แจ้งข้อหาหนักๆ พนักงานสอบสวน ต้องรับผิดฐานหมิ่นประมาทหรือไม่

แกนนำพันธมิตร ยื่นฟ้องคดีอาญากับ หัวหน้าพนักงานสอบสวนท่านหนึ่ง โดยกล่าวหาว่า หมิ่นประมาท กรณีการแจ้งข้อหาก่อการร้ายซึ่ง แกนนำพันธมิตรคิดว่า มันหนักหนาสาหัสสากรรจ์ อาจติดคุกตามที่แจ้งได้  จึงไม่อยากจะรับแจ้งข้อหา และมีกระบวนการยื่นคำร้องขอต่อศาลเพื่อให้เพิกถอนข้อหา ก่อการร้ายออกไป.....สำหรับเรื่องนี้

หากจะย้อนเวลาหาอดีตกันสักหน่อย ก็คือ เมื่อครั้งพันธมิตรบุกเข้าไปยึดทำเนียบรัฐบาลนั่นแหละครับ คราวนั้น มีการยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนหมายจับข้อหาก่อการร้ายได้ผลสำเร็จ คงเหลือข้อหาปลีกย่อย ขณะนี้คดีก็ยังไม่แล้วเสร็จ
            
 “..........ศาลอุทธรณ์ พิพากษาเพิกถอนหมายจับ “ 9 พันธมิตร ฯ” ข้อกบฏ – สะสมกำลังพลและอาวุธ ป.อาญา มาตรา 113 , 114 , 216 ชี้ การตั้งข้อหายังเลื่อนลอย  แต่ข้อหา ยุยงให้ประชาชนกระด้างกระเดื่องจนเกิดความไม่สงบ -มั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้าย ยังมีเหตุออกหมายจับได้ สั่งออกหมายจับใหม่เฉพาะ 2 ข้อหา ขณะที่ทนาย ใช้ตำแหน่ง ส.ว. นายอโนทัย  ฤทธิปัญญาวงศ์ ยื่นประกัน “ มหาจำลอง – ไชยวัฒน์ ” ศาลอนุญาตตีหลักประกันคนละแสน........”
          
นี่คือ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ที่คุ้มครองกลุ่มแกนนำพันธมิตร ด้วยเหตุผลที่ว่า.....ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 32 วรรคสาม บัญญัติว่า การจับกุมและการคุมขังบุคคลจะกระทำไม่ได้เว้นแต่จะมีคำสั่งหรือหมายของศาล หรือมีเหตุอย่างอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ และตามประมวลกฎหมายวิธีความอาญา มาตรา 57 บัญญัติว่า ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติ มาตรา  78 , 79 , 80 , 92 และ  มาตรา 94 แห่งประมวลกฎหมายนี้ จะจับ ขัง จำคุก หรือค้นในที่รโหฐานหาตัวคนหรือสิ่งของ ต้องมีหมายอาญาสำหรับการนั้น การที่บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญให้อำนาจศาลเป็นผู้พิจารณาออกหมายจับ ก็เพื่อให้ศาลกลั่นกรองความถูกต้องไม่ให้เจ้าพนักงานออกหมายจับประชาชนได้เองโดยง่าย ถือเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพส่วนบุคคลของประชาชน การที่ศาลจะออกหมายจับผู้ใดหรือไม่
         
จึงต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบและไม่จำเป็นต้องยึดถือเอาความเห็นของพนักงานสอบสวนผู้ขออกหมายจับเป็นหลัก  ทั้งนี้เพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพส่วนบุคคลของประชาชนตามเจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญในการพิจารณาออกหมายจับดังกล่าว แม้ประมวลวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 66 บัญญัติว่า เหตุที่จะออกหมายจับได้มีดังต่อไปนี้ (1) เมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลน่าจะได้กระทำความผิดอาญาซึ่งมีโทษจำคุกเกิน 3 ปี หรือ ( 2 ) เมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลใดน่าจะได้กระทำความผิดอาญาและมีเหตุอันควรเชื่อว่าจะหลบหนี หรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือก่อเหตุอันตรายประการอื่น แต่ก็ไม่มีบทบังคับว่าเมื่อมีเหตุออกหมายจับตามที่กฎหมายบัญญัติไว้แล้วซึ่งในการพิจารณาออกหมายจับบุคคลใดหรือไม่
             
