แจ้งข้อหาพนักงานสอบสวน เรียก ผู้ต้องหา ผู้ถูกกล่าวหา

ปัญหาการออกหมายเรียกผู้ต้องหาของพนักงานสอบสวน
: ว่าด้วยอำนาจ, ความชอบธรรมและความเหมาะสม

                     ร.ต.อ.เทิดสยาม  บุญยะเสนา

   ปัญหาเกี่ยวกับงานสอบสวนนั้นอาจกล่าวได้ว่ามีมากมายมหาศาล  เจ้าหน้าที่ตำรวจโดยทั่วไปนั้นหากเลือกให้ปฏิบัติงานในสายงานอื่นก็อยากที่จะออกไปปฏิบัติสายงานอื่นมากกว่า  เนื่องจากได้ทำงานเป็นเวลา, กฎหมายและระเบียบไม่ได้เคร่งครัดมากมายเหมือนการเป็นพนักงานสอบสวน  และการทำงานสอบสวนมักจะถูกตำหนิตลอดเวลาว่าเป็น  “หนังหน้าไฟ”  และมักมีผู้แสดงความคิดเห็นตลอดเวลาว่าต้องเป็นอย่างนั้น  ต้องเป็นอย่างนี้  แต่แม้เจ้าหน้าที่ตำรวจให้มาทำหน้าที่สอบสวนเอง  ก็มีน้อยคนนักที่จะรักปฏิบัติหน้าที่สอบสวน  เพราะมีข้อจำกัดทั้งทางด้านการบริหารและหน้าที่ตามกฎหมายให้ปฏิบัติเป็นอย่างมาก   ซึ่งผู้เขียนตั้งใจเขียนงานนี้ด้วยความเป็นกลางและหวังว่าผู้สนใจจะสนใจความคิดเห็นของผู้ปฏิบัติงานโดยตรงบ้าง  มิได้มุ่งตำหนิผู้ปฏิบัติงานสอบสวนเนื่องจากเข้าใจดีว่าการปฏิบัติงานสอบสวนท่ามกลางความขัดแย้งนั้นเป็นไปด้วยความยากลำบาก  และมิได้มีความคิดเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง  ซึ่งแม้ปัจจุบันความเป็นกลางจะถูกกลืนกินจนจุดยืนที่ต้องการความเป็นกลางนั้น  ถูกตั้งข้อสงสัยและในบางกรณีถูกตั้งข้อกล่าวหาว่าอยู่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง  แต่ผู้เขียนต้องการหาทางออกในปัญหาที่เกิดขึ้น  ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นสามารถหาทางออกได้ในกรณีใดบ้าง  เพราะความขัดแย้งในทางกฎหมายแล้วย่อมสามารถหาทางออกได้  ดังคำกล่าวที่ว่า “ความขัดแย้งคือความยุติธรรม” (Justice is conflict)  แต่ทุกฝ่ายต้องเปิดใจและร่วมมือกันหาทางแก้ไขให้ปัญหาต่างๆ ลุล่วงไปด้วยดี   ซึ่งในเรื่องดังกล่าวนั้นปัญหาที่สำคัญที่สุดของการออกหมายเรียกผู้ต้องหาของพนักงานสอบสวน  อาจถือได้ว่าเป็นปัญหาพื้นฐานสำคัญของการใช้กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่ดี ซึ่งจะต้องพยายามรักษาสมดุล (Balance) ระหว่าง  อำนาจรัฐในการนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ และหลักประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน  จะต้องไม่โน้มเอียงไปทางใดทางหนึ่งมากนัก  หากคำนึงถึงแต่ความคล่องตัวในการนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษมากเกินไป  ประชาชนก็อาจได้รับความเดือดร้อน  เพราะเจ้าหน้าที่ของรัฐมีอำนาจอย่างกว้างขวางในการจับ การค้น การสอบสวน  การควบคุมตัว  ฯลฯ  ในทำนองเดียวกัน  หากมุ่งจะคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากเกินไป  โดยเกรงว่าประชาชนจะได้รับความเดือดร้อนรำคาญจากการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ของรัฐ  ผู้กระทำความผิดก็อาจพ้นจากการถูกนำตัวมาลงโทษอันจะส่งผลเสียหายต่อสังคม (เกียรติขจร  วัจนะสวัสดิ์, คำอธิบายหลักกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา, พิมพ์ครั้งที่  6  (กรุงเทพมหานคร: ห้างหุ้นส่วนจำกัดจิรรัชการพิมพ์, 2551), น.1-2.; Edward Eldefonso and Alan R. Coffey, Criminal Law: History, Philosophy, Enforcement (New York: Harper&Row, 1981), p.13.)

