สิทธิ เสรีภาพ และหน้าที่ของประชาชนชาวไทย

สิทธิ เสรีภาพ และหน้าที่ของประชาชนชาวไทยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
พุทธศักราช 2540

สิทธิของปวงชนชาวไทย ตามกฏหมายได้บัญญัติไว้ ดังนี้

สิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฏหมายโดยเท่าเทียมกัน หมายถึง การที่ประชาชนชาวไทยมีความเสมอภาคเท่าเทียมกันตามกฏหมาย โดยไม่คำนึงถึง เพศ วัย ศาสนา
สิทธิทางการเมือง หมายถึง ประชาชนมีสิทธิในการแสดงความคิดเห็น การเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมือง
สิทธิของบุคคลในทรัพย์สิน หมายถึง ประชาชนมีสิทธิที่เจ้าของทรัพย์สินส่วนบุคคลได้ เช่น ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดิน หรือใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินของตนได้ตามต้องการ ซึ่งบุคคลอื่นจะล่วงละเมิดทรัพย์สินส่วนบุคคลไม่ได้

สิทธิในครอบครัว หมายถึง การที่ประชาชนจะได้รับความคุ้มครองจากรัฐในเรื่องเกียรติยศ ชื่อเสียง และการดำรงชีวิตในสังคม

สิทธิในการเสนอเรื่องราวร้องทุกข์ หมายถึง การที่ประชาชนเมื่อได้รับความไม่เป็นธรรมหรือถูกละเมิด ไม่ว่าในกรณีใดๆ ประชาชนมีสิทธิที่จะเสนอเรื่องราวร้องทุกข์ต่อทางราชการได้

สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาโทษอย่างเป็นธรรม โดยได้รับสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้สุจริต

สิทธิที่จะได้รับค่าทดแทน หากศาลพิพากษาว่าเป็นผู้บริสุทธิ์

บุคคลจะใช้สิทธิตามอำเภอใจไม่ได้ แต่จะต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตและหลักการที่กฏหมายกำหนด โดยใช้โดยสุจริตและไม่ขัดต่อหลักศีลธรรมและความสงบเรียบร้อย ไม่ขัดต่อกฏหมาย ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น

การใช้สิทธิสามารถทำได้ด้วยตนเองและแต่งตั้งมอบอำนาจ เป็นลายลักษณ์อักษรหรือเรียกว่ามอบฉันทะ ให้ไปทำแทนผู้มีสิทธินั้นๆ ก็ได้ แต่สำหรับสิทธิในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งผู้แทนราษฏรนั้น ไม่สามารถใช้แทนกันได้ หรือการใช้สิทธิแทนผู้เยาว์ หรือบุคคลไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ จะต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครองหรือผู้พิทักษ์ตามกฏหมายก่อนนจึงจะใช้สิทธินั้นได้

เสรีภาพของปวงชนชาวไทย ตามกฏหมายได้บัญญัติไว้ ดังนี้
เสรีภาพในการนับถือศาสนา ปฏิบัติพิธีกรรมตามความเชื่อของตน
เสรีภาพในการพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่นๆ ทั้งนี้จะต้องไม่ใช้เสรีภาพนั้นไปละเมิดความมั่นคงของชาติหรือเกียรติยศชื่อเสียงของบุคคลอื่น
เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ
เสรีภาพในการเดินทางและการเลือกถิ่นที่อยู่ภายในราชอาณาจักร
หน้าที่ของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย ได้แก่

หน้าที่ในการรักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครอง ตามระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

หน้าที่ในการป้องกันประเทศ ได้แก่ การช่วยสอดส่องดูแลและแจ้งให้เจ้าหน้าที่บ้านเมืองทราบถึงภัยที่จะเกิดขึ้นแก่ประเทศชาติ เช่น การแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับการค้ายาเสพติด การสมัครเป็นอาสาสมัครรักษาดินแดน เป็นต้น

หน้าที่ในการรับราชการทหารตามกฏหมาย โดยชายไทยทุกคนเมื่ออายุ 20 ปีบริบูรณ์จะต้องไปตรวจเข้ารับการเกณฑ์เพื่อเป็นทหารประจำการเป็นเวลา 2 ปี เพื่อเป็นกำลังสำคัญเมื่อเกิดภาวะสงคราม
หน้าที่ในการปฏิบัติตนตามกฏหมายกำหนด ทั้งนี้เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย ทำให้สังคมมีความสงบสุข และสมาชิกในสังคมอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข

หน้าที่ในการเสียภาษีอากรตามที่กฏหมายกำหนด เพื่อรัฐจะได้มีรายได้ เพื่อนำมาใช้จ่ายภายในประเทศ รวมทั้งจัดสวัสดิการต่างๆ ให้กับประชาชนและชุมชนในประเทศ

หน้าที่ในการรับการศึกษาภาคบังคับตามเงื่อนไขและวิธีการที่กฏหมายกำหนด เพื่อช่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและเป็นกำลังในการพัฒนาประเทศต่อไป

มีหน้าที่ในการช่วยเหลือราชการตามกฏหมายกำหนด  เพื่อประโยชน์ส่วนตนและส่วนรวม
หน้าที่ในการใช้สิทธิเลือกตั้งโดยสุจริต ในการเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรเข้าไปทำหน้าที่บริหารประเทศ เป็นการจรรโลงการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยให้ยั่งยืนสืบต่อไป

หน้าที่ในการพิทักษ์และปกป้องศิลปวัฒนธรรมของชาติ เนื่องจากศิลปวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่แสดงถึงเอกลักษณ์ของชาติไทย ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของคนไทยต้องดูแลและปกป้องรักษาไว้ให้คงอยู่สืบไป
หน้าที่ในการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

สรุป

สิทธิ คือ อำนาจหรือประโยชน์ของบุคคลที่มีกฏหมายให้ความคุ้มครองโดยบุคคลอื่นจะละเมิดไม่ได้
เสรีภาพ คือ อิสระในการกระทำของบุคคลภายในขอบเขตกฏหมาย

หน้าที่ คือ ภาระหรือความรับผิดชอบที่บุคคลจะปฏิบัติตามกฏหมาย

สิทธิเสรีภาพเป็นรากฐานสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย โดยมีหน้าที่คอยกำกับมิให้การใช้สิทธิ เสรีภาพจนเกินขอบเขตที่กฏหมายกำหนด

สิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทยมีบัญญัติไว้ในกฏหมายรัฐธรรมนูญอย่างแจ้งชัด พลเมืองดีในระบอบประชาธิปไตยต้องปฏิบัติตามหน้าที่ที่มีอยู่ตามกฏหมาย ทั้งนี้ในสังคมประชาธิปไตย ให้ความสำคัญกับศักดิ์ศรี อิสรภาพและความสามารถของมนุษย์ โดยเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนจะต้องมีความเสมอภาคและเท่าเทียมกันในสิทธิขั้นพื้นฐาน เช่น สิทธิในชีวิต ทรัพย์สินและการแสวงหาความสุข ซึ่งมิได้หมายความว่า ทุกคนจะมีความสุขเท่ากัน แต่หมายถึง ทุกคนมีสิทธิ์เลือกหาความสุขตามวีถีทางที่ต้องการ โดยไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น

นอกจากนี้ มนุษย์พึงได้รับความเสมอภาคแห่งโอกาส ซึ่ง หมายความว่า ทุกคนควรมีโอกาสเท่าเทียมกันที่จะมีชีวิตที่ดี มีความสุขตามที่ตนปรารถนา แม้ว่าความสามารถของแต่ละคน จะไม่เท่ากัน แต่เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องพยายามสร้างโอกาสที่เท่าเทียมกันให้แก่ประชาชนให้มากที่สุด เช่น จัดบริการสาธารณูปโภค ขยายการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระจายอำนาจในการปกครองท้องถิ่น เป็นต้น