การปฏิบัติตนในการดำเนินคดีอาญา

การดำเนินคดีอาญานั้น มีความมุ่งหมายที่จะพิสูจน์ให้เห็นว่าข้อ เท็จจริงที่เกิดขึ้น อันเกิดจากการกระทำความผิดทางอาญานั้นใครเป็น ผู้กระทำความผิด และผู้ที่ถูกกล่าวหานั้นเป็นผู้กระทำความผิดจริงหรือไม่ ซึ่งการพิสูจน์ข้อเท็จจริงนั้นจะต้องกระทำโดยศาลตามหลักในกฎหมายวิธี พิจารณาความอาญา

อย่างไรก็ตาม ในกระบวนการก่อนนำคดีขึ้นสู่ศาลถ้าเป็นคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ กฎหมายให้คดีเรื่องนั้นต้องได้รับการสอบสวนโดยชอบด้วยกฎหมายจากพนักงานสอบสวน ซึ่งได้แก่ ตำรวจ ที่มียศตั้งแต่นายร้อยตำรวจตรีขึ้นไป และการสอบสวนของตำรวจนี้กฎหมายให้อำนาจแก่พนักงานสอบสวนที่จะรวบรวมพยานหลักฐาน ไม่ว่า จะเป็นพยานบุคคล พยานเอกสาร หรือพยานวัตถุ เพื่อจะนำมาพิสูจน์ความผิด เพื่อทราบลักษณะของการกระทำความผิด และเพื่อพิสูจน์ว่า ผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้กระทำผิดจริงหรือไม่ ในกรณีที่มีหลักฐานน่าเชื่อว่าผู้ต้องหาเป็นผู้กระทำผิด พนักงานสอบสวนจะเสนอความเห็นควรสั่งฟ้อง ต่อพนักงานอัยการ

เพื่อให้พนักงานอัยการดำเนินการสั่งฟ้องผู้ต้องหา ต่อไป นอกจากนี้ เพื่อประโยชน์ในการรวบรวมพยานหลักฐานดังกล่าว กฎหมายจึงให้อำนาจตำรวจในการจับ ควบคุมตัวบุคคลที่ต้องสงสัยว่าเป็นผู้กระทำความผิด หรืออำนาจในการค้นสถานที่เพื่อหาสิ่งของที่อาจใช้เป็นพยานหลักฐาน และยึดสิ่งของนั้นไว้ หรือค้นเพื่อจับตัวบุคคลที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นผู้กระทำผิด หรือปล่อยตัวบุคคลที่ควบคุมไว้ชั่วคราว โดยมีประกันและไม่มีประกัน เมื่อพนักงานอัยการได้สำนวนการสอบสวนจากตำรวจแล้วพนักงานอัยการ มีหน้าที่ตรวจสอบสำนวนการสอบสวน และทำคำสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องผู้ต้องหาต่อศาล ถ้าพนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้องก็จะนำคำฟ้องพร้อมด้วยตัวผู้ต้องหาไปยื่นฟ้องต่อศาล แล้วนำพยานหลักฐานเข้าสืบ ซึ่งรวมถึงพยานบุคคลที่รู้เห็นเหตุการณ์ด้วยหรืออาจเป็นพยานเอกสาร พยานวัตถุ หรือพยานผู้ชำนาญการเข้ามาเพื่อการนำสืบข้อเท็จจริงในศาลนี้ พนักงานอัยการ หรือผู้เสียหายซึ่งเป็นโจทก์จะต้องนำหลักฐานมาสืบจนเป็นที่พอใจว่าจำเลยเป็นผู้กระทำผิด ส่วนจำเลยก็มีสิทธิที่จะนำพยานหลักฐานต่างๆ มาพิสูจน์ให้ศาลเห็นว่าการกระทำของตนไม่เป็นความผิดตามที่โจทก์กล่าวหา

หลังจากที่ได้สืบพยานโจทก์และจำเลยจนเสร็จสิ้นแล้ว ศาลจะวินิจฉัยข้อเท็จจริงที่นำสืบต่อศาล ถ้าเชื่อว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดศาลจะพิพากษาลงโทษตามที่กฎหมายบัญญัติสำหรับความผิดนั้น แต่ถ้าเห็นว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิด หรือมีเหตุอื่นที่จะทำให้จำเลยไม่ต้องรับผิดทางอาญา หรือคดีขาดอายุความฟ้องร้องแล้ว ศาลจะพิพากษายกฟ้องและปล่อยจำเลยไป

กระบวนการทั้งหลายเหล่านี้อาจเกิดแก่ท่านได้ในวันใดวันหนึ่งและหลายครั้งที่ประชาชนโดยทั่วไปซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการดำเนินคดีอาญา ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะของผู้เสียหาย พยาน ผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่ทราบว่าจะต้องปฏิบัติตนอย่างไรจึงจะถูกต้องตามกฎหมายและเป็น การรักษาผลประโยชน์แก่ตนเองหรือผู้อื่น ดังนั้น จึงขอฝากข้อคิดและข้อปฏิบัติตนในการดำเนินคดีอาญาไว้ดังต่อไปนี้
๑. กรณีท่านเป็นผู้เสียหาย
ในกรณีที่ท่านได้รับความเสียหายตามกฎหมาย เช่น ได้รับบาดเจ็บจากการที่มีผู้ทำร้าย หรือถูกล่อลวงไปเพื่อการอนาจาร หรือมีคนมาหลอกเอาเงินไปโดยสัญญาว่าจะส่งตัวไปทำงานที่ต่างประเทศ เป็นต้น ท่านมีสิทธิที่จะดำเนินการทางกฎหมายอาญาแก่ผู้กระทำความผิด โดยเป็นโจทก์ฟ้องคดีเองหรือร้องทุกข์ต่อตำรวจก็ได้
การร้องทุกข์ต่อตำรวจ หรือที่เรียกในภาษาชาวบ้านว่า "แจ้ง ความ" นั้นสามารถกระทำได้โดยที่ท่านไปพบพนักงานสอบสวนในเขตท้องที่ที่ความผิดเกิดขึ้น แล้วเล่าเหตุการณ์ให้ตำรวจฟัง ซึ่งในขณะที่แจ้งท่านอาจไม่ทราบว่าใครเป็นผู้กระทำความผิด ท่านก็แจ้งได้ แต่อย่างไรก็ตาม กฎหมายกำหนดว่าคำร้องทุกข์ที่ชอบด้วยกฎหมายนั้น ต้องเป็นการร้องทุกข์โดยเจตนาที่จะให้ตำรวจนำตัว ผู้กระทำความผิดมาดำเนินการทางกฎหมาย หากการแจ้งความนั้นมิได้มีเจตนาเช่นนั้นกฎหมายไม่ถือ ว่าเป็นคำร้องทุกข์ เคยมีคำร้องทุกข์ที่ระบุแต่เพียงว่า "ขอแจ้งไว้เป็นหลักฐานเกรงคดีจะขาดอายุความ" ดังนี้ ศาลวินิจฉัยว่าไม่เป็นคำร้องทุกข์ตามกฎหมาย การที่ผู้เสียหายไม่ได้ร้องทุกข์นั้นจะมีผลต่อการสอบสวนในคดีความผิดต่อส่วนตัว เช่น ข่มขืน บุกรุก ยักยอก ฉ้อโกง หน่วงเหนี่ยว กักขัง หรือความผิดฐานออกเช็คไม่มีเงิน เป็นต้น เพราะตามกฎหมายตำรวจจะไม่สามารถสอบสวนความผิดดังกล่าวได้ถ้าไม่มีคำร้องทุกข์จาก ผู้เสียหายก่อน นอกจากนี้ การร้องทุกข์ก็ต้องดำเนินการในเวลาจำกัด กล่าวคือ ต้องกระทำภายในสามเดือนนับแต่วันที่ผู้เสียหาย รู้เรื่องความผิดและรู้ว่าใครเป็นผู้กระทำความผิด ถ้าร้องทุกข์เกินกำหนดเช่นว่านี้ ถือว่าคดีขาดอายุความ และตำรวจหรือผู้เสียหายไม่อาจดำเนินการแก่ ผู้กระทำผิดได้ สำหรับคดีที่ไม่ใช่ความผิดต่อส่วนตัว เช่น ทำร้ายร่างกาย ฆ่าคน ลักทรัพย์ ประมาททำให้คนตาย ความผิดฐานปลอมเอกสารหรือ เงินตรา เป็นต้น ตำรวจสามารถดำเนินคดีได้โดยไม่ต้องรอให้มีคำร้องทุกข์จากผู้เสียหายก่อน หรือแม้แต่ผู้เสียหายจะไม่ร้องทุกข์ หรือร้องทุกข์แล้วแต่ถอนคำร้องทุกข์ไป พนักงานสอบสวนสามารถดำเนินการสอบสวนได้ และพนักงานอัยการมีอำนาจฟ้อง ซึ่งข้อนี้แตกต่างจากความผิดต่อส่วนตัว เพราะในคดีความผิดต่อส่วนตัว ถ้าผู้เสียหายไม่ติดใจเอา ความโดยยอมความทางอาญา หรือตกลงถอนคำร้องทุกข์แล้วคดีเป็น อันระงับไป ซึ่งมีผลให้พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ และศาลไม่อาจดำเนินคดีแก่ผู้ถูกกล่าวหาได้เลย
อย่างไรก็ดีการแยกแยะว่าคดีใดเป็นคดีความผิดต่อส่วนตัว คดีใดไม่ใช่ความผิดต่อส่วนตัวนั้น ต้องดูจากบทบัญญัติในมาตรานั้นๆ จึงเป็นการยากสำหรับผู้ที่ไม่ได้เรียนกฎหมายที่จะทราบได้ ดังนั้น ถ้าท่านเป็นผู้เสียหายในคดีใดก็ตาม ทางที่ดีท่านควรจะต้องรีบไปร้องทุกข์ต่อ พนักงานสอบสวนโดยเร็ว ซึ่งนอกจากจะเป็นการป้องกันคดีขาดอายุความแล้ว ยังทำให้พนักงานสอบสวนสามารถเข้ามาดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐานในคดีโดยเร็ว และทำให้รวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ ได้ครบก่อนที่จะสูญหายไป
ในความผิดฐานข่มขืน เป็นคดีที่ผู้เสียหายได้รับความกระทบกระเทือนทั้งทาง ด้านร่างกายและจิตใจจากการข่มขืนผู้เสียหายส่วนใหญ่ไม่ยอมมาร้องทุกข์ ต่อพนักงานสอบสวนในทันทีเพราะความอายที่จะบอกเรื่องดังกล่าวแก่ผู้อื่น บางคนกว่าจะมาร้องทุกข์ก็เป็นเวลาถึงสามหรือสี่เดือนหลังเกิดเหตุ หรือบางคนรอจนตั้งครรภ์เนื่องจากการถูกข่มขืนแล้วจึงมาร้องทุกข์ก็มี ซึ่งความล่าช้าในการร้องทุกข์อาจทำให้คดีขาดอายุความ เพราะความผิดฐานข่มขืนเป็นคดีความผิดต่อส่วนตัวและพยานหลักฐานต่างๆ โดยเฉพาะร่องรอยการต่อสู้ คราบอสุจิของผู้กระทำผิด หรือพยานหลักฐานอื่นๆ อาจสูญหายไป เพราะหลักฐานดังกล่าวจะปรากฏอยู่ได้ไม่เกินสองหรือสามวันเท่านั้น นอกจากนี้ การไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน พนักงานสอบสวนจะส่งตัวผู้เสียหายไปตรวจร่างกายเพื่อหาพยานหลักฐาน ท่านควรจะไปตรวจร่างกายโดยเร็ว และไม่ต้องทำความสะอาดร่างกายก่อน ทั้งนี้เพราะการกระทำดังกล่าวอาจทำให้หลักฐานต่างๆ ที่ปรากฏในตัวของท่านสูญหายไป
ในกรณีที่ผู้เสียหายหรือพยานบุคคลที่รู้เห็นเหตุการณ์เป็นเด็กอายุไม่เกิน ๑๘ ปี การร้องทุกข์หรือการสอบปากคำเด็ก กฎหมายกำหนดให้มีนักจิตวิทยา หรือนักสังคมสงเคราะห์ และบุคคลที่เด็กร้องขอให้อยู่ด้วยในการสอบปากคำ รวมทั้งพนักงานอัยการ เข้าร่วมในการสอบปากคำ โดยมีการบันทึก วี.ดี.โอ. ไว้ด้วย ส่วนการถามปากคำนี้ต้องให้นักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์เป็นผู้ถามและจะต้องจัดหาสถานที่ที่เหมาะสมสำหรับเด็กในการใช้เป็นสถานที่สอบปากคำด้วย จะใช้ห้องสอบสวนโดยทั่วไปไม่ได้ มาตรการเหล่านี้กำหนดขึ้นใหม่เพื่อคุ้มครอง ผู้เสียหายและพยานรวมทั้งผู้ต้องหาที่อายุไม่เกิน ๑๘ ปีเพื่อให้ได้รับการปฏิบัติอย่างเหมาะสมในการดำเนินคดีอาญา
