ผู้ต้องหามีสิทธิพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในชั้นสอบสวน

ใครที่ถูกกล่าวหาว่าทำผิดอาญา แต่ความจริงมิได้ทำผิด หรือมีเหตุผลโต้แย้งว่าที่ได้กระทำไปนั้นมีข้ออ้างตามกฎหมายแต่เดิมผู้ต้องหาถูกตำรวจจับและต่อสู้คดี ตำรวจมักไม่รับฟังเหตุผล พนักงานสอบสวนจะทำสำนวนฟังแต่เพียงผู้เสียหายฝ่ายเดียวแล้วตั้งข้อหาส่งฟ้อง ส่งสำนวนให้อัยการ อัยการสั่งฟ้องตามสำนวนพนักงานสอบสวน จำเลยต่อสู้ว่าไม่ผิด ก็ไปให้การกับศาลเอง

การที่พนักงานสอบสวนไม่ฟังเหตุผล และอัยการสั่งฟ้องคดี นักกฎหมายบางท่านบอกว่า เป็นการเอาเปรียบผู้ต้องหาหรือจำเลย เพราะไปยึดมั่นระบบกล่าวหามากเกินไป โดยเฉพาะการบรรยายฟ้องข้อหาหนักไว้ก่อน ถือเป็นผลร้ายต่อจำเลย ส่วนผลดีของจำเลยไม่ยอมบรรยาย ปล่อยให้จำเลยพิสูจน์ในชั้นศาลเอง

เช่น รถชนกันมีคนตาย แต่เหตุที่รถชน เพราะคนตายเมาแล้วขับข้ามเลนไปในทางรถสวน ซึ่งรถที่วิ่งสวนมา ได้ใช้ความระวังเต็มที่แล้ว หักหลบแล้วแต่คนตายขับชนจนตัวเองถึงแก่ความตาย เหตุผลของคนขับเป็นข้อต่อสู้เพื่อพิสูจน์ว่ามิได้กระทำความผิดพนักงานสอบสวนไม่สอบสวนไว้หรือสอบสวนไว้ แต่พนักงานอัยการไม่หยิบไปบรรยายในการฟ้อง และฟ้องว่าจำเลยขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้คนตาย จำเลยได้รับผลร้ายจากการที่ตำรวจและอัยการไม่รับฟังข้อต่อสู้คดีของจำเลยตั้งแต่ชั้นสอบสวนและชั้นอัยการ ถ้าสำนวนมีบันทึกไว้ แต่เวลาส่งฟ้องศาล สำนวนการสอบสวนของผู้ต้องหาที่มีข้อต่อสู้ ไม่ถูกส่งไปยังศาลเพื่อพิจารณา ผลร้ายคือจำเลยถูกพิพากษาจำคุกได้

ปัจจุบันยังคงมีการทำสำนวนแบบนี้ ทั้งที่ผู้ต้องหามีสิทธิที่จะร้องขอให้พนักงานสอบสวนไต่สวนข้อต่อสู้ได้ และพนักงานสอบสวนต้องทำ ซึ่งกฎหมายเขียนไว้ชัดเจนเพื่อให้ความเป็นธรรมกับผู้เสียหายและผู้ต้องหา ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ที่แก้ไขใหม่ตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 22) พ.ศ. 2547 ประกาศเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2547

มาตรา 131 ให้พนักงานสอบสวนรวบรวมหลักฐานทุกชนิด เท่าที่สามารถจะทำได้ เพื่อประสงค์จะทราบข้อเท็จจริงและพฤติกรรมต่างๆ อันเกี่ยวกับความผิดที่ถูกกล่าวหาเพื่อจะรู้ตัวผู้กระทำผิดและพิสูจน์ให้เห็นความผิด หรือความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหา
คดีอาญาที่ผู้ต้องหากล่าวหาว่ากระทำความผิดและมีข้อต่อสู้ ดังนี้