1.หมายเรียกผู้ต้องหาและปัญหาที่เกิดขึ้นในคดีหมิ่นประมาท
กฎหมายไม่ได้ให้คำนิยามคำว่า  “หมายเรียก” ไว้  แต่พออนุมานจากบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องได้ว่า หมายถึง  “หนังสือที่บงการซึ่งออกโดยพนักงานสอบสวน  พนักงานฝ่ายปกครอง  หรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่  หรือศาลสั่งให้บุคคลที่ถูกระบุไว้ในหมายนั้นมายังผู้ออกหมายเรียกเพื่อการสอบสวน  ไต่สวนมูลฟ้องหรือการพิจารณา หรือเพื่อการอันใดตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาอาญา”  ผู้มีอำนาจออกหมายเรียกนั้นได้แก่  ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  มาตรา  52   กำหนดไว้   3  ประเภท  กล่าวคือ.  – (1)  พนักงานสอบสวน  , (2)  พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่, (3)  ศาล   ส่วนกิจการที่จะออกหมายเรียกมี  4  เรื่องดังนี้คือ. -  (1)  การสอบสวน, (2) การไต่สวนมูลฟ้อง, (3) การพิจารณา และ  (4)  กิจการอย่างอื่น  เช่น  กรณีศาลเรียกเจ้าพนักงานที่ถูกอ้างว่าควบคุมบุคคลโดยผิดกฎหมายตามมาตรา  90  มาสอบถาม  เป็นต้น    และบุคคลที่อาจถูกออกหมายเรียก  ชั้นสอบสวน  ได้แก่ พยาน, ผู้ต้องหาหรือบุคคลที่มีเอกสารหรือวัตถุในความครอบครองที่อาจเป็นประโยชน์ต่อการสอบสวน(ณรงค์  ใจหาญ, หลักกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  เล่ม 1,  พิมพ์ครั้งที่  9  (กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์วิญญูชน, 2550), น.187 -188.) 
 
