้องหา”   ซึ่งอาจารย์ณรงค์ ใจหาญ  ได้ให้ความเห็นว่า  “ผู้ถูกกล่าวหา”  หมายถึง  “ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าได้กระทำความผิดทางอาญา  ฐานใดฐานหนึ่ง” (ณรงค์  ใจหาญ, หลักกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  เล่ม 1,  พิมพ์ครั้งที่  9  (กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์วิญญูชน, 2550), น.85.)
 

ดังนั้นการที่ออกหมายเรียกผู้ถูกกล่าวหา  จึงออกในฐานะที่เป็นผู้นำพยานหลักฐานที่ผู้ถูกกล่าวหามาแสดงให้พนักงานสอบสวนทราบ  เพื่อพิจารณาดูว่าพยานหลักฐานฝ่ายใดน่าเชื่อถือมากกว่ากัน  ซึ่งอาจทำให้ความเห็นของพนักงานสอบสวนสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องโดยได้พยานหลักฐานจากทั้งสองฝ่าย   ส่วนผู้ต้องหานั้นหมายความถึง “บุคคลผู้ถูกกล่าวหาว่าได้กระทำความผิดแต่ยังมิได้ถูกฟ้องต่อศาล”(เพิ่งอ้าง)   จึงน่าจะหมายความถึงบุคคลที่พนักงานสอบสวนได้รวบรวมพยานหลักฐานแล้วมีพยานหลักฐานเพียงพอว่าผู้นั้นได้กระทำความผิด  จึงตกอยู่ในฐานะผู้ต้องหา.
   

กรณีที่สอง   หากพนักงานสอบสวนได้รวบรวมพยานหลักฐานแล้วมีพยานหลักฐานชัดแจ้งว่าผู้ต้องหาได้กระทำความผิดจริง  จึงออกหมายเรียกผู้ต้องหาในฐานะผู้ต้องหา  โดยคำนึงถึงพยานหลักฐานแล้วว่ามีหลักฐานเพียงพอว่าผู้ต้องหาได้กระทำความผิดจริง 
   

อย่างไรก็ตามโดยบทสรุปของงานเขียนเรื่องนี้  ผู้เขียนมิอยากให้พิจารณาในเรื่อง “ผู้ถูกกล่าวหา” หรือ “ผู้ต้องหา”  เท่านั้น  แต่ยังรวมถึงเรื่องความชอบธรรมและความเหมาะสมในการออกหมายเรียกผู้ต้องหา   เนื่องจากในคดีอาญาไม่ว่าจะเป็นคดีความผิดอันยอมความได้หรือไม่ก็ตาม  กฎหมายอาญานั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคมเป็นหลัก   (Edward Eldefonso and Alan R. Coffey, Criminal Law: History, Philosophy, Enforcement (New York: Harper&Row, 1981), p.13.)
       