สิทธิของผู้เสียหายที่จะดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดอีกกรณี คือ การฟ้องจำเลยต่อศาลโดยการทำคำฟ้อง ซึ่งต้องบรรยายรายละเอียดที่เกี่ยวกับความผิด ฐานความผิดที่กล่าวหา วัน เวลา และสถานที่กระทำความผิด ตลอดจนต้องลงลายมือชื่อของผู้เสียหายในช่องลายมือชื่อโจทก์ด้วย อย่างไรก็ดี การทำคำฟ้องนี้เป็นเรื่องสำคัญ ถ้าบรรยายไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ศาลจะยกฟ้องได้ทันทีโดยไม่ต้องสืบพยาน ดังนั้น ท่านควรปรึกษาหรือมอบให้ทนายความเป็นผู้ดำเนินการแทนจะดีกว่า หรือถ้าท่านไม่สามารถหาทนายความได้หรือไม่มีเงินจ้างทนาย เพราะเป็น ผู้ยากไร้ท่านสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือจากสำนักงานช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย ศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ กรุงเทพฯ ๑๐๒๐๐ โทร. ๒๒๔-๘๑๐๖
๒. กรณีตำรวจจับท่าน
การที่ตำรวจจับราษฎรนั้นต้องมีกฎหมายให้อำนาจไว้ ซึ่งในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กำหนดให้ตำรวจต้องมีหมายจับจึงจะจับได้ เว้นแต่กรณีดังต่อไปนี้
๑) เมื่อพบว่ามีผู้กระทำความผิดซึ่งหน้า ได้แก่ เห็นมีคนกำลังลักทรัพย์ของบุคคลอื่น เป็นต้น
๒) เมื่อพบว่ามีผู้กำลังพยายามกระทำความผิด เช่น พบว่ามีคนกำลังจะปีนเข้าไปในบ้านเพื่อลักทรัพย์ในเวลากลางคืน เป็นต้น
๓) ตำรวจสงสัยว่าผู้นั้นกระทำความผิด และกำลังจะหลบหนี
๔) มีผู้เสียหายชี้ให้จับและแจ้งว่าได้ร้องทุกข์ไว้ตามระเบียบแล้ว
โดยหลักแล้ว การจับของตำรวจสามารถกระทำโดยการแจ้งว่า ผู้นั้นถูกจับ และขอเชิญไปที่สถานีตำรวจ ถ้าผู้ถูกจับตามไปโดยดี ตำรวจ ไม่มีความจำเป็นต้องจับตัวไป แต่ถ้าผู้นั้นขัดขืน ต่อสู้ หรือหลบหนี ตำรวจมีอำนาจใช้กำลังเพื่อนำตัวผู้นั้นมาที่สถานีตำรวจ ซึ่งในกรณีนี้ ตำรวจอาจต้องใส่กุญแจมือแก่ผู้ถูกจับ หรือกอดปล้ำต่อสู้ทำร้ายถึงบาดเจ็บ หรือบางทีถึงขั้นยิงต่อสู้จนผู้ถูกจับถึงแก่ความตาย (ซึ่งเรียกในภาษา ชาวบ้านว่า วิสามัญฆาตกรรม) ก็มี ดังนั้น ถ้าท่านไม่ต้องการให้มีการใส่กุญแจมือหรือถูกทำร้าย หรือถูกฆ่าเพื่อจับแล้ว ท่านควรไปที่สถานีตำรวจโดยดี เมื่อได้รับแจ้งจากตำรวจว่าท่านถูกจับ
ในกรณีที่ผู้กระทำผิดเป็นเด็กหรือเยาวชนที่มีอายุเกินกว่าเจ็ดปี แต่ไม่เกินสิบแปดปีในวันที่กระทำความผิด การจับต้องเป็นไปตามพระราช-บัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัว และวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. ๒๕๓๔ ซึ่งตามกฎหมายฉบับนี้ได้แยกเด็กซึ่งเป็นบุคคลที่มีอายุเกินเจ็ดปีแต่ไม่เกินสิบสี่ปีบริบูรณ์ในวันกระทำความผิด ออกจากเยาวชน ซึ่งเป็นบุคคลที่มีอายุเกินสิบสี่ปีแต่ไม่เกินสิบแปดปีบริบูรณ์ในวันกระทำความผิด ทั้งนี้ โดยการจับเยาวชนให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาตามที่ได้กล่าวมาแล้ว ส่วนการจับเด็กนั้นโดยหลักห้ามมิให้กระทำ เว้นแต่เด็กนั้นได้กระทำความผิดซึ่งหน้าหรือมีผู้เสียหายชี้ตัวและยืนยันให้จับ หรือมีผู้ขอให้จับโดยแจ้งว่าได้มีการร้องทุกข์ไว้แล้ว หรือมีหมายจับ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
สำหรับการควบคุมตัวผู้ต้องหาหลังการจับนั้น กฎหมายกำหนดให้ตำรวจมีอำนาจในการควบคุมผู้ต้องหาในความผิดโดยทั่วไปดังนี้ ความผิดลหุโทษ ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือนหรือปรับ ไม่เกินหนึ่งพันบาท เช่น การเปลือยกายโชว์ในบาร์ การด่าผู้อื่นต่อหน้า เป็นต้น ตำรวจจะควบคุมได้เท่าที่เวลาถามชื่อ ที่อยู่ และถามคำให้การ เท่านั้น จากนั้นต้องปล่อยตัวไป
ความผิดที่มีอัตราโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลแขวง และผู้ต้องหาให้การรับสารภาพว่าเป็นผู้กระทำความผิด ตำรวจจะควบคุมผู้ต้องหาได้ไม่เกินสี่สิบแปดชั่วโมง หลังจากนั้นต้องส่งฟ้องต่อศาลแขวง
ความผิดที่มีโทษอื่นนอกจากนี้ กฎหมายให้ตำรวจควบคุมได้ไม่เกินสี่สิบแปดชั่วโมง นับแต่วันที่ผู้นั้นถูกส่งตัวมาที่สถานีตำรวจ แต่ถ้าจำเป็นเพื่อการสอบสวนสามารถควบคุมได้อีกไม่เกินสามวัน
สำหรับเวลาในการควบคุมตัวนี้ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกำหนดให้ควบคุมได้ไม่เกิน ๔๘ ชั่วโมง แต่มีบทเฉพาะกาลว่าจะใช้หลัง ๕ ปี นับแต่วันใช้รัฐธรรมนูญ ดังนั้น ในปี พ.ศ. ๒๕๔๕ เป็นต้นไป การควบคุมตัวที่สถานีตำรวจจะควบคุมได้เพียง ๔๘ ชั่วโมงเท่านั้น ถ้าจำเป็นต้องควบคุมผู้ต้องหาต่อต้องไปขอฝากขังต่อศาล
ก่อนที่ตำรวจจะหมดอำนาจควบคุมผู้ต้องหาข้างต้น ถ้ามีความจำเป็นจะควบคุมต่อไปเพื่อการสอบสวน ต้องนำผู้ต้องหามาขอฝากขังต่อศาล ซึ่งศาลจะมีอำนาจสั่งขังได้ตามหลักเกณฑ์ดังนี้
๑) คดีที่มีอัตราโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าร้อยบาท ศาลจะสั่งขังได้ครั้งเดียวไม่เกินเจ็ดวัน สิ่งของที่เจ้าพนักงานค้นได้ เจ้าพนักงานจะยึดไว้จนกว่าคดีจะถึงที่สุด แล้วจึงคืนแก่ผู้สมควรได้รับไป แต่ในบางกรณีเจ้าพนักงานอาจฝากไว้ในความครอบครองของบุคคลใดบุคคลหนึ่งได้ตามระเบียบว่าด้วยการเก็บรักษาของกลางในคดีอาญา ๒) คดีที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินหกเดือน แต่ไม่ถึงสิบปี หรือปรับเกินกว่าห้าร้อยบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ศาลมีอำนาจสั่งขังได้หลายครั้ง ครั้งละไม่เกินสิบสองวัน และรวมกันต้องไม่เกินสี่สิบแปดวัน
๓) คดีที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่สิบปีขึ้นไป จะมีโทษปรับด้วยหรือไม่ก็ตาม ศาลมีอำนาจสั่งขังได้หลายครั้ง ครั้งละไม่เกินสิบสองวัน และรวมกันต้องไม่เกินแปดสิบสี่วัน
ในกรณีที่มีการควบคุมหรือขัง หรือจำคุกเกินกำหนดที่กฎหมายให้อำนาจ หรือเกินกว่าที่ศาลมีคำพิพากษา ผู้ต้องหาที่ถูกควบคุม หรือญาติของผู้นั้น หรือผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้องหรือพัศดี มีอำนาจยื่นคำร้องขอต่อศาลขอให้ปล่อยได้ นอกจากนี้ยังมีอำนาจในการฟ้องคดีอาญาฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังและฟ้องเรียกค่าเสียหายทางละเมิด จากการที่ต้องเสียหายเนื่องจากถูกควบคุมหรือขังเกินกำหนดก็ได
้ กฎหมายให้สิทธิผู้ที่ถูกควบคุมหรือขังในการยื่นขอประกันตัว ต่อตำรวจหรือศาลได้ ตามหลักเกณฑ์ในเรื่องการปล่อยชั่วคราวของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาซึ่งจะกล่าวต่อไป
๓. กรณีตำรวจค้นบ้านท่าน
การที่ตำรวจจะค้นบ้านใคร กฎหมายกำหนดให้ต้องมีหมายค้น เพราะบ้านเป็นสถานที่ซึ่งเป็นที่รโหฐาน ประชาชนทั่วไปไม่อาจเข้าไปได้ถ้าเจ้าของไม่อนุญาต เพราะเป็นการละเมิดเสรีภาพในการครอบครองเคหสถานโดยปกติสุข อย่างไรก็ดีการที่กฎหมายให้อำนาจตำรวจในการรวบรวมพยานหลักฐานแห่งคดี จึงจำเป็นต้องให้อำนาจในการค้นหาสิ่งของหรือบุคคลในที่รโหฐานนั้น
อย่างไรก็ตาม ในบางกรณีตำรวจสามารถค้นบ้านของผู้อื่นได้ โดยไม่ต้องมีหมายค้น ดังนี้
๑) มีเสียงร้องให้ช่วยดังมาจากในที่รโหฐาน
๒) เมื่อพบว่ามีการกระทำความผิดซึ่งหน้าในที่รโหฐาน เช่น พบว่ากำลังมีการทำร้ายร่างกายกันในบ้านหลังนั้น
๓) เมื่อพบว่ามีการกระทำความผิดซึ่งหน้า และมีเหตุแน่นแฟ้นอันควรสงสัยว่าผู้กระทำได้หลบหนีเข้ามาในที่รโหฐานนั้น เช่น ตำรวจเห็นคนลักทรัพย์ จึงวิ่งไล่จับ คนร้ายได้วิ่งเข้าไปหลบในบ้านของนายดำ ดังนี้ตำรวจมีอำนาจค้นและจับคนร้ายในบ้านของนายดำได้โดยไม่ต้องมีหมายค้น
๔) เมื่อมีความสงสัยว่ามีสิ่งของที่ได้มาโดยการกระทำผิดซ่อนอยู่ในที่รโหฐานนั้น และมีเหตุอันควรเชื่อว่า เนื่องจากการเนิ่นช้ากว่าจะออกหมายค้นมาได้ สิ่งของนั้นจะถูกโยกย้ายเสียก่อน เช่น ตำรวจสืบทราบว่าในบ้านของนายแดงมีของซึ่งคนร้ายลักมาซ่อนอยู่ และสงสัยว่าของนั้น จะถูกย้ายไปเสียก่อน ถ้าจะรอให้ได้หมายค้นมา ดังนี้ ตำรวจสามารถ เข้าไปค้นได้โดยไม่ต้องมีหมายค้น
๕)เมื่อที่รโหฐานนั้นผู้จะต้องถูกจับเป็นเจ้าบ้านและการจับนั้นมีหมายจับหรือจับได้โดยไม่มีหมายตามมาตรา ๗๘ เช่น ตำรวจมีหมายจับนายเขียว จึงเข้าไปจับนายเขียวที่บ้านของนายเขียว ดังนี้สามารถจับได้โดยไม่ต้องมีหมายค้น
อย่างไรก็ดี แม้ตำรวจจะมีหมายค้นมาก็ตาม กฎหมายได้จำกัด เวลาในการค้นไว้ว่าโดยหลักต้องค้นในเวลากลางวัน กล่าวคือ ต้องค้นในระหว่างเวลาพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตก เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นสามประการ สามารถค้นในเวลากลางคืนได้ ดังนี้
๑) เมื่อเป็นการค้นตั้งแต่เวลากลางวันแต่ยังไม่เสร็จก็ค้นต่อในเวลากลางคืนได้
๒) ในกรณีฉุกเฉินอย่างยิ่ง ซึ่งถ้าเนิ่นช้าไปพยานหลักฐานที่มีอยู่จะสูญหายไป และไม่อาจนำมาได้อีก หรือมีกฎหมายพิเศษกำหนดให้ค้นในเวลากลางคืนได้