ถ้าพนักงานสอบสวน  หรือพนักงานฝ่ายปกครอง  หรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ไปทำการสอบสวนด้วยตนเอง  สามารถเรียกผู้ต้องหาหรือพยานได้โดยไม่ต้องมีหมายเรียก  และบุคคลที่ขัดขืนหมายเรียก  ย่อมมีความผิดฐานขัดคำสั่งเจ้าพนักงานตาม ป. อาญา  มาตรา  168, 169  หรือ  170  แล้วแต่กรณี     (   ฎีกาที่  1783/2493   วินิจฉัยว่า   พยานที่ขัดขืนไม่ปฏิบัติตามหมายเรียกของพนักงานสอบสวนที่ให้มาเพื่อสอบปากคำมีความผิดฐานขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน  ตามกฎหมายลักษณะอาญามาตรา  334  (2)  ( คือ  ป. อาญา  มาตรา  168  ปัจจุบัน) (ฎน.1732))   แต่ในกรณีที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มาไม่ผิดอาญา  แต่เป็นเหตุให้ออกหมายจับตาม ป.วิ.อาญา  มาตรา  66  วรรคสอง  (ฎีกาที่  1341/2509 ( ประชุมใหญ่)  วินิจฉัยว่า  กรณีผู้ต้องหาขัดขืนไม่มาตามคำให้การตามหมายเรียกโดยไม่มีข้อแก้ตัวอันควรนั้น  ป.วิ.อาญา   มาตรา  66 (3)  บัญญัติทางแก้ไขไว้โดยพนักงานสอบสวนมีหมายจับตัวมาได้เป็นบทลงโทษอยู่แล้ว     จึงเห็นได้ว่า  เจตนารมณ์ของ  ป. อาญา  มาตรา  168  หาได้มุ่งหมายจะใช้กับผู้ต้องหาที่ขัดขืนไม่มาให้การกับพนักงานสอบสวนตามหมายเรียกอีกด้วยไม่   (ฏน.2923) (สุรศักดิ์  ลิขสิทธิ์วัฒนกุล, ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาฉบับอ้างอิง ตัวบท  คำอธิบายย่อและเอกสารอ้างอิงเรียงมาตรา.  พิมพ์ครั้งที่ 6 (กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2550)  น. 120 – 121.)
ปัญหาที่เกิดขึ้นในคดีหมิ่นประมาทคือ  ในคดีหมิ่นประมาทโดยการโฆษณานั้น ส่วนใหญ่แล้วที่เกิดเหตุจะมีหลายสถานที่เนื่องจากเทคโนโลยีในปัจจุบัน  หากเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสังคมหรือมีการสัมภาษณ์บุคคลสำคัญๆ  ก็จะทำให้การแพร่ภาพหรือข้อความที่อาจจะถือว่าเป็นข้อความหมิ่นประมาทไปทั่วประเทศ  โดยท่านอาจารย์ ดร.คณิต  ณ  นคร ได้ตั้งคำถามถึงความชอบธรรมว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติหรือพนักงานสอบสวนอาจตกเป็นเครื่องมือของผู้เสียหายได้  ในกรณีที่มีผู้เสียหายไปแจ้งความไปแจ้งความยังสถานที่ไกลๆ  ในท้องที่อื่นนอกจากท้องที่ที่ไกลๆ  ซึ่งถือว่าทำให้ผู้ต้องหาได้รับความลำบากและดูเหมือนเป็นการกลั่นแกล้งกัน  (คณิต  ณ นคร, “เมื่ออำนาจรัฐตกเป็นเครื่องมือของผู้เสียหายในคดีความผิดฐานหมิ่นประมาท (2)” มติชนสุดสัปดาห์, เล่ม 1455, ปีที่   28 (ฉบับวันที่ 4 – 10  กรกฎาคม  2551), น.32.)
      การกระทำดังกล่าวของผู้เสียหาย  จึงมีลักษณะ  “ความผิดกรรมเดียวพาเที่ยวได้ทั่วไทย”   ยิ่งความผิดฐานหมิ่นประมาทนั้น  ส่วนใหญ่ถ้าเจตนาของผู้กล่าวไม่ได้กล่าวอย่างร้ายแรงและสร้างความเสียหาย  ส่วนใหญ่ศาลก็อาจจะใช้ดุลยพินิจลงโทษในสถานเบา  เช่นการรอลงอาญาหรือการปรับเพียงเล็กน้อย  ซึ่งอาจจะน้อยกว่าค่าเดินทางของผู้ต้องหาไปรับทราบข้อกล่าวหา  ซึ่งยังไม่คำนึงถึงเรื่องว่าผู้ต้องหาอาจไม่มีความผิดเมื่อกล่าวเพื่อความชอบธรรม  ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามธรรมนองคลองธรรม, ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติการตามหน้าที่, ติชมด้วยความเป็นธรรม  ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ หรือในการแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรมเรื่องการอันเปิดเผยในศาลหรือในการประชุม (ประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  329)   ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวสำนักงานตำรวจแห่งชาติ  ก็ได้มีระเบียบในลักษณะเดียวกันกับของอัยการ  ซึ่งปรากฏตามระเบียบการตำรวจเกี่ยวกับคดี  ลักษณะที่   8  บทที่  2  (1/33)  เรื่องการสอบสวนคดีความผิดฐานหมิ่นประมาท  ในกรณีความผิดกรรมเดียวกระทำลงในหลายท้องที่  และตามระเบียบกรมตำรวจว่าด้วยอำนาจการสอบสวนคดีความผิดฐานหมิ่นประมาทในกรณีความผิดกรรมเดียวกระทำลงในหลายท้องที่  พ.ศ.2533  ลงวันที่  5 กุมภาพันธ์  พ.ศ.2533
(กองวิชาการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, ประมวลระเบียบการตำรวจเกี่ยวกับคดีฉบับสมบูรณ์ (กรุงเทพมหานคร: บริษัทวิศิษฎ์สรอรรถจำกัด (ฝ่ายการพิมพ์), 2545), น. 244-245.)  ซึ่งวางหลักไว้ว่า