ดังนั้นปัญหาที่เกิดขึ้นสองประการจากเรื่องดังกล่าว  กล่าวคือ.-  ประการแรก  เรื่องความชอบธรรมของการออกหมายเรียกของพนักงานสอบสวน  ที่ต้องให้ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เดินทางมาให้ปากคำ  ไม่ว่าจะในฐานะผู้ถูกกล่าวหาหรือผู้ต้องหาก็ตาม  ทั้งที่อาจมีทางเลือกอื่นโดยให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในท้องที่ในเขตกรุงเทพมหานครหรือกองปราบปรามดำเนินการสอบสวน  ซึ่งทำให้พนักงานสอบสวนสามารถเดินทางไปสอบสวนปากคำผู้ต้องหาได้ทันที  และประการที่สองคือที่เกี่ยวข้องกับประการแรก  คือพนักงานสอบสวนนั้นขาดอำนาจที่จะใช้ดุลยพินิจในการแยกแยะว่าคดีใดเป็น “ผลประโยชน์ส่วนรวมของสังคม” (Public Interest)  หรือ  “ผลประโยชน์ส่วนบุคคล” (Personal Interest)  ทำให้เกิดปัญหาที่บ่อยครั้งจำยอมต้องตกเป็นเครื่องมือของผู้กล่าวหาหรือผู้ต้องหา  ประกอบกับการบริหารงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเองที่มีปัญหาอยู่มาก  บ่อยครั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจถึงกับท้อแท้  เพราะไม่ได้ใช้ดุลยพินิจในการให้ความเป็นธรรมแก้ไขปัญหาสังคม  มีหน้าที่เป็นเพียง “พนักงานพิมพ์ดีด” เพื่อโยนเรื่องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเท่านั้น    ปัญหาดังกล่าวจึงเกิดขึ้นอย่างมากในปัจจุบัน  ส่วนทางแก้ไขนั้นผู้เขียนเห็นว่า  สำนวนหรือเรื่องใดที่ดำเนินคดีแล้วน่าจะเป็นประโยชน์ส่วนตัวมากกว่ากระทบถึงผลประโยชน์ส่วนรวม  พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบอาจเสนอสำนวนต่อผู้บังคับบัญชาระดับสูง  เช่น  ระดับผู้บังคับการหรือเหนือกว่า   เพื่อร่วมหารือกับฝ่ายพนักงานอัยการหรือเสนอเรื่องต่อศาลเพื่อให้พิจารณาคดีว่าคดีดังกล่าวมีผลประโยชน์ในเรื่องส่วนตัวที่ไม่กระทบต่อส่วนรวม  หรือความสงบสุขส่วนรวมที่ตำรวจต้องยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือ  ก็ให้ยุติการดำเนินคดีเพื่อให้ผู้เสียหายไปฟ้องร้องเอาเองได้  ทั้งนี้ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นสองประการกล่าวคือ. -  1)  เจ้าหน้าที่ตำรวจจะได้ไม่ตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง  และ  2)  เจ้าหน้าที่ตำรวจจะได้มีเวลาและนำทรัพยากรไปใช้เพื่อในการติดตามสืบสวนสอบสวนคดีที่สร้างความเสียหายต่อสังคมอย่างแท้จริง   โดยปราศจากอิทธิพลทางการเมืองและผลประโยชน์ส่วนตัว.











เอกสารอ้างอิง
Eldefonso, Edward and Coffey Alan R., Criminal Law: History, Philosophy, Enforcement. New York: Harper&Row, 1981.
กองวิชาการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, ประมวลระเบียบการตำรวจเกี่ยวกับคดีฉบับสมบูรณ์. กรุงเทพมหานคร: บริษัทวิศิษฎ์สรอรรถจำกัด (ฝ่ายการพิมพ์), 2545.
เกียรติขจร  วัจนะสวัสดิ์, คำอธิบายหลักกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา. พิมพ์ครั้งที่  6.  กรุงเทพมหานคร: ห้างหุ้นส่วนจำกัดจิรรัชการพิมพ์, 2551. 
คณิต  ณ นคร, “เมื่ออำนาจรัฐตกเป็นเครื่องมือของผู้เสียหายในคดีความผิดฐานหมิ่นประมาท (2)” มติชนสุดสัปดาห์, เล่ม 1455, ปีที่   28 (ฉบับวันที่ 4 – 10  กรกฎาคม  2551)
ณรงค์  ใจหาญ, หลักกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  เล่ม 1.  พิมพ์ครั้งที่  9. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์วิญญูชน, 2550.
สุรศักดิ์  ลิขสิทธิ์วัฒนกุล, ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาฉบับอ้างอิง ตัวบท  คำอธิบายย่อและเอกสารอ้างอิงเรียงมาตรา.  พิมพ์ครั้งที่ 6.  กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, น. 120 – 121.
สุวัณชัย ใจหาญ, พลตำรวจตรี, คำอธิบายประมวลกฎหมายอาญาว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับเพศและความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพและชื่อเสียง.  กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์มิตรสยาม, 2534. 
   ณรงค์  ใจหาญ, หลักกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  เล่ม 1.  พิมพ์ครั้งที่  9. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์วิญญูชน, 2550.

แจ้งข้อหาหนักๆ พนักงานสอบสวน ต้องรับผิดฐานหมิ่นประมาทหรือไม่

แกนนำพันธมิตร ยื่นฟ้องคดีอาญากับ หัวหน้าพนักงานสอบสวนท่านหนึ่ง โดยกล่าวหาว่า หมิ่นประมาท กรณีการแจ้งข้อหาก่อการร้ายซึ่ง แกนนำพันธมิตรคิดว่า มันหนักหนาสาหัสสากรรจ์ อาจติดคุกตามที่แจ้งได้  จึงไม่อยากจะรับแจ้งข้อหา และมีกระบวนการยื่นคำร้องขอต่อศาลเพื่อให้เพิกถอนข้อหา ก่อการร้ายออกไป.....สำหรับเรื่องนี้