ในเบื้องต้นต้องพิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้องว่ามีรายละเอียดแห่งการกระทำความผิดที่จะพอรับฟังได้พอสังเขปว่าน่าจะมีการกระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหาหรือไม่ ถ้าข้อเท็จจริงตามคำร้องขอออกหมายจับไม่เข้าข่าย หรือไม่น่าจะมีการกระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหา ก็ไม่มีเหตุที่จะไต่สวนคำร้องเพื่อออกหมายจับ ศาลสามารถยกคำร้องขอได้โดยไม่ต้องไต่สวน””””””แม้การกระทำดังกล่าวอาจเป็นความผิดต่อกฎหมาย และพนักงานสอบสวนตั้งข้อกล่าวหาว่าผู้ต้องหาทั้งเก้า กระทำผิดฐานเป็นกบฏ แต่ยังไม่มีเหตุอันควรที่จะออกหมายจับผู้ต้องหาทั้งเก้าในความผิดดังกล่าวเพราะเป็นการตั้งข้อกล่าวหาที่ค่อนข้างจะเลื่อนลอย  ส่วนข้อหาที่เมื่อเจ้าหน้าที่สั่งผู้ที่มั่วสุมเพื่อกระทำความผิดตาม มาตรา 215 ให้เลิกแล้วไม่เลิก อันเป็นความผิดตาม มาตรา  216 ตามที่พนักงานสอบสวน ผู้ร้องประสงค์ให้ออกหมายจับนั้นก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงจากคำร้องขอออกหมายจับว่า มีเจ้าพนักงานผู้ใดสั่งให้ผู้ต้องหาทั้งเก้าเลิกกระทำความผิดดังกล่าวตามมาตรา 215 แล้วผู้ต้องหาทั้งเก้าแล้วไม่เลิก
         
จึงไม่มีเหตุอันควรที่จะออกหมายจับผู้ต้องหาทั้งเก้าในความผิด มาตรา 216 เช่นเดียวกัน และเมื่อไม่มีเหตุอันควรที่จะออกหมายจับผู้ต้องหาทั้งเก้าในความผิดฐานเป็นกบฏแล้ว จึงไม่สมควรออกหมายจับผู้ต้องหาทั้งเก้าในข้อหาสะสมกำลังพล หรืออาวุธ ตระเตรียมการอื่นใด หรือสมคบกันเพื่อเป็นกบฏด้วย”””””
            
เมื่อศาลถอนหมายจับข้อหาใหญ่ๆ ออกแล้ว (หรือแม้กระทั่งพิพากษายกฟ้องในชั้นพิจารณาคดีก็ดี)  การจะนำผลแห่งคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ มาเป็นหลักเพื่อฟ้อง คณะพนักงานสอบสวน ว่า กลั่นแกล้งแจ้งข้อหาให้หนัก เพื่อมีเจตนาให้ได้รับโทษหนักขึ้นนั้น จะสามารถกระทำได้หรือไม่เพียงไร......มีประเด็นน่าสนใจควรศึกษาวิเคราะห์ต่อครับ ต้องตั้งต้นด้วยองค์ประกอบความผิดฐานหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา  เสียก่อนว่า มีหลัก และ ข้อยกเว้นอย่างไรบ้าง
         