๓) เมื่อต้องการค้นเพื่อจับผู้ดุร้าย เช่น คนวิกลจริต เป็นต้น หรือผู้ร้ายสำคัญ จะกระทำในเวลากลางคืนก็ได้ แต่ต้องได้รับอนุญาตพิเศษจากอธิบดีกรมตำรวจ หรือผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อให้ค้นในจังหวัดนั้น ส่วนหัวหน้าในการค้น ต้องเป็นนายอำเภอหรือนายตำรวจซึ่งมียศตั้งแต่ชั้นนายร้อยตำรวจตรีขึ้นไป
การปฏิบัติของเจ้าพนักงานเมื่อเริ่มค้นนั้น กฎหมายกำหนดให้ตำรวจต้องแสดงความบริสุทธิ์เท่าที่จะกระทำได้ ถ้ามีหมายค้นต้องแสดงต่อเจ้าบ้านเพื่อขอค้น แต่ถ้าเป็นการค้นโดยไม่มีหมายให้แสดงนามและตำแหน่งของผู้ค้น
ในกรณีที่เจ้าของหรือผู้ที่อยู่ในบ้าน ได้รับแจ้งจากตำรวจเพื่อขอเข้าค้นแล้ว แต่ไม่ยอมให้ตำรวจเข้าไป กฎหมายให้อำนาจตำรวจที่จะใช้กำลังเพื่อเข้าไป และในกรณีจำเป็นจะเปิดหรือทำลายประตูบ้าน ประตูเรือน หน้าต่าง รั้วหรือสิ่งกีดขวางอย่างอื่นทำนองเดียวกันนั้นก็ได้ ดังนั้น เมื่อตำรวจขอเข้าค้น ท่านควรจะอำนวยความสะดวกให้ ถ้าท่านขัดขืน ตำรวจมีอำนาจทำลายประตูบ้านเพื่อเข้าค้นได้ ถ้าจำเป็นต้องกระทำเช่นนั้น
ในการค้นนั้น กฎหมายให้ตำรวจค้นต่อหน้าเจ้าบ้านหรือผู้ที่อยู่ในครอบครัวของผู้นั้น แต่ถ้าหาบุคคลดังกล่าวไม่ได้ ให้ค้นต่อหน้าบุคคลอื่นอย่างน้อยสองคนซึ่งเจ้าพนักงานได้ขอร้องมาเป็นพยาน
ในระหว่างการค้น ถ้าผู้ที่อยู่ในที่ค้น จะขัดขวางถึงกับทำให้การค้นไร้ผล เจ้าพนักงานผู้ค้นมีอำนาจควบคุมตัวผู้นั้นไว้เท่าที่จำเป็นเพื่อ มิให้ขัดขวางถึงกับทำให้การค้นนั้นไร้ผล ดังนั้นเจ้าของบ้านจึงควรจะอำนวยความสะดวกให้แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจ และไม่ควรกระทำการอันเป็น การขัดขวางการค้น มิฉะนั้นจะถูกควบคุมตัวไว้จนกว่าจะค้นเสร็จ
เมื่อค้นเสร็จแล้ว ตำรวจจะทำบันทึกการค้น และบันทึกรายละเอียดเกี่ยวกับสิ่งของที่ค้นได้แล้วให้เจ้าของบ้าน หรือผู้ที่เป็นพยานในการค้นลงชื่อเป็นหลักฐานในบันทึกนั้น แต่กฎหมายไม่บังคับให้ผู้ที่เป็นเจ้าบ้านหรือพยานต้องลงชื่อเสมอไป ถ้าบุคคลดังกล่าวไม่ยอมลงชื่อ ตำรวจผู้ค้นต้องจดหมายเหตุไว้ในบันทึกการค้น ดังนั้น ถ้าของที่ค้นได้เป็นของที่ท่านแน่ใจว่าไม่ใช่ของที่อยู่ในบ้านของท่าน ท่านไม่ควรลงชื่อรับรองว่าของนี้อยู่ในบ้านท่าน มิฉะนั้นเมื่อไปถึงศาลจะผูกพันท่านว่าได้รับรองว่าเป็นของที่ค้นได้ในบ้านของท่านจริง
การค้นที่ต้องมีหมายค้นใช้เฉพาะในกรณีที่เจ้าพนักงานค้นที่รโหฐานเท่านั้น ส่วนการค้นเพื่อหาสิ่งของซึ่งบุคคลครอบครองไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด หรือซึ่งได้มาโดยการกระทำผิด หรือซึ่งมีไว้เป็นความผิด ถ้ากระทำในที่สาธารณะ เช่น ถนนหลวง งานวัด ศาลากลาง หรือร้านค้า ซึ่งเป็นบริเวณหน้าร้าน เป็นต้น สามารถค้นได้โดยไม่ต้องมี หมายค้น แต่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจะต้องมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีสิ่งของเหล่านั้น
สิ่งของที่เจ้าพนักงานค้นได้ เจ้าพนักงานจะยึดไว้จนกว่าคดีจะถึงที่สุด แล้วจึงคืนแก่ผู้สมควรได้รับไป แต่ในบางกรณีเจ้าพนักงานอาจฝากไว้ในความครอบครองของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง
ได้ตามระเบียบว่าด้วยการเก็บรักษาของกลางในคดีอาญา
๔. การขอประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา การขอประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญานั้น เป็นกระบวนการที่เจ้าพนักงานหรือศาลปล่อยตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ถูกจับ หรือขังอยู่ในอำนาจของเจ้าพนักงานหรือศาลเป็นการชั่วคราว ในระหว่างการสอบสวน การไต่สวนมูลฟ้อง หรือการพิจารณาคดี ทั้งนี้โดยมีเงื่อนไขว่าผู้ประกันจะต้องนำตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยมาตามที่นัด
ผู้มีสิทธิยื่นขอประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยนั้น กฎหมายกำหนด ว่า ได้แก่ ผู้ต้องหาหรือจำเลยนั้นเอง หรือผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้อง เช่น ญาติ หรือนายจ้าง หรือเพื่อนของผู้นั้น เป็นต้น ทั้งนี้ต้องยื่นคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวต่อพนักงานสอบสวน (ตำรวจ) ในกรณีที่ผู้ต้องหาถูกขังอยู่ในระหว่างสอบสวน หรือต่อศาลชั้นต้น ในกรณีที่ผู้ต้องหาหรือ จำเลยระหว่างพิจารณาคดี ทั้งในศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา
การปล่อยชั่วคราว สามารถกระทำได้สามกรณี คือ กรณีแรก ปล่อยโดยไม่มีประกันและหลักประกัน แต่ผู้ต้องหาหรือจำเลยต้องสาบานว่าจะมาตามนัด กรณีที่สอง เป็นการปล่อยโดยมีประกัน ซึ่งปล่อยโดยมีผู้ทำสัญญาประกันว่า จะนำผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ได้รับการประกันไปมาส่งให้เมื่อได้รับหมายเรียก และกรณีสุดท้าย เป็นการปล่อยโดยมีประกันและหลักประกันโดยจะต้องทำทั้งสัญญาประกันและนำหลักทรัพย์มาวางเป็นประกันการผิดนัด เมื่อไม่นำผู้ต้องหาหรือจำเลยมาส่ง อย่างไรก็ดีแม้ว่ากฎหมายจะบังคับเฉพาะคดีที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปีขึ้นไป เช่น ความผิดฐานชิงทรัพย์ เป็นต้น ให้การปล่อยชั่วคราวต้องมีประกัน และจะมีหลักประกันก็ได้ แต่ในทางปฏิบัตินั้น การปล่อยชั่วคราวเกือบทุกคดีจะเรียกทั้งสัญญาประกัน และหลักประกันแม้ว่าคดีจะไม่มีโทษจำคุกเกินสามปีก็ตาม ดังนั้นถ้าท่านจะขอประกันตัวใครจึงต้องเตรียมหลักทรัพย์ไปด้วยเพื่อยื่นขอประกัน
หลักทรัพย์ที่นำมายื่นนั้น ได้แก่ โฉนดที่ดิน หนังสือสำคัญแสดงสิทธิการทำประโยชน์ในที่ดิน (น.ส.๓) หรือ ส.ค.๑ ซึ่งกรณีนี้ต้องให้เจ้าพนักงานที่ดินรับรองราคาประเมินมาด้วย ส่วนหลักทรัพย์อื่นอาจนำมาวางได้ เช่น สมุดฝากเงินประเภทเงินฝากประจำ ตั๋วสัญญาใช้เงิน ใบหุ้นเป็นต้นแต่หลักประกันที่นำมายื่นนี้ต้องมีมูลค่าสูงกว่าจำนวนเบี้ยปรับตามสัญญาประกันหรือถ้าผู้ประกันจะนำเงินสดมาวางไว้ก็สามารถทำได้
อย่างไรก็ดีในปัจจุบัน ตำรวจและศาลมีระเบียบให้บุคคลซึ่งเป็นข้าราชการ นักการเมือง กำนัน หรือข้าราชการส่วนท้องถิ่นในตำแหน่งหน้าที่ราชการประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยได้ภายในวงเงินที่กำหนดในระเบียบ ซึ่งทำให้ผู้ต้องหาและจำเลยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์มาประกัน อันทำให้การขอประกันตัวสำหรับคนยากไร้กระทำได้มากขึ้น
กฎหมายกำหนดให้มีการสั่งคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวโดยเร็ว ถ้าเป็นการขอต่อพนักงานสอบสวนกฎหมายให้สั่งและแจ้งแก่ผู้ร้องขอภายในยี่สิบสี่ชั่วโมงนับแต่เวลาที่ได้รับคำร้อง
เวลาที่ให้ประกันตัวนี้ในกรณีที่อยู่ในระหว่างการควบคุมของพนักงานสอบสวน หรือพนักงานอัยการ แต่ยังไม่ได้มีการฝากขังต่อศาลพนักงานสอบสวนมีอำนาจให้ประกันตัวได้ไม่เกินสามเดือน เว้นแต่เป็นกรณีจำเป็น อาจขยายเป็นหกเดือน ส่วนการให้ประกันในชั้นศาลนั้นไม่มีกำหนดเวลาไว้
ไม่ว่าจะเป็นการขอประกันตัวระหว่างสอบสวน หรือในระหว่างการพิจารณา ในกรณีที่ศาลสั่งไม่ให้ประกันตัว ผู้ขอประกันมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งของศาลดังกล่าวได้ภายในกำหนดหนึ่งเดือน ทั้งนี้ ถ้าเป็นคำสั่งของศาลชั้นต้นให้ยื่นต่อศาลชั้นต้นเพื่อให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาสั่ง ถ้าเป็นคำสั่งของศาลอุทธรณ์ให้ยื่นต่อศาลชั้นต้นเพื่อให้ศาลฎีกาสั่ง แต่ถ้าเป็นคำสั่งของศาลฎีกาให้ถือเป็นที่สุด นอกจากนี้ผู้ขอประกันมีสิทธิที่จะยื่นคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวใหม่ได
้ หน้าที่ของผู้ประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลย คือ ต้องนำผู้ต้องหาหรือจำเลยมาส่งพนักงานสอบสวนหรือศาลซึ่งเป็นผู้ให้ประกันเมื่อได้รับหมายเรียก การส่งนั้นจะต้องส่งภายในกำหนดนัด ถ้าส่งไม่ได้จะต้องถูกปรับตามสัญญา และถ้าผู้ประกันไม่ยอมชำระเบี้ยปรับตามสัญญา เจ้าพนักงานหรือศาลจะบังคับเอาจากหลักประกันที่นำมาวาง กล่าวคือ ถ้าเป็น การนำเงินสดมาวาง จะยึดเงินสดชำระเบี้ยปรับ แต่ถ้าเป็นหลักทรัพย์ อื่นพนักงานสอบสวนต้องฟ้องศาลขอให้บังคับจากหลักประกันนั้น ถ้าเป็นสัญญาประกันที่ทำต่อศาล ศาลที่ให้ประกันมีอำนาจบังคับจากหลักประกันนั้นได้โดยไม่ต้องฟ้องเป็นคดีใหม่ ดังนั้นถ้าท่านผิดนัดไม่อาจนำตัวผู้ต้องหา หรือจำเลยมาส่งเจ้าพนักงานหรือศาลภายในกำหนดนัดได้ ท่านควรจะนำเงินมาชำระค่าเบี้ยปรับ มิฉะนั้นจะถูกบังคับเบี้ยปรับจากหลักทรัพย์ที่ท่านนำมาเป็นประกัน
อย่างไรก็ดี กฎหมายอนุญาตให้ศาลสูงลดเบี้ยปรับให้แก่ผู้ประกันได้ ถ้าภายหลังผู้ประกันได้พยายามขวนขวายเพื่อนำตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยมาส่ง แม้จะเกินกำหนดแล้วก็ตาม ดังนั้น ท่านควรจะตามหาตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยมาส่งแก่ผู้ให้ประกัน แม้จะพ้นกำหนดวันส่งตัวแล้วทั้งนี้เพื่อผลในการอุทธรณ์ให้ศาลลดเบี้ยปรับ
ในกรณีที่ท่านต้องการเลิกสัญญาประกัน ท่านสามารถทำได้ โดยนำตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ท่านขอประกันตัวไปคืนต่อผู้ที่ให้ประกันตัวและขอรับหลักประกันที่นำมาวางคืนได้
ในกรณีที่ผู้ประกันตายก่อนนำผู้ต้องหาหรือจำเลยคืนแก่ผู้ให้ประกันสัญญาประกันเป็นอันระงับ ทายาทของผู้ประกันมีสิทธิขอคืนหลักประกันได้แต่ถ้ามีการผิดสัญญาประกันแล้ว ต่อมาผู้ประกันถึงแก่ความตาย ดังนี้ ทายาทจะขอหลักประกันคืนได้ต่อเมื่อได้ชำระเบี้ยปรับตามสัญญาประกันแล้ว
๔.๑ การยื่นคำร้องขอประกันตัวผู้ต้องหา
ตามนัยประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๑๐ และมาตรา ๑๑๔ วรรคสอง
มาตรา ๑๑๐ "ในคดีมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปีขึ้นไป ผู้ที่ถูกปล่อยชั่วคราวต้องมีประกันและจะมีหลักประกันด้วยหรือไม่ก็ได้ ในคดีอย่างอื่นจะปล่อยชั่วคราวโดยไม่มีประกันเลย หรือมีประกัน หรือมีประกันหลักประกันด้วยก็ได้"
มาตรา ๑๑๔ "เมื่อจะปล่อยชั่วคราวโดยให้มีประกันและหลักประกันด้วยก่อนปล่อยตัวไป ให้ผู้ร้องขอประกันจัดหาหลักประกันมาดั่งต้องการ"
๔.๑.๑ หลักประกันมี ๓ ชนิด คือ
(๑) มีเงินสดมาวาง
(๒) มีหลักทรัพย์อย่างอื่นมาวาง
(๓) มีบุคคลมาเป็นหลักประกันโดยแสดงหลักทรัพย์
๔.๑.๒ หลักทรัพย์ที่ใช้ประกัน
๑. เงินสดเป็นธนบัตรของรัฐบาลไทย
๒. โฉนดที่ดินซึ่งเจ้าพนักงานที่ดินได้ประเมินราคาแล้ว หรือพนักงานสอบสวนเชื่อว่า ที่ดินมีราคาสูงไม่น้อยกว่า ๒ เท่าของจำนวนเงินที่ระบุไว้ในสัญญาประกัน
๓. หนังสือรับรองการทำประโยชน์ น.ส.๓ ก. ซึ่งเจ้าพนังานที่ดินประเมินราคาหรือพนักงานสอบสวนเชื่อว่าที่ดินมีราคาไม่น้อยกว่า ๒ เท่าของจำนวนที่ระบุไว้ในสัญญาประกัน
๔. พันธบัตรของรัฐบาลไทย
๕. สลากออมสินและสมุดฝากเงินประเภทประจำ
๖. ใบรับฝากประจำของธนาคาร
๗. ตั๋วแลกเงินที่ธนาคารเป็นผู้จ่าย และธนาคารผู้จ่ายได้รับรองตลอดไปแล้ว
๘. ตั๋วสัญญาใช้เงินที่ธนาคารเป็นผู้ออกตั๋ว
๙. เช็คที่ธนาคารเป็นผู้สั่งจ่ายหรือรับรอง
๑๐. หนังสือรับรองของธนาคารเพื่อชำระเบี้ยปรับแทน ในกรณีผิดสัญญาประกัน
๔.๑.๓ หลักฐานประกอบ
๑. กรณีที่ผู้ยื่นคำร้องขอประกันเป็นผู้ที่จดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย แล้วต้องให้สามีหรือภรรยาที่เป็นคู่สมรสมีหนังสือรับรองอนุญาตให้ทำสัญญาประกันได้
๒. กรณีที่มีผู้อื่นเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในทรัพย์สินที่จะนำมาเป็นหลักประกัน ต้องให้เจ้าของร่วมมีหนังสือยินยอม ให้นำหลักทรัพย์นั้นมาวางเป็นหลักประกันด้วย
๓. ทุกครั้งที่มาติดต่อกับทางราชการ ควรมีบัตรประจำตัว ที่ทางราชการออกให้มาด้วย
วิธีขอยื่นขอประกัน
๑. ให้ผู้ที่จะมาขอประกันตัวผู้ต้องหาพบ และยื่นคำร้องต่อพนักงานสอบสวนที่จะปฏิบัติหน้าที่อยู่ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของคดีหรือไม่ก็ตาม
๒. หนังสือรับรองของธนาคารเพื่อชำระเบี้ยปรับแทนในกรณีผิดสัญญาประกัน
๓.เมื่อพนักงานสอบสวนรับคำร้องแล้วให้ขอหลักฐานการรับสัญญาประกันซึ่งต้องลงเวลารับคำร้องไว้ด้วย
๔. เจ้าพนักงานจะพิจารณาแจ้งผลการสั่งคำร้องให้เสร็จภายใน ๒๔ ชั่วโมง นับแต่เวลาที่รับคำร้อง
๕. หากไม่ได้รับความสะดวกหรือล่าช้า ให้รีบเข้าพบแจ้งต่อหัวหน้าสถานีตำรวจหรือสารวัตรคนใดคนหนึ่งทราบทันที
๔.๑.๔ การใช้บุคคลเป็นประกันหรือหลักประกันในการปล่อยชั่วคราว
ตามคำสั่งกรมตำรวจ ที่ ๖๒๒/๒๕๓๖ เรื่อง การใช้บุคคลเป็นประกันหรือหลักประกันในการปล่อยชั่วคราว ได้วางหลักเกณฑ์เป็นทางปฏิบัติ ดังนี้
๑. ให้ข้าราชการพลเรือน ระดับ ๓ ถึง ๕ หรือข้าราชการอื่นที่เทียบเท่าข้าราชการหรือข้าราชการตำรวจที่มียศตั้งแต่ร้อยตรี เรือตรี เรืออากาศตรี หรือร้อยตำรวจตรีถึงพันตรี นาวาตรี นาวาอากาศตรี หรือพันตำรวจตรี ทำสัญญาประกันผู้อื่นหรือตนเองได้ในวงเงินไม่เกินหกหมื่นบาท (๖๐,๐๐๐ บาท)
ให้ข้าราชการพลเรือน ระดับ ๖ ถึง ๘ หรือข้าราชการอื่นที่เทียบเท่าข้าราชการทหาร หรือข้าราชการตำรวจที่มียศตั้งแต่พันโท นาวาโท นาวาอากาศโท หรือพันตำรวจโทถึงพันเอก นาวาอากาศเอกหรือพันตำรวจเอก ข้าราชการตุลาการหรือข้าราชการอัยการ ตั้งแต่ชั้น ๑ หรือ ๒ ทำสัญญาประกันผู้อื่นหรือตนเองได้ในวงเงินไม่เกินสองแสนบาท (๒๐๐,๐๐๐ บาท)
ให้ข้าราชการพลเรือน ระดับ ๙ หรือ ๑๐ หรือข้าราชการอื่นที่เทียบเท่าข้าราชการทหาร หรือข้าราชการตำรวจที่มียศตั้งแต่พันเอก นาวาเอก นาวาอากาศเอก หรือพันตำรวจเอกที่ได้รับอัตราเงินเดือน พันเอก (พิเศษ) นาวาเอก (พิเศษ) นาวาอากาศเอก (พิเศษ) หรือ พันตำรวจเอก (พิเศษ) ถึงพลตรี พลเรือตรี พลอากาศตรีหรือพลตำรวจตรี ข้าราชการตุลาการ หรือข้าราชการอัยการ ตั้งแต่ชั้น ๓ ถึง ๔ ทำสัญญาประกันผู้อื่นหรือตนเองได้ในวงเงินไม่เกินห้าแสนบาท (๕๐๐,๐๐๐ บาท)
ให้ข้าราชการพลเรือน ระดับ ๑๑ หรือข้าราชการอื่นที่เทียบเท่าข้าราชการทหาร หรือข้าราชการตำรวจที่มียศตั้งแต่พลโท พลเรือโท พลอากาศโทหรือพลตำรวจโท ข้าราชการตุลาการหรือข้าราชการอัยการ ตั้งแต่ชั้น ๕ ขึ้นไป ทำสัญญาประกันผู้อื่นหรือตนเองได้ในวงเงินไม่เกินหนึ่งล้านบาท (๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท) ข้าราชการดังกล่าวในข้อ ๑ หมายถึงข้าราชการประจำเท่านั้น
๒. ให้ข้าราชการบำนาญตั้งแต่ระดับ ๖ หรือเทียบเท่าขึ้นไป ทำสัญญาประกันผู้อื่น หรือตนเองได้ในวงเงินไม่เกินหกหมื่นบาท (๖๐,๐๐๐ บาท)
๓.ให้พนักงานรัฐวิสาหกิจทำสัญญาประกันผู้อื่นหรือตนเองได้
ในทำนองเดียวกับข้าราชการตามที่ระบุไว้ในข้อ ๑
๔. ให้สมาชิกรัฐสภา ข้าราชการการเมือง หรือผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ทำสัญญาประกันผู้อื่นหรือตนเองได้ในวงเงินไม่เกินหนึ่งล้านบาท (๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท)
๕. ให้สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร สมาชิกสภาจังหวัด สมาชิกสภาเทศบาล สมาชิกสภาเมืองพัทยา สมาชิกสภาเขตกรุงเทพมหานคร กรรมการสุขาภิบาล กำนันและผู้ใหญ่บ้าน ทำสัญญาประกัน ผู้อื่นหรือตนเองได้ในวงเงินไม่เกินหกหมื่นบาท (๖๐,๐๐๐ บาท)
๖. ให้ผู้ที่ขอทำสัญญาประกันตามข้อ ๑ ถึงข้อ ๕ แสดงบัตรประจำตัวต่อพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบพิจารณาอนุญาตโดยไม่ชักช้าในกรณีจำเป็นเพื่อทราบเกี่ยวกับสถานะ ระดับอัตราเงินเดือนหรือภาระผูกพันอื่นใดอาจให้ผู้ยื่นประกันแสดงหนังสือรับรองจากต้นสังกัดและภาระผูกพันนั้นภายในห้าวันนับแต่วันที่ได้รับอนุญาตให้ประกัน
๗. ในกรณีบุคคลตามข้อ ๑ ถึงข้อ ๕ บุคคลใดได้ทำสัญญาประกันผู้อื่นหรือตนเองไว้ แต่หลักประกันยังไม่เป็นการเพียงพอให้ใช้บุคคลตามข้อ ๑ ถึงข้อ ๕ บุคคลอื่นหรือใช้หลักทรัพย์อื่นเป็นประกันเพิ่มเติมได้
๔.๒.๑ คำแนะนำของประธานศาลฎีกาเกี่ยวกับการปล่อย ชั่วคราว พ.ศ. ๒๕๓๑ ตามที่ประธานศาลฎีกาได้ออกคำแนะนำให้ผู้พิพากษาศาลทั้งหลายใช้เป็นแนวทางในการพิจารณาและมีคำสั่งเกี่ยวกับการปล่อยชั่วคราวไว้ ณ วันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๒๓ เพื่อให้การปล่อยชั่วคราวตามที่บัญญัติไว้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๐๖ ถึงมาตรา ๑๑๙ เป็นไปโดยเรียบร้อยเป็นระเบียบเดียวกัน โดยอาศัยบทบัญญัติตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา ๑ วรรคสาม นั้น
เพื่อให้การปฏิบัติในเรื่องปล่อยชั่วคราวตามคำแนะนำที่ได้ให้ไว้ดังกล่าวมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และเป็นธรรม เหมาะสมกับสภาพการณ์ปัจจุบันยิ่งขึ้น สมควรมีการแก้ไขเพิ่มเติมคำแนะนำของประธานศาลฎีกาเกี่ยวกับการปล่อยชั่วคราว พ.ศ. ๒๕๒๓ อีกบางประการ อาศัยอำนาจตามบทบัญญัติพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา ๑ วรรคสาม ประธานศาลฎีกาจึงให้ยกเลิกคำแนะนำของประธานศาลฎีกาเกี่ยวกับการปล่อยชั่วคราว พ.ศ. ๒๕๒๓ และออกคำแนะนำฉบับใหม่สำหรับให้ผู้ พิพากษาศาลทั้งหลายใช้เป็นแนวทางในการพิจารณาและมีคำสั่งเกี่ยวกับการปล่อยชั่วคราวไว้ ดังต่อไปนี้
๑. ควรถือเป็นหลักว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยพึงได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว เว้นแต่จะมีเหตุจำเป็นที่จะต้องควบคุมหรือขังผู้ต้องหาหรือจำเลยนั้นไว้
๒. ควรอำนวยความสะดวกในการร้องขอให้ปล่อยชั่วคราว แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องให้มากที่สุด เมื่อได้รับคำร้องแล้วควรรีบพิจารณาและมีคำสั่งโดยเร็ว
๓.ควรพิจารณาสั่งคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวด้วยความรอบคอบ และระมัดระวังให้คำสั่งเป็นไปในแนวเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงคำสั่งใหม่ควรเป็นเหตุผลใหม่ที่เป็นพิเศษจริงๆ เพื่อป้องกันมิให้เกิน ข้อครหาได้
๔. คำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ควรแสดงเหตุผลตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายโดยชัดแจ้ง ๕. การพิจารณาคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวในชั้นพิจารณา หากปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในชั้นสอบสวนและมิได้ปฏิบัติผิดเงื่อนไขในการปล่อยชั่วคราว ก็ควรนำข้อเท็จจริงดังกล่าวมาประกอบการพิจารณาด้วย
๖. หากผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นเด็กหรือเยาวชน หรือเป็นผู้ที่เชื่อถือได้ว่าจะไม่หลบหนีและจะมาศาลตามกำหนด เช่น มีตำแหน่งหน้าที่ อาชีพการงาน ฐานะ หรือชื่อเสียงเป็นที่เชื่อถือ ก็ควรนำข้อเท็จจริงดังกล่าวมาประกอบการพิจารณาคำสั่งร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวด้วย
๗. ในการปล่อยชั่วคราวควรเรียกหลักประกันแต่พอควรแก่กรณี โดยคำนึงถึงตำแหน่งหน้าที่ อาชีพการงาน ฐานะ หรือชื่อเสียงของผู้ต้องหา หรือผู้เป็นหลักประกัน ตลอดจนความหนักเบาแห่งข้อหา ความร้ายแรงแห่งการกระทำและผลแห่งการกระทำที่ถูกกล่าวหาหรือถูกฟ้อง
๘. คดีที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปีขึ้นไป ประมวล กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๑๐ วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวได้โดยมีประกันแต่ไม่ต้องมีหลักประกันอยู่แล้ว ควรที่จะพิจารณาใช้ดุลพินิจตามที่กฎหมายบัญญัติให้อำนาจไว้อย่างจริงจังด้วย
๙. คดีที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกินสามปี ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๑๐ วรรคสอง บัญญัติให้ศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวได้ โดยมีประกันแต่ไม่ต้องมีหลักประกันอยู่แล้ว ควรที่จะพิจารณาใช้ดุลพินิจตามที่กฎหมายบัญญัติให้อำนาจไว้ให้มาก เพราะคดีดังกล่าวนั้นเมื่อจำเลยมีทนาย จำเลยอาจขอ อนุญาตศาลที่จะไม่มาฟังการพิจารณาและการสืบพยานได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๗๒ ทวิ
๑๐. การรับหลักทรัพย์เป็นหลักประกันไม่ควรจำกัดเฉพาะแต่ที่ดิน หลักทรัพย์มีค่าอย่างอื่น เช่น อาคาร สิ่งปลูกสร้าง พันธบัตร สลากออมสิน ตั๋วแลกเงินที่ธนาคารเป็นผู้จ่ายและผู้จ่ายได้รับรองตลอดไปแล้ว ตั๋วสัญญาใช้เงินที่ธนาคารเป็นผู้ออกตั๋ว เช็คที่ธนาคารเป็นผู้สั่งจ่ายหรือรับรอง หนังสือรับรองของธนาคารที่รับรองว่าจะชำระเบี้ยปรับแทนในกรณีผิดสัญญาประกัน เป็นต้น ก็ควรพิจารณาใช้เป็นหลักประกันได้ด้วย
๑๑. ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๑๔ วรรคสอง บัญญัติให้มีบุคคลเป็นหลักประกันโดยแสดงหลักทรัพย์ได้ด้วย ฉะนั้นจึงควรพิจารณาหลักประกันประเภทนี้ในเมื่อบุคคลนั้นเป็นผู้มีหลักฐาน ตำแหน่งหน้าที่ อาชีพการงาน ฐานะ หรือชื่อเสียงเป็นที่เชื่อถือได้
๑๒.กรณีที่ศาลชั้นต้นต้องรีบส่งคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวไปให้ศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๐๖ (๔) หรือ (๕) ควรจะจัดวางระบบงานให้สามารถรีบปฏิบัติได้ตามกฎหมาย ทั้งนี้โดยไม่จำต้องรอให้มียื่นอุทธรณ์ฎีกา คำแก้อุทธรณ์หรือคำแก้ฎีกาเสียก่อน และควรจะได้กำชับและควบคุมดูแลให้เจ้าหน้าที่รีบส่งคำร้องพร้อมสำนวน หรือสำเนาสำนวนความไปยังศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาโดยเร็ว
๑๓.กรณีที่ส่วนราชการตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการช่วยเหลือข้าราชการ หรือลูกจ้างของทางราชการที่ต้องหาคดีอาญา พ.ศ. ๒๕๒๘ เป็นผู้รับรอง หากจำนวนเงินที่ระบุไว้ในหนังสือรับรองเพียงพอแล้ว สมควรถือว่าหนังสือรับรองนั้นเป็นหลักประกันที่น่าเชื่อถือได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๐๘(๔)
๑๔. กรณีที่ศาลพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยระยะสั้น และเป็นคดีความผิดต่อส่วนตัว แม้ต้องห้ามอุทธรณ์ ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลสมควรใช้ดุลพินิจอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวได้ ทั้งนี้โดยมีประกันและหลักประกัน
กรณีที่พยานบุคคลถูกนำตัวมาศาลตามหมายจับเพื่อเบิกความ หากพยานนั้นรับรองต่อศาลว่าจะมาเป็นพยานตามกำหนดนัด ศาลควรใช้ดุลพินิจอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวได้โดยไม่ต้องมีประกัน หรือโดยมีประกันและหลักประกันในราคาต่ำ
การอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวตามวรรคหนึ่ง และวรรคสอง ต้องไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๐๖ ถึงมาตรา ๑๑๐
๑๕.ศาลควรชี้แจงให้ผู้ที่มาติดต่อกับศาลได้ทราบและเข้าใจวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับ การปล่อยชั่วคราวของศาล และควรสอดส่องดูแลพฤติการณ์ของผู้ที่มีอาชีพในทางติดต่อขอประกันด้วย หากปรากฏว่าบุคคลดังกล่าวคนใดมีพฤติการณ์ในทางไม่ชอบ หรือเอารัดเอาเปรียบราษฎร ศาลควรว่ากล่าวตักเตือนหรือดำเนินการอื่นตามควรแก่กรณีและถ้าเห็นเป็น การสมควรก็ให้แจ้งพฤติการณ์ของบุคคลนั้นให้กระทรวงยุติธรรมทราบ
ให้ไว้ ณ วันที่ ๗ มกราคม ๒๕๓๑
(ลงชื่อ) จำรัส เขมะจารุ
(นายจำรัส เขมะจารุ)
ประธานศาลฎีกา
๔.๒.๒ คำแนะนำของประธานศาลฎีกาเกี่ยวกับการปล่อย ชั่วคราว (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๗ (ประกอบ การพิจารณาตามระเบียบราชการฝ่ายตุลาการ ฉบับที่ ๘ เรื่อง การใช้บุคคลเป็นประกันหรือ หลักประกันในการปล่อยชั่วคราว)
ตามที่ประธานศาลฎีกาได้ออกระเบียบราชการฝ่ายตุลาการ ฉบับที่ ๘ เรื่อง การใช้บุคคลเป็นประกันหรือหลักประกันในการปล่อยชั่วคราว ลงวันที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๓๖ ซึ่งมีผลบังคับใช้ในขณะนี้แล้ว
จากการติดตามผลการบังคับใช้ของระเบียบราชการฝ่ายตุลาการฉบับดังกล่าว พบว่ามีปัญหาและข้อขัดข้องในการปฏิบัติอยู่บ้าง อาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา ๑ วรรคสาม ที่ได้แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระธรรมนูญ ศาลยุติธรรม พุทธศักราช ๒๔๘๒ มาตรา๓ประธานศาลฎีกาจึงออกคำแนะนำสำหรับให้ผู้พิพากษาทั้งหลายใช้เป็นแนวทางในการพิจารณา และมีคำสั่งเกี่ยวกับการปล่อยชั่วคราวเพิ่มเติม ดังต่อไปนี้
๑. กรณีผู้ขอประกันเป็นข้าราชการและต่อมาได้พ้นจากการเป็นข้าราชการแล้ว ก็ยังคงมีสิทธิประกันต่อไปตามสัญญาค้ำประกัน แต่ศาลอาจใช้ดุลพินิจสั่งให้หาหลักประกันเพิ่มหรือดีกว่าเดิมได้
๒.ข้าราชการต้องยื่นคำร้องขิปล่อยผู้ต้องหาหรือจำเลยด้วยตนเองจะมอบอำนาจให้ผู้อื่นยื่นคำร้องแทนไม่ได้
๓. ข้าราชการหลายคนอาจร่วมกันทำสัญญาประกันผู้ต้องหาหรือจำเลยโดยใช้วงเงินของข้าราชการแต่ละคนรวมกันได้ และการยื่นคำร้องขอต้องปฏิบัติตามข้อ ๒ ด้วย
๔. ข้าราชการตำรวจชั้นประทวนซึ่งไม่เทียบเท่าข้าราชการพลเรือน ระดับ ๓ แต่รับราชการมานานจนเงินเดือนเทียบเท่าหรือมากกว่าข้าราชการระดับ ๓ ขึ้นไป กำนัน หรือผู้ใหญ่บ้าน ถือว่าเป็น "บุคคลอื่น" ตามระเบียบราชการฝ่ายตุลาการฯ ข้อ ๔ ซึ่งศาลสามารถใช้ดุลพินิจให้ทำสัญญาประกันผู้ต้องหาหรือจำเลยได้ นอกจากนี้หากบุคคลเหล่านี้เป็น ผู้มีฐานะทางการเงินดี เมื่อศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นที่น่าเชื่อถือก็อาจอนุญาตให้ประกันในวงเงินสูงกว่าข้าราชการ พลเรือนระดับ ๓
๕.การอนุญาตให้ข้าราชการทำสัญญาประกันควรพิจารณาเงินเดือนของผู้ขอประกันเพียงประการเดียว โดยไม่จำเป็นต้องพิจารณาถึงฐานะทรัพย์สินของผู้ขอประกัน
๖. การเปรียบเทียบระดับพนักงานรัฐวิสาหกิจและข้าราชการ การเมือง ซึ่งใช้ตนเองเป็นประกันให้ใช้หลักเกณฑ์ที่กระทรวงการคลังใช้เทียบระดับระหว่างข้าราชการพลเรือนกับพนักงานรัฐวิสาหกิจ
๗.ลูกจ้างประจำหรือลูกจ้างชั่วคราวของส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจใช้ตนเองเป็นประกันหรือหลักประกันตามระเบียบฯ ได้ โดยอาศัยหลักเกณฑ์ตามข้อ ๖
๘. การทำสัญญาประกันที่มีวงเงินประกันสูงกว่ายอดเงินที่ข้าราชการมีสิทธิประกันได้ ข้าราชการผู้นั้นอาจวางเงินหรือหลักทรัพย์อื่นเพิ่มเติมเพื่อให้เพียงพอกับวงเงินประกันนั้น
๙. หนังสือรับรองการเป็นข้าราชการหรือพนักงานรัฐวิสาหกิจ ซึ่งผู้บังคับบัญชาเป็นผู้รับรองให้เป็นไปตามแบบท้ายคำแนะนำ
๙.๑ แบบคำร้องที่แนบคำแนะนำนี้ให้ถือว่าเป็นตัวอย่างโดยสังเขป ผู้ยื่นหนังสือรับรองไม่จำเป็นต้องใช้ถ้อยคำตามแบบทุกตัวอักษร แต่อย่างน้อยให้มีสาระสำคัญครบถ้วนตามแบบ
๙.๒ แม้ผู้รับรองไม่ทราบว่า ผู้ขอประกันมีพันธะใน การค้ำประกันผู้ต้องหาหรือจำเลยคนอื่นอยู่หรือไม่ ก็ถือว่าเป็นหนังสือ รับรองที่ใช้ได้
๙.๓ กรณีฉุกเฉิน ไม่อาจแสดงหนังสือรับรองจาก ผู้บังคับบัญชาได้ทัน สมควรมีการผ่อนผันชั่วคราวไปพลางก่อน โดยอนุญาตให้แสดงหลักฐานอื่น เช่น บัตรประจำตัวข้าราชการและผ่อนเวลาให้เพื่อนำหนังสือรับรองมาแสดงในภายหลัง
๑๐. หนังสือแสดงความยินยอมของคู่สมรสให้เป็นไปตามแบบท้ายคำแนะนำ
๑๐.๑ แม้ตัวอย่างตามแบบมีข้อความว่า คู่สมรสให้ความยินยอมไปจนกว่าคดีจะถึงที่สุด แต่ถือว่าคู่สมรสมีอำนาจถอนความยินยอมเช่นนั้นได้โดยแจ้งให้ศาลทราบ
๑๐.๒ กรณีคู่สมรสไม่ให้ความยินยอม ให้เป็นดุลพินิจของศาลว่าสมควรมีคำสั่งเป็นประการใด
ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๓๗
(ลงชื่อ) ประมาณ ซันซื่อ
(นายประมาณ ซันซื่อ)
ประธานศาลฎีกา
๔.๒.๓ คำแนะนำของประธานศาลฎีกาเกี่ยวกับการปล่อย ชั่วคราวในชั้นอุทธรณ์โดยทางโทรสาร พ.ศ. ๒๕๓๗
ตามบทบัญญัติมาตรา ๑๐๖ และมาตรา ๑๑๙ ทวิ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ในกรณีที่ศาลชั้นต้นอ่านคำ พิพากษาแล้ว แม้ยังไม่มีการยื่นอุทธรณ์หรือมีการยื่นอุทธรณ์แล้วแต่ยังไม่ได้ส่งสำนวนไปยังศาลชั้นอุทธรณ์ จำเลยอาจยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวได้ต่อศาลชั้นต้น ซึ่งหากศาลชั้นต้นเห็นสมควรให้ปล่อยชั่วคราวให้ศาลชั้นต้นต้องรีบส่งคำร้องและสำนวนไปศาลชั้นอุทธรณ์เพื่อสั่งโดยเร็ว หรือในกรณีที่ศาลชั้นต้นส่งสำนวนไปยังศาลชั้นอุทธรณ์แล้ว และจำเลยยื่น คำร้องขอปล่อยชั่วคราวต่อศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นก็ต้องรีบส่งคำร้องนั้นไปยังศาลชั้นอุทธรณ์เพื่อสั่ง และในกรณีที่ศาลชั้นต้นอุทธรณ์ได้ ซึ่งศาลชั้น ต้นที่สั่งรับคำร้องอุทธรณ์คำสั่งต้องรีบส่งคำร้องดังกล่าวพร้อมด้วยสำนวน ความหรือสำเนาสำนวนความเท่าที่จำเป็นยังศาลชั้นอุทธรณ์เพื่อพิจารณาและมีคำสั่งโดยเร็วเช่นเดียวกัน
เพื่อให้การเป็นไปโดยรวดเร็วและให้จำเลยได้รับความคุ้มครองในสิทธิที่จะได้รับการปล่อยชั่วคราวในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นอุทธรณ์สมดังเจตนารมณ์ของกฎหมาย ประธานศาลฎีกาเห็นสมควรออกคำแนะนำแก่ผู้พิพากษาศาลทั้งหลายในการปฏิบัติงานเกี่ยวกับคำร้อง ขอปล่อยชั่วคราวของจำเลยที่อยู่ในอำนาจพิจารณาและมีคำสั่งของศาลชั้นอุทธรณ์ ดังต่อไปนี้
๑.ควรถือเป็นหลักปฏิบัติว่าเมื่อศาลชั้นต้นในต่างจังหวัดได้รับคำร้องขอปล่อยชั่วคราวในชั้นอุทธรณ? หรือคำร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวต่อศาลชั้นอุทธรณ์ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๑๐๖หรือมาตรา๑๑๙ทวิแล้วแต่กรณีให้รีบส่งสำเนาคำร้องดังกล่าวพร้อมสำเนาย่อสำนวนความเท่าที่จำเป็นไปยังศาลชั้นอุทธรณ์ โดยทางโทรสาร (FAX) ในวันเดียวกันกับวันที่ยื่นคำร้องหรืออย่างช้าที่สุดในวันทำการรุ่งขึ้น เว้นแต่ในกรณีที่สำนวนความได้ส่งมายังศาลชั้นอุทธรณ์แล้ว ให้รีบส่งมาเฉพาะสำเนาคำร้องขอปล่อยชั่วคราว โดยให้ระบุรหัสตามที่ศาลชั้นอุทธรณ์ได้แจ้งให้แต่ละศาลทราบ พร้อมลงลายมือชื่อ ระบุชื่อและตำแหน่งผู้พิพากษา หัวหน้าศาลหรือผู้ได้รับมอบหมายจากผู้พิพากษาหัวหน้าศาลแล้วแต่กรณีในต้นฉบับเอกสารทุกแผ่นที่ส่งทางโทรสาร ส่วนต้นฉบับให้รีบส่งมาภายหลังโดยเร็ว โดยในหนังสือนำส่งให้ระบุด้วยว่าส่งมาทางโทรสารเมื่อวันใด
ย่อสำนวนความที่ส่งโทรสารไปยังศาลชั้นต้นอุทธรณ์อย่างน้อยควรต้องมีรายการดังนี้
๑.๑ สำเนาคำร้องขอฝากขังในกรณีที่คดีอยู่ในชั้นฝากขัง
๑.๒ สำเนาคำฟ้องและคำพยานโจทก์ปากสำคัญ (ถ้ามี) ในกรณีที่คดีอยู่ในชั้นพิจารณา
๑.๓ สำเนาคำพิพากษา เฉพาะแผ่นแรกที่มีชื่อโจทก์ จำเลย ส่วนที่อ้างถึงคำขอท้ายฟ้องและส่วนที่เป็นคำวินิจฉัย ในคดีที่ศาลมีคำ พิพากษาแล้ว
๑.๔ จำเลยหรือผู้ต้องหาได้รับการปล่อยชั่วคราวมาก่อนหรือไม่ ราคาประกันเท่าใด
๑.๕ คำคัดค้านของพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการหรือโจทก์
๑.๖ พฤติการณ์ต่างๆ แห่งคดีอื่นใดอันจะเป็นประโยชน์ในการพิจารณาสั่งคำร้องขอปล่อยชั่วคราว ถ้าหากมี เช่น จำเลยน่าจะหลบหนีหรือไม่ ภัยอันตรายหรือความเสียหายที่จะเกิดจากการปล่อยชั่วคราวมีเพียงใดหรือไม่ เป็นต้น
เมื่อศาลชั้นอุทธรณ์ทำคำสั่งเสร็จแล้ว จะโทรศัพท์แจ้งศาลชั้นต้นให้คอยรับโทรสารซึ่งเป็นสำเนาคำสั่งและสำเนารายงานของศาลชั้นอุทธรณ์ เมื่อศาลชั้นต้นได้รับแจ้งทางโทรศัพท์จากศาลชั้นอุทธรณ์
ให้ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลหรือผู้รับมอบหมายจากผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเป็นผู้รับโทรสารคำสั่งคำร้องขอปล่อยชั่วคราวของศาลชั้นต้นอุทธรณ์ที่แจ้งว่าจะส่งต้นฉบับคำสั่งคำร้องของศาลชั้นอุทธรณ์มาภายหลังให้เมื่อได้รับโทรสารแล้ว ให้ผู้รับโทรสารรีบติดต่อทางโทรศัพท์ไปยังศาลชั้นอุทธรณ์เพื่อตรวจสอบความถูกต้องแล้วให้ผู้รับลงลายมือชื่อ ระบุชื่อและตำแหน่งกำกับไว้ในเอกสารที่ได้รับโทรสารจากศาลชั้นอุทธรณ์ทุกแผ่นด้วย ในกรณีที่ผู้ได้รับมอบหมายเป็นผู้รับโทรสารให้รายงานให้ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลทราบ
ให้ศาลชั้นต้นอ่านคำสั่งที่ได้รับทางโทรสารให้จำเลยหรือผู้ประกันฟังในวันที่ได้รับโทรสาร หรืออย่างช้าในวันทำการรุ่งขึ้น และดำเนินการไปตามคำสั่งศาลชั้นอุทธรณ์โดยด่วน ถ้าจะต้องอ่านในวันทำการรุ่งขึ้น ให้ผู้รับโทรสารเก็บคำสั่งและรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นอุทธรณ์ที่ส่งมาทางโทรสาร ใส่ซองปิดผนึกและลงลายมือชื่อคาบซองผนึกไว้
๒.ควรถือเป็นหลักปฏิบัติสำหรับศาลชั้นต้นในกรุงเทพมหานครว่าเมื่อได้รับคำร้องหรืออุทธรณ์คำสั่งขอปล่อยชั่วคราวในชั้นอุทธรณ์ ขอให้ส่งคำร้องหรืออุทธรณ์คำสั่งและสำนวนความที่จะต้องใช้พิจารณาในการขอปล่อยชั่วคราวชั้นอุทธรณ์ ใส่ซองปิดผนึกระบุหน้า ซองให้ชัดเจนว่าเป็นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวชั้นอุทธรณ์นำส่งศาลชั้นอุทธรณ์ในวันเดียวกันหรืออย่างช้าในวันทำการรุ่งขึ้น เว้นแต่ในกรณีที่สำนวนความได้ส่งมายังศาลชั้นอุทธรณ์แล้ว ให้รีบส่งมาเฉพาะคำร้องขอปล่อยชั่วคราว อย่างไรก็ตามหากศาลชั้นต้นในกรุงเทพมหานครมีข้อ ขัดข้องไม่อาจดำเนินการดังกล่าวได้ ก็ให้ปฏิบัติเช่นเดียวกับศาลชั้นต้นในต่างจังหวัดดังที่ระบุไว้ในข้อ ๑ ได้
และเมื่อได้รับซองคำสั่งของศาลชั้นอุทธรณ์ในเรื่องขอปล่อยชั่วคราวแล้วในศาลชั้นต้นในกรุงเทพมหานครอ่านคำสั่งของศาลชั้นอุทธรณ์ดังกล่าวให้จำเลยหรือผู้ประกันฟัง ในวันที่ได้รับซองคำสั่งหรือในวันทำการรุ่งขึ้น และดำเนินการตามคำสั่งศาลชั้นอุทธรณ์โดยด่วน ส่วนในกรณีที่ได้ปฏิบัติไปตามข้อ ๑ การอ่านคำสั่งของศาลชั้นอุทธรณ์ก็ให้ปฏิบัติเช่นเดียวกับที่ได้ระบุไว้ในข้อ ๑
๓. ควรถือเป็นหลักปฏิบัติว่า สำหรับศาลต่างจังหวัดที่อยู่ใกล้กรุงเทพมหานคร ถ้าสามารถดำเนินการตามข้อ ๒ ได้ ก็ขอให้ดำเนินการตามข้อ ๒
ให้ไว้ ณ วันที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๓๗
(ลงชื่อ) ประมาณ ซันซื่อ
(นายประมาณ ซันซื่อ)
ประธานศาลฎีกา
๕. กรณีที่ท่านได้รับหมายเรียกเป็นพยาน
กฎหมายให้อำนาจพนักงานสอบสวนและศาลในการออกหมายเรียกบุคคลใดบุคคลหนึ่ง มาให้ถ้อยคำซึ่งอาจพิสูจน์ความผิดในเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้ ทั้งนี้โดยการออกหมายซึ่งต้องทำเป็นหนังสือเรียกบุคคลนั้นมาที่สถานีตำรวจหรือศาลแล้วแต่กรณี และกำหนดวัน เวลา และสถานที่ไว้ในหมายเรียกนั้น
โดยปกติการส่งหมายเรียก เจ้าพนักงานจะเป็นผู้ส่งโดยนำส่ง ณ ภูมิลำเนาของผู้ที่รับหมาย ถ้าเจ้าพนักงานนำส่ง ณ ภูมิลำเนาของผู้นั้นแล้วพบผู้รับหมายเรียก ก็จะให้ลงชื่อรับทราบ ถ้าผู้รับหมายไม่ยอมรับหมายเรียก เจ้าพนักงานอาจไปหาพนักงานฝ่ายปกครองมาเป็นพยานแล้วขอให้ผู้นั้นรับหมายอีกครั้ง ถ้าผู้นั้นยังไม่ยอมรับอีกเจ้าพนักงานผู้นำส่งจะวางหมายไว้ต่อหน้า ซึ่งถือว่าเป็นการส่งหมายเรียกโดยชอบแล้ว การส่งอีกวิธีหนึ่ง อาจกระทำโดยการส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียน ซึ่งเมื่อมีผู้รับแล้วถือว่าเป็นการส่งหมายเรียกโดยชอบ
ผู้รับหมายเรียกไว้แทนผู้ที่ถูกเรียกตามหมายนั้น อาจเป็นบุคคลที่บรรลุนิติภาวะซึ่งอยู่ในบ้านของผู้รับหมายเรียกก็ได้ ถ้าเจ้าพนักงานได้ส่งให้แก่ผู้นั้น และผู้นั้นยอมลงชื่อรับหมาย ก็ถือว่าเป็นการส่งหมายเรียกโดยชอบ
เมื่อได้รับหมายเรียกโดยชอบแล้ว ผู้รับหมายเรียกมีหน้าที่ต้องไปยังสถานีตำรวจหรือศาลตามหมายเรียกนั้น ตามวันเวลาที่กำหนดในหมาย ถ้าฝ่าฝืนไม่ไปตามกำหนดนัดโดยไม่มีเหตุอันสมควรจะมีความผิดอาญาโดยผู้ฝ่าฝืนหมายเรียกของพนักงานสอบสวน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินห้าร้อยบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าฝ่าฝืนหมาย เรียกของศาล ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ดังนั้น เมื่อท่านได้รับหมายเรียกโดยชอบแล้วไม่ว่าท่านจะได้รับเอง หรือมีผู้รับไว้แทน หรือมีการส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียน ท่านต้องตรวจดูว่าวันที่นัดนั้นเป็นวันอะไร และท่านจะต้องไปที่สถานีตำรวจหรือศาลไหน และต้องไปตามนัด ถ้าท่านมีธุระ สำคัญหรือเจ็บป่วยในเวลาดังกล่าว ต้องรีบแจ้งแก่ผู้ออกหมายเรียกโดยด่วนเพื่อขอเลื่อนนัด มิฉะนั้นท่านจะมีโทษทางอาญา
หน้าที่ของผู้รับหมายเรียก เมื่อไปตามนัด คือต้องให้การต่อพนักงานสอบสวน หรือเบิกความต่อศาลตามความเป็นจริง กล่าวคือ ต้องกล่าวข้อเท็จจริงในเรื่องที่เจ้าพนักงานหรือศาลถามตามที่ได้รู้เห็นมาจริง ถ้าท่านกล่าวไม่ตรงกับที่รู้เห็นมา หรือกล่าวเกินไปจากที่รู้เห็น ท่านจะมีความผิดทางอาญา โดยถ้าเป็นการให้การแก่เจ้าพนักงาน จะมีความผิดฐานแจ้งความเท็จ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าเป็นการเบิกความแก่ศาล ผู้กระทำมีความผิดฐานเบิกความเท็จ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี และปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นสี่พันบาท
ก่อนเบิกความ ศาลจะสั่งให้พยานสาบานหรือปฏิญาณก่อน ท่านต้องกระทำตามโดยมีพนักงานศาลเป็นผู้นำสาบาน ถ้าท่านขัดขืนจะมีความผิดอาญาฐานขัดขืนคำสั่งศาลให้สาบานหรือปฏิญาณ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หลังจากที่ท่านให้การต่อพนักงานสอบสวน หรือเบิกความต่อศาลแล้ว พนักงานสอบสวนหรือศาลจะบันทึกคำเบิกความของท่าน แล้วอ่านให้ท่านฟัง ท่านอาจแก้ไขถ้อยคำและตรวจดูคำให้การของท่านได้แล้วลงชื่อไว้เป็นหลักฐาน อย่างไรก็ดี กฎหมายไม่ได้บังคับให้ท่านต้องลงชื่อในคำให้การ ถ้าท่านไม่ต้องการลงชื่อก็สามารถทำได้ และในกรณี เช่นนี้ พนักงานสอบสวนหรือศาลจะต้องบันทึกไว้ในคำให้การของท่านว่าท่านไม่ยอมลงชื่อ แต่จะบังคับให้ท่านลงชื่อไม่ได้
การที่ท่านไปเป็นพยานศาล ท่านมีสิทธิได้รับค่าป่วยการพยานตามระเบียบที่ทางราชการกำหนด
นอกจากนี้ในรัฐธรรมนูญปัจจุบันยังให้สิทธิพยานในการได้รับการปฏิบัติที่เหมาะสม และได้รับการคุ้มครองจากการที่ต้องมาเป็นพยาน เช่น อาจได้รับการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เป็นต้น
๖. กรณีที่ท่านเป็นผู้ต้องหา
การที่ท่านเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญานั้น หมายความว่ามีคนไปแจ้งความต่อตำรวจว่า ท่านเป็นผู้กระทำความผิดอาญา (ซึ่งความจริงอาจไม่เป็นเช่นนั้น) หรือบางกรณีตำรวจสืบทราบว่าท่านเป็นผู้ต้องสงสัยว่าเป็นผู้กระทำความผิด จึงตกเป็นผู้ต้องหา ดังนั้นในกฎหมายไทยผู้ที่เป็น ผู้ต้องหาได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาว่าเป็นผู้กระทำความผิด และจะปฏิบัติต่อผู้ต้องหาเยี่ยงผู้กระทำผิดไม่ได้ กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ให้สิทธิแก่ผู้ต้องหาไว้หลายประการ ดังนี้
๑) มีสิทธิพบและปรึกษากับทนายความสองต่อสอง
๒) มีสิทธิขอให้ตำรวจจัดหาล่ามให้ ถ้าเป็นคนต่างด้าวไม่เข้าใจภาษาไทย หรือเป็นคนหูหนวก หรือเป็นใบ้ในชั้นสอบสวน
๓) มีสิทธิได้รับการเยี่ยมตามสมควร ซึ่งในทางปฏิบัติ ทางตำรวจหรือราชทัณฑ์จะอนุญาตให้เยี่ยมตามเวลากำหนด
๔) มีสิทธิขอให้ทนายความ หรือบุคคลที่ตนไว้วางใจเข้าฟังการสอบสวนผู้ต้องหาได้
๕) มีสิทธิรับทราบเหตุผลในการที่พนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้องคดีของตนได้
๖) มีสิทธิได้รับการสอบสวนโดยรวดเร็ว ต่อเนื่องและเป็นธรรม
๗) เมื่อถูกสอบสวนพนักงานสอบสวนจะต้องแจ้งข้อกล่าวหาและรายละเอียด แห่งข้อหาให้ทราบก่อนสอบสวน แจ้งให้ทราบว่าถ้อยคำพูดของผู้ต้องหาอาจใช้ยันในชั้นพิจารณาได้ และห้ามมิให้ข่มขู่ ล่อลวง หรือให้สัญญาเพื่อให้ผู้ต้องหาให้การ
ผลของการไม่แจ้งข้อหาก่อนสอบสวน ทำให้การสอบสวนไม่ชอบ อัยการไม่มีอำนาจฟ้อง แต่การที่พนักงานสอบสวนไม่เตือนผู้ต้องหาว่าถ้อยคำพูดอาจใช้เป็นพยานหลักฐานได้ หรือมีการล่อลวง หรือบังคับให้รับสารภาพ คำให้การที่เกิดขึ้นจากการละเมิดสิทธิผู้ต้องหาทั้งสองนี้ไม่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานลงโทษจำเลยได้
ปัจจุบันกฎหมายได้กำหนดให้รัฐจัดหาทนายความให้แก่ผู้ต้องหา ที่มีอายุไม่เกิน ๑๘ ปี ในวันแจ้งข้อหา ซึ่งสอดคล้องกับหลักรัฐธรรมนูญ ที่บัญญัติให้สิทธิไว้ ซึ่งการมีทนายความในระหว่างสอบสวนจึงทำให้ ผู้ต้องหาได้รับการคุ้มครองสิทธิตามที่กล่าวข้างต้นได้ดียิ่งขึ้น
หากท่านตกเป็นผู้ต้องหาและมีอายุเกิน ๑๘ ปี ถ้าท่านต้องการทนายความแต่ไม่มีเงินจ้างทนายความ กฎหมายยังไม่ให้รัฐเป็นผู้จัดหาทนายความให้แก่ท่านจึงควรขอความช่วยเหลือจากสำนักงานช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือของสำนักงานอัยการสูงสุด ซึ่งมีอยู่ทุกจังหวัดหรือของสภาทนายความ เพื่อขอทนายความช่วยเหลือ
๗. กรณีที่ท่านเป็นจำเลย
การเป็นจำเลยในคดีอาญา หมายความว่ามีผู้นำคำฟ้องมายื่นต่อศาล โดยระบุว่าผู้นั้นเป็นผู้กระทำผิดทางอาญาฐานใดฐานหนึ่งและขอ ให้ศาลลงโทษ ซึ่งหลังจากยื่นฟ้องแล้ว ศาลจะเป็นผู้วินิจฉัยจากพยาน หลักฐานที่โจทก์นำสืบและจากพยานหลักฐานที่จำเลยนำสืบโต้แย้งแล้ววินิจฉัยว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดตามฟ้องจริงหรือไม่ ถ้าเห็นว่าไม่มีพยานหลักฐานยืนยันแน่ชัดว่าจำเลยเป็นผู้กระทำผิดศาลก็จะยกฟ้องโจทก์ ปล่อยตัวจำเลยไป ถ้าเห็นว่ามีพยานหลักฐานน่าเชื่อโดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยเป็นผู้กระทำ ศาลจะพิพากษาลงโทษตามฐานความผิดที่พิจารณาได้และไม่เกินกว่าที่โจทก์ขอมา
การที่ผู้นั้นถูกฟ้องต่อศาล กฎหมายสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็น ผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าเป็นผู้กระทำผิด ดังนั้นกฎหมายจึงให้สิทธิแก่จำเลยไว้หลายกรณีดังนี้
๑) แต่งทนายแก้ต่าง ในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง หรือพิจารณาในศาลชั้นต้น ตลอดจนชั้นศาลอุทธรณ์และศาลฎีกา
๒) พูดจากับทนายหรือผู้ที่จะเป็นทนายสองต่อสอง
๓) ตรวจดูสำนวนการไต่สวนมูลฟ้อง หรือพิจารณาของศาลและคัดสำเนา หรือขอสำเนาที่รับรองว่าถูกต้องโดยเสียค่าธรรมเนียม
๔) ตรวจดูสิ่งของที่ยื่นไว้เป็นพยานหลักฐาน และคัดสำเนาหรือถ่ายรูปสิ่งนั้นๆ
๕) ได้รับการช่วยเหลือโดยการที่ศาลตั้งทนายให้โดยมีเงื่อนไขดังนี้
๕.๑) ถ้าจำเลยไม่มีทนาย ในคดีที่มีโทษประหารชีวิต ศาลต้องตั้งทนายให้
๕.๒) ถ้าจำเลยไม่มีทนายและต้องการทนาย ในคดีที่มีอัตราโทษจำคุก เช่น ประมาทเป็นเหตุให้บุคคลอื่นถึงแก่ความตาย เป็นต้น หรือในคดีที่จำเลยมีอายุไม่เกินสิบแปดปีในวันที่ถูกฟ้องต่อศาล ศาลต้องตั้งทนายให้ ทนายที่ศาลตั้งให้ตามหลักข้างต้น จำเลยไม่ต้องเสียค่าทนาย แต่ทนายที่มาช่วยเหลือจะได้รับค่าตอบแทนจากศาลตามระเบียบที่กระทรวงยุติธรรมกำหนด
๖) มีสิทธิให้การหรือไม่ให้การอย่างใดๆ ในระหว่างสอบสวน ไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณา ซึ่งสิทธินี้แตกต่างจากพยานที่ต้องให้การในชั้นสอบสวนหรือพิจารณา การที่จำเลยไม่ให้การหรือตอบคำถามใดๆ ของพนักงานสอบสวนหรือศาล ไม่ทำให้จำเลยมีความผิดทางอาญาดังเช่นพยาน อย่างไรก็ดีในกรณีที่จำเลยมีทนาย และได้รับคำแนะนำจากทนายว่าฟ้องของโจทก์บกพร่องในเรื่องเวลา หรือสถานที่ที่อ้างว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิด จำเลยควรให้การต่อสู้ในเรื่องนี้ เพราะจะทำให้โจทก์แก้ฟ้องไม่ได้ หรือศาลจะอาศัยข้อเท็จจริงเหล่านี้มาลงโทษจำเลยไม่ได้ นอกจากนี้ยังทำให้ศาลต้องยกฟ้องโจทก์ด้วย แต่ถ้าจำเลยไม่มีทนายควรจะหาทนายเพื่อขอคำปรึกษาก่อนที่จะให้การอย่างใดๆ