“ข้อ  227  (1)  ด้วยกรมตำรวจได้พิจารณาเห็นว่า  คดีความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายมาตรา  326 , มาตรา  327 และมาตรา  328  อันเป็นความผิดกรรมเดียว  แต่ผู้ต้องหาได้กระทำลงในหลายท้องที่ผู้เสียหายอาจร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนในหลายท้องที่  ผู้เสียหายอาจร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนในหลายท้องที่ซึ่งให้การสั่งคดีไม่เหมือนกัน   อาทิเช่น  บางท้องที่อาจมีความเห็นสั่งฟ้อง  ทั้งๆ ที่เป็นความผิดกรรมเดียว   เพื่อป้องกันมิให้มีการสอบสวนคดีดังกล่าวซ้ำซ้อน   และการมีความเห็นทางคดีแตกต่างกันในคดีความผิดเดียวกันจึงให้ดำเนินการดังนี้
(1) เมื่อพนักงานสอบสวนรับคำร้องทุกข์ในคดีความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  326  , มาตรา  327  และมาตรา  328  อันเป็นกรณีความผิดกรรมเดียวกระทำลงในหลายท้องที่แล้ว  ให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนโดยมิชักช้า  โดยให้พนักงานสอบสวนผู้รับแจ้งสอบสวนผู้เสียหายว่าได้มีการร้องทุกข์ไว้กับพนักงานสอบสวนในท้องที่อื่นใดมาก่อนหรือไม่  หากปรากฏว่าผู้เสียหายได้เคยแจ้งความร้องทุกข์ไว้กับพนักงานสอบสวนไว้กับพนักงานสอบสวนท้องที่อื่นใดไว้ก่อนแล้ว  ให้พนักงานสอบสวนผู้รับแจ้งสอบสวนปากคำผู้เสียหายแล้วจัดส่งบันทึกคำให้การผู้เสียหายไปยังพนักงานสอบสวนที่รับแจ้งความร้องทุกข์ไว้แต่แรกดำเนินการสอบสวนต่อไป...  ”
ซึ่งในกรณีดังกล่าวปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น  ในกรณีของที่มีการแจ้งความในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และในกรณีที่แจ้งความผู้ต้องหาที่จังหวัดอยุธยานั้น    แม้จะมีการแจ้งความครั้งเดียวซึ่งเป็นครั้งแรก แต่ปัญหาก็เกิดขึ้นไม่เป็นธรรมกับผู้ต้องหา  ซึ่งบางครั้งเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่และถึงแม้ไม่ใช่แต่หากผู้ต้องหาต้องเดินทางไกล  ก็เปรียบเสมือนว่าผู้ต้องหานั้นได้รับโทษไปก่อนแล้วที่จะมีคำพิพากษาว่าผิดหรือไม่

2.ปัญหาการกระทำกรรมเดียวแต่ผู้ต้องหาได้กระทำลงในหลายท้องที่
ปัญหาที่เกิดขึ้นซึ่งอาจถือว่าเป็นช่องว่างของกฎหมาย  การที่ผู้ต้องหาได้พูดหรือแสดงการหมิ่นประมาทผู้ต้องหา  ตัวอย่างเช่น    นาย  ข. ได้พูดถ้อยคำหมิ่นประมาทนาย  ค.  ทางวิทยุกระจายเสียง หรือทางเอกสารอื่นๆ  ซึ่งทำให้เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา   โดยนาย  ข.ได้พูดถ้อยคำดังกล่าวที่กรุงเทพมหานคร  แต่บุคคลอื่นได้ยินเสียงถ้อยคำหมิ่นประมาทที่จังหวัดสุโขทัยและ นาย  ค.ได้ยินเสียงหมิ่นประมาทดังกล่าวที่อำเภอเมือง  จังหวัดสุโขทัย  ดังนี้แล้วพนักงานสอบสวน สภ.เมือง  จังหวัดสุโขทัย  ย่อมมีอำนาจสอบสวน  เพราะเมื่อคำนึงถึงความเป็นธรรมของผู้เสียหายแล้ว  การที่ผู้เสียหายต้องเดินทางไปถึงกรุงเทพมหานคร  อันเป็นสถานที่เกิดเหตุนั้น  ย่อมไม่เป็นธรรมกับฝ่ายผู้กล่าวหา
แต่อย่างไรก็ตามเมื่อปฏิบัติตามข้อเท็จจริงดังกล่าว  ทำให้ผู้กล่าวหา (บางราย)  ฉวยโอกาสจากการอำนวยความสะดวกดังกล่าว  เป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งผู้ต้องหา  โดยไปแจ้งความในพื้นที่ไกลๆ  ซึ่งทำให้ผู้ต้องหาต้องเสียเวลาเดินทางเป็นอย่างมากและเกิดความเสียหายขึ้นมากเกินความจำเป็น  นอกจากนี้แล้วยังตระเวนแจ้งความหลายท้องที่  ซึ่งตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่  464/2532   ได้พิพากษาไว้ว่า