รู้ว่าใครเป็นใครในคดีอาญา

ประชาชนควรรู้ถึงสิทธิเสรีภาพ ที่ตนเองพึงได้รับจากรัฐ ซึ่งต้องช่วยกันส่งเสริมให้ประชาชนตระหนักถึงสิทธิและหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม วันนี้คิดว่าเรื่องเกี่ยวกับใครเป็นใครในคดีอาญาก็เป็นอีกหัวข้อหนึ่งสำหรับท่านที่ยังไม่รู้จะได้ทำความเข้าใจในเบื้องต้น 

การปฏิบัติตนในการดำเนินคดีอาญา

การดำเนินคดีอาญานั้น มีความมุ่งหมายที่จะพิสูจน์ให้เห็นว่าข้อ เท็จจริงที่เกิดขึ้น อันเกิดจากการกระทำความผิดทางอาญานั้นใครเป็น ผู้กระทำความผิด และผู้ที่ถูกกล่าวหานั้นเป็นผู้กระทำความผิดจริงหรือไม่ ซึ่งการพิสูจน์ข้อเท็จจริงนั้นจะต้องกระทำโดยศาลตามหลักในกฎหมายวิธี พิจารณาความอาญา

พยานไม่ไปให้ปากคำกับตำรวจได้หรือไม่

เรียนท่านอาจารย์ที่เคารพ หากเจ้าหน้าที่ตำรวจมีหนังสือเชิญพยานไปให้ปากคำ แต่พยานคนนั้นไม่ไปให้ปากคำและทำหน้ังสือแจ้งตอบตำรวจไปว่าจะไปให้การในชั้นศาลเลย ถามว่าพยานทำเช่นนี้ได้หรือไม่ และมีความผิดตามกฎหมายใดๆหรือไม่ ขอบพระคุณมากครับ  

การกลับคำให้การในชั้นสอบสวน ในชั้นศาล

ตาม ป.วิ อาญา มาตรา 84 (2) ผู้ถูกจับมีสิทธิที่จะไม่ให้การหรือให้การก็ได้ และถ้อยคำของผู้ถูกจับอาจใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีได้ คำรับสารภาพของผู้ถูกจับว่าตนได้กระทำความผิดในชั้นจับกุมห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐาน และผู้ต้องหาจะให้การใหม่หรือกลับคำให้การเมื่อใดก็ได้ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 40 (7) กำหนดให้โอกาสผู้ต้องหาในการต่อสู้คดีอย่างเพียงพอ แต่การกลับคำให้การจะต้องมีเหตุผลหรือหลักฐานสนับสนุนว่าเหตุใดจึงกลับคำให้การ หากให้การกลับไปกลับมาจะเป็นผลร้ายต่อผู้ต้องหามากกว่าผลดี ดังนั้นก่อนจะให้การต่อสู้คดีผู้ต้องหาควรจะปรึกษาหารือกับทนายความไว้ก่อน และสิ่งที่ตนเองกล่าวอ้างต้องไม่ใช่เรื่องเลื่อนลอย เพราะมิฉะนั้นแล้ว ศาลจะไม่รับฟังคำให้การ สิ่งที่ตัวเองกล่าวอ้างในการสู้คดีต้องสามารถหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้จึงจะชนะคดี

ผู้ต้องหามีสิทธิพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในชั้นสอบสวน

ใครที่ถูกกล่าวหาว่าทำผิดอาญา แต่ความจริงมิได้ทำผิด หรือมีเหตุผลโต้แย้งว่าที่ได้กระทำไปนั้นมีข้ออ้างตามกฎหมายแต่เดิมผู้ต้องหาถูกตำรวจจับและต่อสู้คดี ตำรวจมักไม่รับฟังเหตุผล พนักงานสอบสวนจะทำสำนวนฟังแต่เพียงผู้เสียหายฝ่ายเดียวแล้วตั้งข้อหาส่งฟ้อง ส่งสำนวนให้อัยการ อัยการสั่งฟ้องตามสำนวนพนักงานสอบสวน จำเลยต่อสู้ว่าไม่ผิด ก็ไปให้การกับศาลเอง

การขอ ip จากเว็บไซต์ ให้ตร.เอาหมายศาลมา

ผมคิดว่าเราไม่ควรตื่นตระหนกมากเกินไป และพยายามคิดว่ามันเป็นงานรูทีนของตำรวจ เพราะมันเริ่มจากมีคนร้องเรียน ict แล้ว ict ต้องมาแจ้งความที่ตำรวจ แล้วตำรวจก็ดำเนินการตามปรกติ-ธนาพล อิ๋วสกุล (ภาพ:เนชั่น)

หมายจับ : ออกอย่างไร ใช้อย่างไร ?