 มาตรา 326 บัญญัติว่า   “ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สามโดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือ ถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับมาตรา 328 บัญญัติว่า “ถ้าความผิดฐานหมิ่นประมาทได้กระทำโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร
ภาพวาด ภาพระบายสี ภาพยนตร์ ภาพหรือตัวอักษรที่ทำให้ปรากฏไม่ว่าโดยวิธีใดๆ แผ่นเสียง หรือสิ่งบันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือบันทึกอักษร กระทำโดยกระจายเสียง หรือการกระจายภาพ หรือกระทำการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่น ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน  2 ปี และปรับไม่เกิน  200,000 บาท” เหตุยกเว้นความผิดตามมาตรา 329 บัญญัติว่า  “ผู้ใดแสดงความคิดเห็นหรือข้อความใดโดยสุจริต
         
1.เพื่อความชอบธรรมป้องกันตนเองหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม หรือ 2.ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติตามหน้าที่ หรือ  3.ติชมด้วยความเป็นธรรมซึ่งบุคคล หรือ สิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ หรือ 4.ในการแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรมเรื่องการดำเนินการอันเปิดเผยในศาล หรือ ในการประชุม ผู้นั้นไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท
กฎหมายอาญามาตรา 330 บัญญัติว่า “ในกรณีหมิ่นประมาท ถ้าผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด
          
พิสูจน์ได้ว่าข้อหาที่ว่าเป็นหมิ่นประมาทนั้นเป็นความจริง  ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ แต่ห้ามไม่ให้พิสูจน์ ถ้าข้อหาที่ว่าเป็นหมิ่นประมาทนั้นเป็นการใส่ความในเรื่องส่วนตัวและการพิสูจน์จะไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน”   ดังนั้น ถ้าผู้กระทำผิดพิสูจน์ได้ว่าเรื่องราวที่กล่าวมาแล้วเป็นความจริงผู้นั้นมีความผิดแต่ไม่ต้องรับโทษ แต่ก็มีข้อห้ามอีกว่าห้ามพิสูจน์หากข้อความที่ถูกหาว่าเป็นการหมิ่นประมาท นั้น เป็นการใส่ความเรื่องส่วนตัวและการพิสูจน์ไม่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนเช่นนี้ไม่ต้องพิสูจน์ถึงแม้จะเป็นเรื่องจริงก็ตาม เพราะถึงมีการพิสูจน์ออกมาว่าเป็นเรื่องจริงก็เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทอยู่ดี
           
มาถึงการวิเคราะห์ว่า ในการตั้งข้อหา เพื่อกล่าวหากลุ่มผู้กระทำผิดว่า จะผิดฐานใด ข้อหาหนัก หรือ เบา ล้วนแล้วแต่เป็นการดุลพินิจที่ต้องอาศัยข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ปรับเข้ากับข้อกฎหมาย ว่า เข้าข้อกฎหมายใด จากนั้นก็ต้องออกหมายเรียกผู้ต้องหาให้มารับทราบข้อกล่าวหา หากไม่มีพบตามกำหนด ก็จะมีกระบวนยื่นคำร้องขอต่อศาลเพื่อขอหมายจับตามข้อหาที่ตั้งไว้นั้น ต่อไป.....ประเด็นสำคัญอยู่ที่ มีพยานหลักฐานใดบ้างที่ พนักงานสอบสวนสามารถนำมาวิเคราะห์ว่า ใครจะผิดฐานก่อการร้ายซึ่งเป็นข้อหาหนัก รับโทษหนัก ต้องใช้หลักทรัพย์ในการประกันตัวจำนวนมากขึ้นตามอัตราโทษ ผู้ที่จะถูกแจ้งข้อหานี้ก็จะเอะอะโวยวาย ว่าถูกกลั่นแกล้ง จองเวร จองล้าง จองผลาญได้เหมือนกัน หากว่า ตามพฤติการณ์แล้ว ไม่ถึงกับเป็นการก่อการร้าย เรียกว่าการกระทำไม่เข้าองค์ประกอบความผิดฐานก่อการร้ายนั่นแหละ และกว่าจะได้รับการพิสูจน์ บางครั้งต้องสู้กันถึง  3  ศาลกันทีเดียว นับว่าเสียเวลาเกือบ 10  ปี ก็มี ทำให้เสียความรู้สึก เสียเวลา เสียเงินเสียทองจำนวนไม่น้อย สร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้ต้องหา หรือ จำเลย มากที่สุด....ข้อควรระมัดระวังในการใช้ดุลพินิจในการแจ้งข้อหานี้ ต้องเป็นดุลพินิจโดยสุจริต ถูกต้อง เป็นธรรม เป็นที่ยอมรับได้ของวิญญูชน และวงการยุติธรรมทั่วไป ไม่ใช่การดุลพินิจตามอำเภอใจ ซึ่งศาลสามารถก้าวล่วงเข้ามาตรวจสอบเพื่อเปลี่ยนแปลง กลับแก้ เพิกถอน และพิพากษาลงโทษพนักงานสอบสวนที่ใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจได้ด้วย...เพราะฉะนั้น คำว่า การแจ้งข้อหาค่อนข้างเลื่อนลอย ก็สุ่มเสี่ยงต่อการใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจ อาจส่งผลต้องรับผิดเรื่องหมิ่นประมาทได้เหมือนกัน......
          
