สิทธิของจำเลย เมื่อถูกฟ้องต่อศาล

"จำเลย"  หมายความว่า บุคคลที่ถูกฟ้องยังศาล โดยหาว่าได้ทำความผิดอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมา ดังนั้น
ก่อนที่จะเป็นจำเลยได้ ก็ต้องผ่านการเป็นผู้ต้องหามาก่อนแทบทั้งสิ้น  โดยสามารถอธิบายลำดับขั้นตอนได้ว่า เริ่มมา

จากมีการทำความผิดตามกฎหมายขึ้น ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจทำการสืบสวนสอบสวนหาตัวผู้ทำความผิด เมื่อรู้ตัวว่าใครเป็นผู้ทำความผิด ก็จะทำการแจ้งข้อกล่าวหาว่า ได้ทำความผิด  เมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจแจ้งข้อกล่าวหาแล้ว  ผู้หาว่าได้ทำความผิดก็จะตกเป็นผู้ต้องหา แล้วเจ้าหน้าที่ตำรวจก็จะรวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ ต่อไป  เมื่อรวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ เสร็จแล้ว เห็นว่าเรื่องดังกล่าวมีมูลว่าได้ทำความผิดจริง   เจ้าหน้าที่ตำรวจก็จะส่งสำนวนการสอบสวนนั้นให้กับพนักงานอัยการ เพื่อพิจารณาก่อนจะยื่นเรื่องส่งฟ้องต่อศาล และเมื่อพนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาลแล้ว  ผู้ต้องหาก็กลับกลายเป็น "จำเลย" ไปทันที พร้อมทั้งเกิดสิทธิตามกฎหมาย คือ
      
1. สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีด้วยความรวดเร็ว และเป็นธรรม
          
เนื่องจากในคดีอาญาบางคดี จำเลยถูกคุมขังระหว่างพิจาณาคดีตลอดเวลา ซึ่งในเบื้องต้นก็ได้กล่าวไปแล้วว่า เมื่อศาลยังไม่ได้ตัดสินว่าจำเลยเป็นผู้ทำความผิด ตราบนั้นจำเลยก็ยังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ แต่อีกนั้นแหละ กฎหมายก็คือกฎหมาย แม้จะถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ แต่ในระหว่างการพิจารณาคดี กฎหมายก็กำหนดให้คุมขังจำเลยเอาไว้ก่อน
ยกเว้นไว้แต่ว่า ตัวจำเลยจะได้ขอประกันตัวออกมาสู้คดีเอง  ด้วยเหตุนี้หากจำเลยไม่สามารถหาหลักทรัพย์มาประกันตัวออกไปต่อสู้คดีได้ จำเลยก็ต้องได้รับโทษถูกคุมขังอยู่ในเรื่อนจำตลอดเวลา  จึงเป็นการรับโทษก่อนที่ศาลตัดสินว่า จำเลยเป็นผู้ทำความผิด   ฉะนั้น หากระยะเวลาในการพิจารณาคดีทำด้วยความล่าช้าและใช้เวลานานแล้ว จำเลยก็ต้องถูกคุมขังนานเท่ากับระยะเวลาในการพิจารณาคดีนั้นด้วย  หากผลสรุปปรากฏออกมาว่า จำเลยไม่ได้เป็นผู้ทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหา  คำถามก็จะถูกตั้งขึ้นมาว่า ใครจะเป็นผู้ที่ชดใช้เยียวยาความเสียหายที่ได้เกิดขึ้นกับ
จำเลย   เหตุนี้เอง กฎหมายจึงได้กำหนดให้การพิจารณาคดี ต้องทำด้วยความรวดเร็ว ต่อเนื่อง และเป็นธรรม
      
2. สิทธิในการแต่งทนายความแก้ต่างในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง หรือพิจารณาในชั้นศาล ตลอดจนชั้นอุทธรณ์ และฎีกา
          
ในเรื่องนี้ หากจำเลยมีความรู้ทางด้านกฎหมายเป็นทุนเดิมอยู่ก่อนแล้ว ก็ย่อมจะเห็นได้ว่า จำเลยจะสามารถต่อสู้คดี เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ของตนเองได้อย่างเต็มที่ เพราะสามารถเข้าใจได้ว่า จะต้องดำเนินการต่อสู้คดี
อย่างไร   แต่หากจำเลยที่เป็นชาวบ้านตาสีตาสา หรือประชาชนโดยทั่วไปที่ไม่รู้เรื่องรู้ราวเกี่ยวกับกฎหมายแล้ว ก็จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ยากที่จะเข้าใจในเรื่องของกฎหมายต่างๆ ว่าจะต้องทำอย่างไร ต้องยกประเด็นข้อต่อสู้แบบไหน จึงจะชอบหรือไม่ชอบตามกฎหมาย หรือจะต้องนำพยานเอกสารอะไรมาแสดงต่อศาลบ้าง  ซึ่งสิ่งที่กล่าวมานี้มีขั้นตอน ระเบียบ ในการดำเนินการแทบทั้งสิ้น และทุกขั้นตอนก็มีความสำคัญ เพราะเกี่ยวเนื่องกับเสรีภาพของตัวเอง
ทั้งสิ้น  เมื่อเป็นอย่างนี้ก็ย่อมจะสร้างความลำบาก หรือสร้างความเสียหายให้กับจำเลย หรือผู้ที่ไม่รู้กฎหมายทั้งหลายได้เป็นอย่างมาก    ดังนั้นกฎหมายจึงให้สิทธิแก่จำเลย ในการแต่งตั้งทนายความให้เข้ามาช่วยดำเนินแนะนำ และดำเนินการช่วยเหลือทางกฎหมายได้
      