“แม้ข้อความที่พนักงานอัยการจังหวัดบุรีรัมย์ฟ้องว่าจำเลยลงพิมพ์ข้อความหมิ่นประมาทโจทก์ร่วม  จะเป็นคนละบทความกันและลงพิมพ์ต่างหน้ากันกับที่โจทก์ฟ้องจำเลยคดีนี้    แต่ก็เป็นข้อความหมิ่นประมาทโจทก์ร่วมในหนังสือพิมพ์  ซึ่งจำเลยเป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณาฉบับเดียวกัน  ทั้งเป็นข้อความที่กล่าวถึงโจทก์ร่วมในเรื่องเดียวกัน   ทั้งเป็นข้อความที่กล่าวถึงโจทก์ร่วมในเรื่องเดียวกัน  การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดกรรมเดียว  และพนักงานอัยการจังหวัดบุรีรัมย์กับโจทก์ต่างก็เป็นพนักงานอัยการมีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลตาม ป. วิ อาญา  มาตรา  2 (5)  ,  28(1)  ด้วยกัน  การที่โจทก์นำคดีนี้มาฟ้องจำเลยอีกจึงเป็นฟ้องซ้อน  ต้องห้ามมิให้ฟ้องตาม ป.วิ. แพ่ง  มาตรา  173 (1) ประกอบด้วย  ป. วิ. อาญา  มาตรา  15 ”( สุวัณชัย ใจหาญ, พลตำรวจตรี, คำอธิบายประมวลกฎหมายอาญาว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับเพศและความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพและชื่อเสียง  (กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์มิตรสยาม, 2534), น.529-530) 
   จึงเห็นได้ว่าการที่ผู้เสียหายมาร้องทุกข์ซ้ำแล้วซ้ำอีกนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย  และไม่มีสิทธิจะทำเช่นนั้นได้  เพราะว่าเจตนาดังกล่าวถือว่ามีเจตนาที่จะสร้างความเสียหายและความเดือดร้อนให้ผู้ต้องหาโดยยังไม่ปรากฏคำพิพากษาของศาลว่าผู้ต้องหาได้กระทำความผิดหรือไม่   นั้นผู้เขียนมีข้อสังเกต  2  ประการกล่าวคือ. –
   ประการแรก   การกล่าวของผู้ต้องหานั้น  มีความเกี่ยวข้องประการใดกับ  “การโฆษณา”  คือการหมิ่นประมาทด้วยเอกสาร, ภาพวาด, ภาพระบายสี  ฯลฯ หรือการกระจายเสียงหรือป่าวประกาศด้วยวิธีอื่นใด (ประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  328)   ผู้ต้องหานั้นแม้จะกล่าวตามความเห็นของตนเอง  แต่เมื่อผู้เสียหายเห็นว่าเป็นข้อความหมิ่นประมาท  การหมิ่นประมาทโดยการโฆษณานั้น  ผู้เขียนเห็นว่าผู้กล่าวต้องมีเจตนาที่จะให้ผู้อื่นรู้เห็นโดยผ่านการโฆษณาดังกล่าว  แต่หากเป็นการที่ผู้สื่อข่าวหรือบุคคลอื่นนำไปโฆษณาหรือไปเผยแพร่เอาเองนั้น  ผู้ต้องหาน่าจะถูกกล่าวหาเฉพาะหมิ่นประมาทธรรมดาเท่านั้น  มิใช่หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ดังนั้นแล้ว  หากเป็นการหมิ่นประมาทธรรมดา  ผู้เสียหายหรือผู้แจ้งความร้องทุกข์จึงควรมาร้องทุกข์ในสถานที่ที่ผู้กล่าวหากล่าวว่ากล่าวในที่ใด  มิใช่ไปร้องทุกข์ในสถานที่ทั้งที่ผู้ต้องหาไม่ได้กล่าวหรือผู้เสียหายได้ยินข้อความ 
   ประการที่สอง คือ  ในกรณีที่ผู้ต้องหาได้พูดต่อหน้าสื่อมวลชน  เช่น โทรทัศน์, หนังสือพิมพ์ , แพร่ข้อความทางอินเตอร์เน็ต  เป็นต้นนั้น  อาจถือได้ว่าพนักงานสอบสวนทั้งประเทศก็ทราบข้อเท็จจริงเหล่านี้หมด  เนื่องจากน่าจะเป็นข้อเท็จจริงที่ทราบกันทั่วไป  ถึงแม้พนักงานสอบสวนจะไม่ได้เห็นภาพดังกล่าวด้วยตนเอง  แต่ก็น่าจะสามารถสืบค้นได้ไม่ยาก  ดังนั้น  ท้องที่ที่รู้การกระทำความผิดก่อนจึงอาจต้องตีความอย่างกว้างว่าเป็นหลายท้องที่  การที่พนักงานสอบสวนได้รับคำร้องทุกข์ไว้แต่แรกแล้ว  จึงน่าจะมีอำนาจเสนอคำร้องทุกข์นั้นไปยังท้องที่ที่เห็นควรดำเนินการสอบสวน     เช่นกรณีพนักงานสอบสวนในท้องที่ สภ.เมืองอยุธยา  มีผู้ไปแจ้งความเรื่องหมิ่นประมาท  แต่ข้อความดังกล่าวเป็นข่าวที่มีการโฆษณาทั่วประเทศและผู้เสียหายเคยเป็นข้าราชการการเมืองระดับสูง  และผู้ถูกกล่าวหาเป็นถึงข้าราชการระดับสูง  เช่นนี้ควรให้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ  เป็นผู้พิจารณาว่าควรจะให้พนักงานสอบสวนท้องที่ใดเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ 
  
3. ปัญหาการออกหมายเรียกของพนักงานสอบสวน
   ต่อคำถามของท่านอาจารย์ ดร.คณิต  ณ นครว่า “ในคดีของท่านสุนัย  นั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตรวจดูอย่างแน่ใจแล้วหรือไม่ว่าเป็นการกล่าวข้อความโดยสุจริต  ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา  329 (2)  ซึ่งเป็นข้อยกเว้นไม่ทำให้เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทนั้น”  ตามบันทึกสั่งการของกองคดี  กรมตำรวจที่  0503/6968  ลงวันที่  22  มีนาคม   2517  ข้อ 3  วางหลักไว้ว่า  “ในกรณีมีผู้มาร้องทุกข์หรือการกล่าวโทษในคดีอาญา  ในโอกาสแรกที่พนักงานสอบสวนพึงกระทำ  ในเมื่อผู้ต้องหายังไม่ได้มาปรากฏตัวต่อพนักงานสอบสวนตามนัยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา   134  คือควรทำการสืบสวนเสียก่อน    เมื่อฟังได้ว่ามีการกระทำความผิดอาญาเกิดขึ้นจึงดำเนินการสอบสวนต่อไป...แต่ถ้าตามทางการสอบสวนปรากฎว่าผู้ต้องหาหรือผู้ถูกกล่าวหามิได้กระทำความผิด  หรือไม่ได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้นตามข้อกล่าวหา  ก็ไม่ต้องทำการจับกุมตัวผู้ต้องหาหรือผู้ถูกกล่าวหาหรือแจ้งข้อแจ้งข้อหาให้ผู้ต้องหาหรือผู้ถูกกล่าวหาทราบแต่อย่างใด  แต่ให้พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนโดยทำความเห็นควร “สั่งไม่ฟ้อง” ส่งพนักงานอัยการพิจารณาโดยมิชักช้าเช่นเดียวกัน”  ในคดีดังกล่าวได้มีการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานจนกระทั่งมีการขอออกหมายจับ  แสดงว่าพนักงานสอบสวนน่าเชื่อว่าผู้ต้องหาอาจจะกระทำความผิดจึงได้ขอศาลออกหมายจับ  ตามความเห็นของผู้เขียนซึ่งมิได้มีโอกาสพิจารณาสำนวนการสอบสวนด้วยตนเอง  พนักงานสอบสวนจึงไม่มีทางเลือกอื่นในเมื่อมีการออกหมายเรียกผู้ต้องหาไปแล้ว  จึงต้องดำเนินการตามขั้นตอนออกหมายจับ  ซึ่งพนักงานสอบสวนนั้นเปรียบเสมือน “หนังหน้าไฟ”  ที่มีโอกาสใช้ดุลยพินิจแคบมากในการดำเนินการตามอย่างอื่น  ซึ่งการใช้ดุลยพินิจต่างกันกับพนักงานอัยการและศาลที่เปิดโอกาสให้ใช้ดุลยพินิจกว้างขวางกว่ามาก
  



4.ความถูกต้องตามอำนาจ, ความชอบธรรมและความเหมาะสมในการออกหมายเรียก
   ปัญหาที่เกิดขึ้น  จึงเป็นปัญหาเรื่องพนักงานสอบสวนมีอำนาจที่จะกระทำการออกหมายเรียกดังกล่าวหรือไม่นั้น  ผู้เขียนเห็นว่าพนักงานสอบสวนมีอำนาจที่จะออกหมายเรียกผู้ถูกกล่าวหาหรือผู้ต้องหามาได้  แต่ในทางปฏิบัติแล้วผู้เขียนมักจะแบ่งออกเป็น   2  กรณี 
  