เรื่องหมายจับเป็นเรื่องที่สับสนกันมาก และมีปัญหาเป็นข่าวคราวอยู่บ่อย ๆ ว่าตำรวจออกหมายเรียก บางครั้งตำรวจก็ขอให้ศาลออกหมายจับ  ซึ่งศาลก็อนุมัติหมายจับบ้าง ไม่อนุมัติบ้าง  ถ้าจะถามว่าในเรื่องนี้มีเกณฑ์อย่างไร ก็ต้องดูตามตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 

เมื่อผิดสัญญาประกัน

ในกรณีที่ผู้ประกันไม่สามารถนำตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยมาให้ตำรวจ หรืออัยการ หรือศาล แล้วแต่กรณีตามกำหนดถือว่าผิดสัญญาประกัน ผู้ประกันย่อมต้องถูกปรับตามจำนวนที่ระบุไว้ในสัญญา ถ้าไม่ยอมชำระในกรณีที่

หลักเกณฑ์การพิจารณาสั่งคำขอประกัน

การขออนุญาตให้ประกันหรือไม่ ต้องคำนึงถึงเรื่องต่อไปนี้คือ

การยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวหรือประกันตัวจะยื่นที่ไหน

๑. หากผู้ต้องหายังถูกควบคุมตัวอยู่ที่สถานีตำรวจก็ให้ยื่นต่อตำรวจที่สอบสวนคดีนั้น ๆ

ผู้ถูกกล่าวหาในคดีอาญา

  ผู้ถูกกล่าวหาว่าได้กระทำผิด มีอยู่ ๒ ฐานะ คือ ฐานะผู้ต้องหา โดยถูกหาว่าได้ทำผิดแต่ยังไม่ได้ถูกฟ้องต่อศาล กับฐานะจำเลย คือ ผู้ถูกกล่าวหาว่าได้ทำผิดอาญาซึ๋งได้ถูกฟ้องศาลแล้ว

สิทธิของผู้เสียหาย

เมื่อมีความผิดอาญาขึ้น ผู้ที่มีอำนาจฟ้องคดีอาญาต่อศาล คือ

ใช้สลากออมสินประกันตัว

ดิฉันได้ประกันตัวที่โรงพักไว้ประมาณ 4 เดือน ใช้สลากออมสินเป็นหลักทรัพย์ จนเมื่อวันที่ 29 พ.ย.ที่ผ่านมา ร้อยเวรให้ถอนประกัน และไปศาลเพื่อส่งเรื่องให้อัยการ ปรากฎว่าอัยการไม่รับสำนวนค่ะ แล้วอัยการก็บอกว่า ให้เอาสลากออมสินไปสั่งอายัดก่อน ถึงจะประกันได้ 

สิทธิของจำเลย เมื่อถูกฟ้องต่อศาล

"จำเลย"  หมายความว่า บุคคลที่ถูกฟ้องยังศาล โดยหาว่าได้ทำความผิดอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมา ดังนั้น
ก่อนที่จะเป็นจำเลยได้ ก็ต้องผ่านการเป็นผู้ต้องหามาก่อนแทบทั้งสิ้น  โดยสามารถอธิบายลำดับขั้นตอนได้ว่า เริ่มมา

การถอนแจ้งประกันตัว

มาแจ้งความคืบหน้า แบบไม่คืบหน้า จากที่หมวดเจ้าของเรื่อง บอกว่าจะนัดประมาณกลางเดือนนี้ (กันยายน)
ตอนนี้ วันนี้ คือวันที่ 29 กันยายนแล้ว  ยังไม่มีเสียงใดๆจากคุณหมวดเลย 

สิทธิ เสรีภาพ และหน้าที่ของประชาชนชาวไทย

สิทธิ เสรีภาพ และหน้าที่ของประชาชนชาวไทยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
พุทธศักราช 2540

ตร.จะจับใครไปโรงพักมั่วไม่ได้

ตร.จะจับใครไปโรงพักมั่วไม่ได้ครับ
 เรื่องเสร็จที่ ๔๕๒/๒๕๔๖
***นานแล้วก่อนที่จะยกเลิก ม.78 - 4 ที่ว่า แจ้งความแล้วชี้ให้จับได้เสียอีก***
บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา