สิทธิของผู้เสียหาย

เมื่อมีความผิดอาญาขึ้น ผู้ที่มีอำนาจฟ้องคดีอาญาต่อศาล คือ

     (๑) พนักงานอัยการ
     (๒) ผู้เสียหาย
     (ป.วิ.อาญา ม.๒๘)
    
พนักงานอัยการ มีอำนาจฟ้องคดีอาญาได้ทุกชนิด โดยมีข้อจำกัดเพียงว่าคดีนั้นต้องได้มีการสอบสวยโดยพนักงานสอบสวนมาก่อนเท่านั้น
    
ผู้เสียหาย หมายถึงผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำผิดอาญา
    
ดังนั้น หากผู้เสียหายไม่อยากฟ้องคดีด้วยตนเอง ก็อาจให้พนักงานอัยการเป็นผู้ฟ้องผู้กระทำผิดอาญาต่อตนแทนได้ โดยการไปแจ้งความร้องทุกข์ยังสถานีตำรวจที่ความผิดนั้นเกิดขึ้นในเขตรับผิดชอบ ซึ่งพนักงานสอบสวน (ตำรวจ) ก็จะทำการสอบสวนแล้วจับตัวผู้กระทำผิดนั้นเป็นผู้ต้องหา เมื่อสอบสวนเสร็จสิ้นแล้วหากเห็นว่าผู้ต้องหากระทำผิดตามข้อกล่าวหาก็จะส่งสำนวนพร้อมผู้ต้องหาให้พนักงานอัยการพิจารณา หากพนักงานอัยการพิจารณาแล้วเห็นว่า จากพยานหลักฐานและพฤติการณ์แห่งคดีเชื่อได้ว่า ผู้ต้องหาได้กระทำผิด พนักงานอัยการก็จะฟ้องผู้ต้องหาเป็นคดีต่อศาล ซึ่งเมื่อพนักงานอัยการฟ้องผู้ต้องหาต่อศาลแล้ว ผู้เสียหายอาจยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมในคดีนั้น ๆ ได้
    
ร้องทุกข์ทำอย่างไร
    
การร้องทุกข์ (หรือภาษาชาวบ้านเรียก "แจ้งความ" นั่นเอง) คือ การที่ผู้เสียหายไปแจ้งแก่ตำรวจว่ามีความผิดเกิดขึ้นและขอให้ตำรวจเอาตัวคนกระทผิดมาลงโทษ และการร้องทุกข์จะมีความสำคัญอย่างมากถ้าเป็นคดีความผิดที่ยอมความได้ ผู้เสียหายต้องร้องทุกข์ภายใน ๓ เดือนนับแต่ผู้เสียหายรู้ว่าความผิดเกิดขึ้นและรู้ว่าใครเป็นผู้กระทำผิดมิฉะนั้นคดีจะขาดอายุความซึ่งจะมีผลให้ผู้กระทำไม่ต้องรับโทษตามกฎหมายสำหรับความผิดที่ตนทำขึ้นและถ้าไม่มีการร้องทุกข์ ตำรวจจะสอบสวนไม่ได้ และอัยการก็ไม่สามารถฟ้องคดีนั้นได้เลย ผลก็คือ เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่อาจนำตัวผู้กระทำผิดมาให้ศาลพิจารณาคดีได้
    
ดังนั้น ผู้เสียหายไม่ว่าจะมีอายุครบ ๒๐ ปี หรือไม่ก็ตามจะไปแจ้งความต้องดูก่อนว่าความผิดเกิดในเขตของสถานีตำรวจใดก็ไปแจ้งที่นั่น โดยเข้าไปหาร้อยเวรเล่าความจริงเกี่ยวกับความผิด และขอให้ตำรวจจัดการนำตัวคนทำผิดมาลงโทษ
    
ฟ้องคดีทำอย่างไร
    
การฟ้องคดีต้องเขียนหรือฟ้องเป็นหนังสือ และต้องบรรยายให้เห็นว่า คนที่เราฟ้องนั้นทำผิดกฎหมายอย่างไร ที่ใด เมื่อไร อย่าลืมเซ็นชื่อเป็นโจทก์ฟ้อง (ในกรณีที่ผู้เสียหายฟ้องคดีเอง) และจะต้องยื่นฟ้องต่อศาลที่ความผิดเกิด ซึ่งถ้าเป็นคดีมีโทษจำคุกไม่เกิน ๓ ปี หรือปรับไ่่่่่ม่เกิน ๖๐,๐๐๐ บาท ต้องยื่นฟ้องต่อศาลแขวง หากเกินกว่านั้นต้องไปฟ้องที่ศาลจังหวัดหรือศาลอาญาแล้วแต่กรณี ถ้าไปฟ้องผิดศาลหรือเขียนหรือพิมพ์ฟ้องไม่ถูกต้อง ศาลอาจไม่รับฟ้องเสียก็ได้ ซึ่งเป็นการเสียเวลาที่จะไปฟ้องยังศาลที่ถูกต้อง ดังนั้น ก่อนฟ้องต้องดูดี ๆ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วผู้ที่จะเขียนฟ้องก็คือทนายความที่ผู้เสียหายไปจ้างให้เป็นทนายว่าต่างให้ตนนั้นเอง ซึ่งในคดีที่ราษฎรเป็นโจทก์ฟ้องเองนี้ ศาลต้องทำการไต่สวนมูลฟ้องเสียก่อน เมื่อศาลเห็นว่าคดีมีมูล จึงจะประทับรับฟ้องไว้พิจารณาต่อไป และหากความผิดที่จะฟ้องเองเป็นความผิดที่ยอมความได้และไม่ได้ร้องทุกข์ไว้จะต้องฟ้องผู้กระทำผิดภายใน ๓ เดือนนับแต่วันที่รู้ว่ามีการกระทำความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด
    
ขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม ทำอย่างไร
    
ผู้เสียหายอาจไม่ฟ้องคดีเองก็ได้ โดยไปแจังความต่อพนักงานสอบสวนและเมื่อพนักงานอัยการฟ้องคดีนั้น ๆ ต่อศาล ผู้เสียหายจึงยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการโดยขอถือเอาคำฟ้องของอัยการเป็ฯฟ้องขอตนเองด้วย เมื่อศาลอนุญาตผู้เสียหายก็มีฐานะเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการ แต่การยื่นคำร้องนั้นต้องอย่าให้เกินเวลาที่ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาให้จำเลยฟังก็แล้วกัน มิฉะนั้นศาลจะไม่รับคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมของผู้เสียหายดังกล่าวไว้ (ป.วิ.อาญา ม.๓๐)