กรณีแรก  หากมีผู้มาแจ้งความร้องทุกข์ในคดีความผิดอันยอมความได้  ซึ่งทั้งผู้เสียหายและผู้ต้องหาเป็นข้าราชการระดับสูง (หรือแม้กระทั่งเคยเป็น)  พนักงานสอบสวนควรหารือขึ้นไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าสมควรให้ผู้ใดเป็นผู้ดำเนินการสอบสวน  หากพิจารณาแล้วเห็นว่าควรให้ท้องที่ที่รับแจ้งความเป็นผู้ดำเนินการสอบสวน ก็ควรมีการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานเสียก่อน ตามคำสั่งของสำนักงานตำรวจแห่งชาติดังกล่าวข้างต้น  โดย     ในการนี้หากยังไม่มีพยานหลักฐานอื่น  พนักงานสอบสวนอาจเรียกผู้ถูกกล่าวหาในฐานะ “ผู้ถูกกล่าวหา”   ซึ่งเพื่อประโยชน์ของผู้ถูกกล่าวหาเองนำพยานหลักฐานมามอบให้พนักงานสอบสวนด้วย หากพิจารณาแล้วว่าพยานหลักฐานฝ่ายผู้ต้องหาจะมีประโยชน์ต่อรูปคดีในการทำความเห็นสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้อง  คำว่า  “ผู้ถูกกล่าวหา” นี้มักจะใช้นำมารวมกับคำว่า “ผู้ต้องหา”   ซึ่งอาจารย์ณรงค์ ใจหาญ  ได้ให้ความเห็นว่า  “ผู้ถูกกล่าวหา”  หมายถึง  “ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าได้กระทำความผิดทางอาญา  ฐานใดฐานหนึ่ง” (ณรงค์  ใจหาญ, หลักกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  เล่ม 1,  พิมพ์ครั้งที่  9  (กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์วิญญูชน, 2550), น.85.)
 

ดังนั้นการที่ออกหมายเรียกผู้ถูกกล่าวหา  จึงออกในฐานะที่เป็นผู้นำพยานหลักฐานที่ผู้ถูกกล่าวหามาแสดงให้พนักงานสอบสวนทราบ  เพื่อพิจารณาดูว่าพยานหลักฐานฝ่ายใดน่าเชื่อถือมากกว่ากัน  ซึ่งอาจทำให้ความเห็นของพนักงานสอบสวนสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องโดยได้พยานหลักฐานจากทั้งสองฝ่าย   ส่วนผู้ต้องหานั้นหมายความถึง “บุคคลผู้ถูกกล่าวหาว่าได้กระทำความผิดแต่ยังมิได้ถูกฟ้องต่อศาล”(เพิ่งอ้าง)   จึงน่าจะหมายความถึงบุคคลที่พนักงานสอบสวนได้รวบรวมพยานหลักฐานแล้วมีพยานหลักฐานเพียงพอว่าผู้นั้นได้กระทำความผิด  จึงตกอยู่ในฐานะผู้ต้องหา.
   

กรณีที่สอง   หากพนักงานสอบสวนได้รวบรวมพยานหลักฐานแล้วมีพยานหลักฐานชัดแจ้งว่าผู้ต้องหาได้กระทำความผิดจริง  จึงออกหมายเรียกผู้ต้องหาในฐานะผู้ต้องหา  โดยคำนึงถึงพยานหลักฐานแล้วว่ามีหลักฐานเพียงพอว่าผู้ต้องหาได้กระทำความผิดจริง 
   

อย่างไรก็ตามโดยบทสรุปของงานเขียนเรื่องนี้  ผู้เขียนมิอยากให้พิจารณาในเรื่อง “ผู้ถูกกล่าวหา” หรือ “ผู้ต้องหา”  เท่านั้น  แต่ยังรวมถึงเรื่องความชอบธรรมและความเหมาะสมในการออกหมายเรียกผู้ต้องหา   เนื่องจากในคดีอาญาไม่ว่าจะเป็นคดีความผิดอันยอมความได้หรือไม่ก็ตาม  กฎหมายอาญานั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคมเป็นหลัก   (Edward Eldefonso and Alan R. Coffey, Criminal Law: History, Philosophy, Enforcement (New York: Harper&Row, 1981), p.13.)
       