1. อ้างว่ามิได้กระทำผิด มีพยานรู้เห็น

2. อ้างว่าไม่รู้ว่ามีกฎหมายบัญญัติว่าการกระทำนั้นเป็นความผิด และสามารถพิสูจน์ได้ ตามกฎหมายอาญา มาตรา 64

3. อ้างว่าได้กระทำไปโดยขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบหรือไม่สามารถบังคับตนเองได้ เพราะมีจิตบกพร่อง โรคจิต หรือจิตฟั่นเฟือน ถ้าพิสูจน์ได้ไม่ต้องยอมรับผิด ตามกฎหมายอาญา มาตราที่ 65

4. อ้างว่าได้กระทำไปเพราะความมึนเมาโดยผู้เสพไม่รู้ว่าเป็นสิ่งมึนเมา หรือถูกบังคับให้เสพของมึนเมาแล้วบังคับให้ทำผิด ในขณะที่ไม่รู้ตัว บังคับตัวเองไม่ได้จะได้รับการยกเว้นโทษ ตามกฎมายอาญา มาตรา 66

5. อ้างว่ากระทำผิดเพราะความจำเป็น ตกอยู่ในที่บังคับหรือตกอยู่ภายใต้อำนาจที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนได้

6. อ้างว่ากระทำผิดเพื่อให้ตนเองหรือคนอื่นพ้นอันตรายที่ใกล้ถึงตัวและไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ โดยที่ผู้กระทำมิได้เป็นคนก่อให้เกิดความผิดด้วยตนเอง ถ้าทำไปไม่เกิดสมควรแก่เหตุไม่ต้องรับโทษ ตามกฎหมายอาญา มาตรา 67

7. อ้างว่ากระทำไปเพราะบันดาลโทสะเพราะถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุไม่เป็นธรรม จึงตอบโต้ไปทันที ศาลจะลงโทษน้อยกว่ากฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได ตามกฎหมายอาญามาตรา 73

8. อ้างว่ากระทำผิดแต่บรรเทาผลร้ายแล้ว เช่น นำคนเจ็บส่งโรงพยาบาล ชดใช้ค่ารักษาพยาบาล ให้ค่าสินไหมทดแทนพอสมควร ตามกฎหมายอาญา มาตรา 72

ผู้ต้องหามีสิทธิยกข้อต่อสู้เพื่อพิสูจน์ได้ พนักงานสอบสวนจะต้องไต่สวนและบันทึกข้อต่อสู้ผู้ต้องหาไว้ถ้าพนักงานสอบสวนสรุปส่งฟ้อง อัยการก็ต้องหยิบยกเอาข้อต่อสู้นี้พิจารณาการเขียนฟ้อง นโยบายของสำนักงานอัยการคือ พนักงานอัยการต้องบรรยายฟ้องข้อต่อสู้ และหรือเหตุบรรเทาโทษของจำเลยไปด้วยเพื่อให้ศาลทราบ ซึ่งถือเป็นหน้าที่สำคัญของนักกฎหมายที่จะต้องวางตัวเป็นกลางและให้จำเลยได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายที่เท่าเทียมกัน

จากนี้ไป ผู้ต้องหารายใดที่มีข้อต่อสู้ และพนักงานสอบสวนไม่รับฟัง ท่านสามารถอ้างมาตรา 131 ได้เพื่อให้พนักงานสอบสวนบันทึกไว้ถ้าพนักงานสอบสวนไม่บันทึกให้ผู้ต้องหา หรือญาติ หรือพยาน ร้องเรียนไปยังผู้บังคับบัญชาที่สูงกว่า การร้องเรียนทำเป็นหนังสือและเก็บสำเนาไว้ สำเนานี้สามารถนำไปใช้ในชั้นศาลได้.

รศ.พิศิษฐ์ ชวาลาธวัช
จาก ห้องสมุด E-LIB