3. สิทธิในการปรึกษาทนายความ หรือผู้ซึ่งจะเป็นทนายความ เป็นการเฉพาะตัว
      
4. สิทธิในการตรวจดูสิ่งที่ยื่นเป็นพยานหลักฐาน และคัดสำเนา หรือถ่ายรูปสิ่งนั้นๆ
          
ในชั้นของเจ้าหน้าที่ตำรวจ  ในขณะทำการรวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ เพื่อจะเอาผิดกับจำเลยนั้น  เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ทำรวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ จะไม่ยอมเปิดเผย หรือยินยอมให้ผู้ต้องหา ได้ทราบหรือได้เห็นพยานหลักฐานดังกล่าว เพราะเป็นหลักฐานที่จะใช้ในการอ้างอิงเพื่อมัดตัวเอาผิดผู้ต้องหาเอง    ดังนั้นจึงทำให้ผู้ต้องหาไม่มีโอกาสจะทราบได้ว่า มีพยานหลักฐานใดบ้าง ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะนำมาใช้อ้างอิงเพื่อเอาผิดกับตนเอง เพื่อจะได้เตรียมหาพยานหลักฐานมาสืบหักล้างได้        
          
และเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจส่งสำนวนการสอบสวนไปให้กับพนักงานอัยการแล้ว ผู้ต้องหาก็ยังไม่สามารถขอดูพยานหลักฐานได้อีกเช่นเดิม   ดังนั้นจึงต้องรอจนกว่าพนักงานอัยการจะส่งยื่นฟ้องต่อศาล  ซึ่งเมื่อยื่นฟ้องแล้ว จำเลยก็จะมีสิทธิที่จะขอดูพยานหลักฐานต่างๆ ในสำนวนคดีนั้นได้    ซึ่งโดยปกติแล้วพนักงานอัยการก็จะยื่นรายการเอกสาร และสำเนาภาพถ่ายเอกสารต่างๆ ที่จะใช้อ้างต่อศาล ก่อนจะมีการสืบพยานของโจทก์อย่างน้อย 15 วัน และจำเลยยังสามารถขอคัดถ่ายสำเนาพยานหลักฐานที่ว่านั้นได้อีกด้วย
      
5. สิทธิในการตรวจดูสำนวนการไต่สวนมูลฟ้อง หรือพิจารณาของศาลและคัดสำเนา หรือรับรองสำเนาว่าถูก
ต้องโดยเสียค่าธรรมเนียม
          
"การไต่สวนมูลฟ้อง"  คือ การไต่สวนพยานหลักฐานของศาล เพื่อจะพิจารณาว่า ได้มีการทำความผิดขึ้น
มาจริงตามที่ได้มีการกล่าวอ้างหรือไม่  ซึ่งเป็นกรณีของชาวบ้านเป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีอาญาต่อศาล โดยข้อเท็จจริงตามความผิดที่ชาวบ้านได้อ้างต่อศาลนี้ ยังไม่ผ่านการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งศาลก็จะทำการไต่สวน
หรือการสอบสวนว่า ข้อกล่าวหาที่ได้ยื่นฟ้องเข้ามานั้น มีข้อเท็จจริงอย่างไร มีพยานหลักฐานอย่างไรบ้าง  ซึ่งโจทก์ก็ต้องนำพยานหลักฐานเข้ามาสืบในศาล   ดังนั้นเมื่อศาลเห็นว่าคดีที่ฟ้องนั้นน่าจะมีการทำความผิดเกิดขึ้นมาจริง 
ศาลก็จะรับฟ้อง และตัวผู้ถูกฟ้องก็จะตกเป็นจำเลยในคดี และจำเลยก็จะมีสิทธิในการตรวจสอบ พยานหลักฐานในคดี
นั้นๆ ได้ต่อไป
      
6.สิทธิในการตรวจและคัดสำเนาคำให้การของตนเองในชั้นสอบสวน  หรือเอกสารประกอบคำให้การของตน
เอง
         
สิทธิต่างๆ ที่กฎหมายได้กำหนดและให้การรับรองเอาไว้นั้น เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ชาวบ้าน หรือประชา
ชนโดยทั่วไปทุกคนมีสิทธิจะได้รับ  ดังนั้นหากเราต้องไปพบพานในเรื่องเกี่ยวกับคดีดังว่า เราก็ควรที่จะใช้สิทธิของเราที่มีนั้นได้อย่างเต็มที่ ดังนั้น "การใช้สิทธิตามกฎหมาย  เป็นสิ่งที่ถูกต้องและดีงามเสมอ"