ดังนั้นปัญหาที่เกิดขึ้นสองประการจากเรื่องดังกล่าว  กล่าวคือ.-  ประการแรก  เรื่องความชอบธรรมของการออกหมายเรียกของพนักงานสอบสวน  ที่ต้องให้ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เดินทางมาให้ปากคำ  ไม่ว่าจะในฐานะผู้ถูกกล่าวหาหรือผู้ต้องหาก็ตาม  ทั้งที่อาจมีทางเลือกอื่นโดยให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในท้องที่ในเขตกรุงเทพมหานครหรือกองปราบปรามดำเนินการสอบสวน  ซึ่งทำให้พนักงานสอบสวนสามารถเดินทางไปสอบสวนปากคำผู้ต้องหาได้ทันที  และประการที่สองคือที่เกี่ยวข้องกับประการแรก  คือพนักงานสอบสวนนั้นขาดอำนาจที่จะใช้ดุลยพินิจในการแยกแยะว่าคดีใดเป็น “ผลประโยชน์ส่วนรวมของสังคม” (Public Interest)  หรือ  “ผลประโยชน์ส่วนบุคคล” (Personal Interest)  ทำให้เกิดปัญหาที่บ่อยครั้งจำยอมต้องตกเป็นเครื่องมือของผู้กล่าวหาหรือผู้ต้องหา  ประกอบกับการบริหารงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเองที่มีปัญหาอยู่มาก  บ่อยครั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจถึงกับท้อแท้  เพราะไม่ได้ใช้ดุลยพินิจในการให้ความเป็นธรรมแก้ไขปัญหาสังคม  มีหน้าที่เป็นเพียง “พนักงานพิมพ์ดีด” เพื่อโยนเรื่องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเท่านั้น    ปัญหาดังกล่าวจึงเกิดขึ้นอย่างมากในปัจจุบัน  ส่วนทางแก้ไขนั้นผู้เขียนเห็นว่า  สำนวนหรือเรื่องใดที่ดำเนินคดีแล้วน่าจะเป็นประโยชน์ส่วนตัวมากกว่ากระทบถึงผลประโยชน์ส่วนรวม  พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบอาจเสนอสำนวนต่อผู้บังคับบัญชาระดับสูง  เช่น  ระดับผู้บังคับการหรือเหนือกว่า   เพื่อร่วมหารือกับฝ่ายพนักงานอัยการหรือเสนอเรื่องต่อศาลเพื่อให้พิจารณาคดีว่าคดีดังกล่าวมีผลประโยชน์ในเรื่องส่วนตัวที่ไม่กระทบต่อส่วนรวม  หรือความสงบสุขส่วนรวมที่ตำรวจต้องยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือ  ก็ให้ยุติการดำเนินคดีเพื่อให้ผู้เสียหายไปฟ้องร้องเอาเองได้  ทั้งนี้ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นสองประการกล่าวคือ. -  1)  เจ้าหน้าที่ตำรวจจะได้ไม่ตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง  และ  2)  เจ้าหน้าที่ตำรวจจะได้มีเวลาและนำทรัพยากรไปใช้เพื่อในการติดตามสืบสวนสอบสวนคดีที่สร้างความเสียหายต่อสังคมอย่างแท้จริง   โดยปราศจากอิทธิพลทางการเมืองและผลประโยชน์ส่วนตัว.











เอกสารอ้างอิง
Eldefonso, Edward and Coffey Alan R., Criminal Law: History, Philosophy, Enforcement. New York: Harper&Row, 1981.
กองวิชาการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, ประมวลระเบียบการตำรวจเกี่ยวกับคดีฉบับสมบูรณ์. กรุงเทพมหานคร: บริษัทวิศิษฎ์สรอรรถจำกัด (ฝ่ายการพิมพ์), 2545.
เกียรติขจร  วัจนะสวัสดิ์, คำอธิบายหลักกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา. พิมพ์ครั้งที่  6.  กรุงเทพมหานคร: ห้างหุ้นส่วนจำกัดจิรรัชการพิมพ์, 2551. 
คณิต  ณ นคร, “เมื่ออำนาจรัฐตกเป็นเครื่องมือของผู้เสียหายในคดีความผิดฐานหมิ่นประมาท (2)” มติชนสุดสัปดาห์, เล่ม 1455, ปีที่   28 (ฉบับวันที่ 4 – 10  กรกฎาคม  2551)
ณรงค์  ใจหาญ, หลักกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  เล่ม 1.  พิมพ์ครั้งที่  9. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์วิญญูชน, 2550.
สุรศักดิ์  ลิขสิทธิ์วัฒนกุล, ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาฉบับอ้างอิง ตัวบท  คำอธิบายย่อและเอกสารอ้างอิงเรียงมาตรา.  พิมพ์ครั้งที่ 6.  กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, น. 120 – 121.
สุวัณชัย ใจหาญ, พลตำรวจตรี, คำอธิบายประมวลกฎหมายอาญาว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับเพศและความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพและชื่อเสียง.  กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์มิตรสยาม, 2534. 
   ณรงค์  ใจหาญ, หลักกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  เล่ม 1.  พิมพ์ครั้งที่  9. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์วิญญูชน, 2550.