สรุปว่า หาก พนักงานสอบสวน ใช้ดุลพินิจสุจริต ก็จะได้รับคุ้มกันในฐานะเป็นเจ้าพนักงานสอบสวนปฏิบัติราชการตามหน้าที่ เพราะจะมีอัยการช่วยกลั่นกรองการใช้ดุลพินิจนี้เพื่อสั่งฟ้อง หรือ ไม่ฟ้อง ได้ด้วย ตลอดจนเมื่อขึ้นศาลๆ ก็จะใช้ดุลพินิจกลั่นกรองชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานต่างๆ ให้เป็นธรรม ในขั้นตอนสุดท้าย
         
ในมุมมองของผู้ฟ้องคดี ก็คือ กลุ่มแกนนำพันธมิตร ก็จะต้องนำเสนอคำฟ้องว่า พฤติการณ์อย่างไรบ้าง ที่ พนักงานสอบสวน คนใดใช้ดุลพินิจเลื่อนลอย ตามอำเภอใจ  มีเจตนากลั่นแกล้ง ต้องการแจ้งข้อหาให้หนักๆ เพราะเกิดความแค้นก็ดี  มีอคติไม่ดีก็ดี หรือ ด้วยความสะใจอะไรต่างๆ ก็ดี ไม่ต้องการให้ได้ประกันตัวง่ายๆ  ต้องการให้เดือดร้อน ต้องใช้หลักประกันตัวสูงๆ ยากๆ เข้าไว้ ต้องการให้นอนห้องขังในสถานีตำรวจ ในศาล ในห้วงระยะเวลาใดเวลาหนึ่งเสียบ้าง เป็นต้น.......
          
สิ่งต่างๆ เหล่านี้ ล้วนเป็นแนวคิดในการใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจ ที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ชีวิต ร่างกาย ชื่อเสียง เสรีภาพของผู้ต้องหา หรือ จำเลย ได้ทั้งสิ้น ผลก็คือ พนักงานสอบสวนอาจถูกฟ้องร้องเป็นคดีแพ่ง คดีอาญาได้ ถูกร้องเรียนไปยัง ปปช. หรือ ปปท.ให้ไต่สวนหามูลความผิดเกี่ยวกับปฏิบัติราชการมิชอบได้เหมือนกัน.....ก็ต้องติดตามเรื่องการฟ้องร้องกันต่อไปครับ ฉบับนี้ หมิ่นเหม่ต่อการบ้านการเมืองสักหน่อย แต่ก็อยากจะนำเสนอให้เห็นแง่มุมบางประการตามที่เป็นกระแสฮ๊อตๆ ในช่วงนี้ ฉบับหน้าพบกันใหม่กับ รู้ทันกฎหมาย...สวัสดีครับ....