ข้อที่แตกต่างจากพยานอีกประการคือ กรณีที่ท่านเป็นจำเลยแล้วได้รับหมายเรียกให้มาศาล ถ้าเป็นหมายเรียกในชั้นพิจารณา เมื่อจำเลยไม่มา จำเลยไม่มีความผิดทางอาญาดังเช่นพยาน แต่เป็นเหตุให้ศาลออกหมายจับจำเลย ดังนั้นจำเลยจึงควรมา แต่ถ้าเป็นหมายเรียกให้มาฟังการพิจารณาในชั้นไต่สวนมูลฟ้องในคดีที่ราษฎรเป็นโจทก์ จำเลยมีสิทธิไม่มาฟัง การไต่สวนมูลฟ้องได้ เพราะกฎหมายไม่บังคับให้จำเลยต้องมา ดังนั้นเมื่อจำเลยไม่มา จำเลยก็ไม่มีความผิดทางอาญา แต่จำเลยควรแต่งทนายเข้ามาซักค้านพยานฝ่ายโจทก์ว่า คดีของโจทก์ที่ฟ้องจำเลยไม่มีมูลความจริง อย่างไรก็ดี การซักค้านนี้จำเลยหรือทนายไม่มีสิทธินำพยานมานำสืบพิสูจน์ คงมีสิทธิเพียงซักค้านพยานของโจทก์เท่านั้น
๗) ตามกฎหมาย การพิจารณาคดีต้องกระทำโดยเปิดเผย และต่อหน้าจำเลย กล่าวคือ จะต้องกระทำในห้องพิจารณาซึ่งเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าฟังการพิจารณาได้ และต้องกระทำขณะที่จำเลยอยู่ในห้องพิจารณา ทั้งนี้เพื่อให้จำเลยทราบว่าตนถูกกล่าวหาว่าอย่างไร จึงจะแก้ตัวได้ถูกต้อง อย่างไรก็ดี การพิจารณาอาจกระทำโดยไม่มีจำเลยอยู่ก็ได้ในกรณีต่อไปนี้
๗.๑) ในคดีที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกินสิบปี เช่น ความผิดฐานทำร้ายร่างกายบาดเจ็บสาหัส หรือในคดีที่มีโทษปรับสถานเดียว เช่น ความผิดฐานสูบบุหรี่ในเขตปลอดบุหรี่ เป็นต้น เมื่อจำเลยมีทนายและจำเลยได้รับอนุญาตจากศาลที่จะไม่มาฟังการพิจารณาและการสืบพยาน ๗.๒) ในคดีที่มีจำเลยหลายคนถ้าศาลพอใจตามคำแถลงของโจทก์ว่า การพิจารณาและการสืบพยานตามที่โจทก์ขอให้กระทำไม่เกี่ยวข้องกับจำเลยคนใด ศาลจะพิจารณาและสืบพยานลับหลังจำเลยคนนั้นได้
๗.๓) ในคดีที่มีจำเลยหลายคน ถ้าศาลเห็นสมควรจะพิจารณาและสืบพยานจำเลยคนหนึ่งๆ ลับหลังจำเลยคนอื่นก็ได้ อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ ๗.๒) และ ๗.๓) คำพยานที่นำสืบลับหลังจำเลยนั้น ศาลจะนำมาฟังเป็นผลร้ายแก่จำเลยที่ไม่ได้มาฟังการพิจารณาไม่ได้
๗.๔)ในคดีที่จำเลยขัดขวางการพิจารณาคดีของศาลและศาลมีคำสั่งให้จำเลยออกนอกห้องพิจารณา ศาลมีอำนาจสืบพยานลับหลังจำเลยนั้นได้
๗.๕) ในกรณีที่มีการส่งประเด็นไปสืบยังศาลอื่นหรือการเดินเผชิญสืบนอกศาล และจำเลยแถลงต่อศาลว่าไม่ติดใจไปฟังการพิจารณา ศาลที่รับประเด็นมีอำนาจสืบพยานลับหลังจำเลยได้ ในกรณีนี้จำเลยควรยื่นคำถามหรือคำซักเป็นหนังสือแทนการไปฟังการพิจารณา
๗.๖) ในการพิจารณาในชั้นอุทธรณ์ หรือชั้นฎีกา ซึ่งไม่ใช่นัดแถลงการณ์ ทั้งนี้เพราะในศาลสูงไม่ได้มีการสืบพยาน เพียงแต่ตรวจสำนวนแล้ววินิจฉัยคดีตามรูปความเท่านั้น
๘) จำเลยมีสิทธิอุทธรณ์ ฎีกาได้ ตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด โดยทำเป็นคำฟ้องอุทธรณ์ หรือคำฟ้องฎีกายื่นต่อศาลชั้นต้นภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ศาลอ่านคำพิพากษาให้คู่ความฟัง แต่ในบางคดีศาลอาจพิพากษาโดยไม่ต้องสืบพยานโจทก์ แต่อาศัยคำให้การรับสารภาพของจำเลยได้ ทั้งนี้ ความผิดนั้นต้องเป็นความผิดซึ่งมีอัตราโทษจำคุกขั้นต่ำไม่ถึงห้าปี หรือไม่มีโทษจำคุกขั้นต่ำเลย เช่น ความผิดฐานฉ้อโกง ความผิดฐานข่มขืน เป็นต้น ถ้าจำเลยให้การรับสารภาพว่าได้กระทำความผิดในชั้นพิจารณา ศาลมีอำนาจพิพากษาคดี โดยไม่
๙) โดยปกติโจทก์จะต้องนำพยานมาสืบให้ศาลเห็นว่าจำเลยเป็นผู้กระทำผิด ต้องสืบพยานโจทก์ได้ ดังนั้น การที่ท่านจะให้การรับสารภาพในชั้นพิจารณาควรปรึกษากับทนายความก่อนว่าตามข้อเท็จจริงนั้น ท่านมีทางต่อสู้คดีเพื่อมิให้ต้องรับผิดได้หรือไม่ ถ้าไม่มี แต่จะขอความกรุณาจากศาลในการลดโทษ หรือรอการลงโทษ ก็ควรให้การรับสารภาพ
๑๐) ในกรณีที่ท่านตกเป็นจำเลย ท่านสามารถนำเสนอพยานหลักฐานมานำสืบต่อศาล เพื่อหักล้างพยานฝ่ายโจทก์ได้ การนำสืบหักล้างพยานฝ่ายโจทก์นี้ อาจเป็นการนำพยานเอกสารมาแสดงต่อศาลว่าจำเลยมิได้อยู่ในที่เกิดเหตุ หรือการกระทำของจำเลยมิได้เป็นไปตามที่โจทก์กล่าวหา
นอกจากนี้อาจนำสืบพยานบุคคล เพื่อจะชี้ว่าพยานฝ่ายโจทก์ให้การคลาดเคลื่อน หรือไม่ตรงกับที่โจทก์ฟ้อง อย่างไรก็ดีพยานบุคคลที่จำเลยนำมาสืบนี้ ต้องเป็นพยานบุคคลที่รู้เห็นเหตุการณ์ที่เกี่ยวกับคดี และถ้าเป็นพยานคนกลางที่ไม่ได้มีส่วนได้เสียกับฝ่ายใด ก็จะทำให้มี น้ำหนักมากขึ้น
๑๑) ในชั้นบังคับคดีโดยปกติต้องบังคับโทษจำคุกโทษปรับในทันที แต่สำหรับโทษประหารชีวิตนั้น กฎหมายให้โอกาสนักโทษประหารชีวิตที่จะขอพระราชทานอภัยโทษต่อพระมหากษัตริย์ โดยยื่นคำร้องต่อพัสดีเรือนจำภายในหกสิบวัน เพื่อให้ส่งไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเพื่อทำ ความเห็นและนำทูลเกล้าขอพระราชทานอภัยโทษ ในกรณีที่พระมหากษัตริย์ทรงพระราชทานอภัยโทษ ผู้นั้นจะได้รับการงดโทษประหารชีวิตแต่ให้ลง โทษจำคุกตลอดชีวิตแทน ถ้าไม่ได้รับการพระราชทานอภัยโทษผู้นั้นจะต้องถูกประหารชีวิตทันที เว้นแต่ผู้ต้องโทษจะตกเป็นคนวิกลจริต หรือเป็นหญิงมีครรภ์ กฎหมายให้รอไว้จนกว่าจะหายหรือคลอดบุตรแล้ว สำหรับกรณีคนวิกลจริต ถ้าหายจากวิกลจริตหลังจากมีคำพิพากษาหนึ่ง ปีให้เปลี่ยนโทษประหารชีวิตเป็นโทษจำคุกตลอดชีวิต
สำหรับโทษจำคุก นักโทษอาจยื่นขอพระราชทานอภัยโทษได้ แต่การยื่นขอนี้ไม่ทำให้ชะลอการรับโทษจำคุก นอกจากนี้ถ้าคำขอนั้นถูกยกจะยื่นใหม่อีกไม่ได้จนกว่าจะพ้นสองปีนับแต่วันที่ถูกยกครั้งก่อน ดังนั้น ถ้าท่านเป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้ต้องโทษประหารชีวิต ท่านต้องยื่นเรื่องราวขอพระราชทานอภัยโทษภายในหกสิบวัน
อัตราหลักทรัพย์ที่ขอประกันตัวผู้ต้องหา/จำเลย
ข้อหา วงเงินที่ประกัน (ประมาณ) บาท
๑. ขัดขืนหมาย, คำสั่งศาลมาเบิกความ
๕๐,๐๐๐ ขึ้นไป

๒. วางเพลิง
๑๕๐,๐๐๐-๓๐๐,๐๐๐
๓. เจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
๑๐๐,๐๐๐-๒๐๐,๐๐๐
๔. ปลอมเอกสาร
๑๐๐,๐๐๐ ขึ้นไป
๕. ปลอมเอกสารสิทธิ, เอกสารราชการ, ใช้เอกสารปลอม,ทำลายเอกสาร
๑๐๐,๐๐๐-๒๐๐,๐๐๐
๖. ข่มขืนกระทำชำเรา
๑๕๐,๐๐๐-๒๐๐,๐๐๐
๗. โทรมหญิง, กระทำชำเราเด็กหญิง
๓๐๐,๐๐๐-๔๐๐,๐๐๐
๘. อนาจาร
๘๐,๐๐๐-๒๐๐,๐๐๐
๙. ฆ่าผู้อื่น
๓๕๐,๐๐๐ ขึ้นไป
๑๐. ฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรอง
๓๕๐,๐๐๐ ขึ้นไป
๑๑. พยายามฆ่า
๒๐๐,๐๐๐ ขึ้นไป
๑๒. ขับรถประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่น ถึงแก่ความตายหรือสาหัส
๑๕๐,๐๐๐-๒๐๐,๐๐๐
๑๓. ทำร้ายร่างกายบาดเจ็บสาหัส
๑๐๐,๐๐๐-๑๕๐,๐๐๐
๑๔. ประมาททำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย หรือสาหัส
๑๐๐,๐๐๐-๑๕๐,๐๐๐
๑๕. ลักทรัพย์, รับของโจร, วิ่งราวทรัพย์ (พิจารณาราคาทรัพย์ประกอบ)
๘๐,๐๐๐-๒๐๐,๐๐๐
๑๖. ชิงทรัพย์, ปล้นทรัพย์
๒๐๐,๐๐๐-๓๐๐,๐๐๐
๑๗. ชิงทรัพย์, ปล้นทรัพย์ (โดยมีเหตุฉกรรจ์)
๓๐๐,๐๐๐ ขึ้นไป
๑๘. บุกรุก, ทำให้เสียทรัพย์
๑๐๐,๐๐๐ ขึ้นไป
๑๙. ฟ้องเท็จ, แจ้งความเท็จ, ขึ้นไป เบิกความเท็จ, หมิ่นประมาท, ความผิดต่อเสรีภาพ, ซ่องโจร, ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ (พิจารณาราคาทรัพย์ประกอบ)
๗๐,๐๐๐-๑๐๐,๐๐๐
๒๐. ฉ้อโกง, ยักยอก, โกงเจ้าหนี้
๗๐,๐๐๐-๓๐๐,๐๐๐
๒๑. ฉ้อโกงประชาชน
๑๕๐,๐๐๐-๒๐๐,๐๐๐
๒๒. มี, เสพ, ครอบครองกัญชา, ฝิ่น
๑๐๐,๐๐๐-๒๐๐,๐๐๐
๒๓. จำหน่าย, ผลิต, มีไว้เพื่อจำหน่ายกัญชา, ฝิ่น
๑๐๐,๐๐๐-๓๐๐,๐๐๐
๒๔. มี,เสพเฮโรอีน - ไม่เกิน ๑ กรัม - เกิน ๑ กรัม แต่ไม่เกิน ๕ กรัม
๘๐,๐๐๐-๒๐๐,๐๐๐ ๑๐๐,๐๐๐-๓๐๐,๐๐๐ขึ้นไป
๒.๕ จำหน่ายหรือมีไว้เพื่อจำหน่ายเฮโรอีน - ไม่เกิน ๑ กรัม - เกิน ๑-๕ กรัม - เกิน ๕-๑๐ กรัม - เกิน ๑๐-๒๐ กรัม - เกิน ๒๐ กรัมขึ้นไป
๑๕๐,๐๐๐-๒๐๐,๐๐๐ ขึ้นไป ๒๐๐,๐๐๐ ขึ้นไป ๓๐๐,๐๐๐ ขึ้นไป ๔๐๐,๐๐๐ ขึ้นไป ๕๐๐,๐๐๐ ขึ้นไป
๒๖. มี, เสพเมทแอมเฟตามีนหรือยาบ้า - ไม่เกิน ๕ เม็ด - ๑๑๖-๑๐ เม็ด - ๑๑-๒๐ เม็ด - ๒๑-๕๐ เม็ด  - ๕๑ เม็ดขึ้นไป
๘๐,๐๐๐-๑๐๐,๐๐๐ ๑๐๐,๐๐๐-๑๕,๐๐๐ ๑๕๐,๐๐๐-๒๐๐,๐๐๐ ๒๐๐,๐๐๐-๓๐๐,๐๐๐ ๔๐๐,๐๐๐ ขึ้นไป
๒๗. จำหน่าย, มีไว้เพื่อจำหน่าย เมทแอมเฟตามีนหรือยาบ้า - ๑-๑๐ เม็ด - ๑๑-๕๐ เม็ด - ๕๑-๑๐๐ เม็ด - ๑๐๑ เม็ดขึ้นไป

๒๐๐,๐๐๐ ขึ้นไป ๓๐๐,๐๐๐ ขึ้นไป ๔๐๐,๐๐๐ ขึ้นไป ๕๐๐,๐๐๐ ขึ้นไป
๒๘. พ.ร.บ.อาวุธปืน, มี, พกพา - มีกระสุนปืน - มีอาวุธสงคราม - มีวัตถุระเบิด (พิจารณาจำนวนอาวุธประกอบ)
๘๐,๐๐๐-๒๐๐,๐๐๐ ๕๐,๐๐๐ ขึ้นไป ๑๐๐,๐๐๐-๓๐๐,๐๐๐ ๒๐๐,๐๐๐-๓๐๐,๐๐๐
๒๙. พ.ร.บ.คนเข้าเมือง - หลบหนีเข้าเมือง, อยู่โดยไม่ได้รับอนุญาต - ช่วยเหลือ ซ่อนเร้นคนต่างด้าว
๘๐,๐๐๐ ขึ้นไป ๘๐,๐๐๐ ขึ้นไป
๓๐. พ.ร.บ.ป่าไม้ (พิจารณาจำนวนไม้ประกอบ)
๑๐๐,๐๐๐-๓๐๐,๐๐๐
๓๑. พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า
๑๐๐,๐๐๐-๔๐๐,๐๐๐
๓๒. พ.ร.บ.จัดหางาน
ฉ้อโกงประชาชน (ถ้าจำนวนเงินที่ฉ้อโกง สูงศาลอาจเรียกหลักประกันสูงกว่านี้)
๑๕๐,๐๐๐-๒๐๐,๐๐๐

กรณีไม่ได้รับความเป็นธรรมจากข้าราชการตำรวจ
ผู้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมหรือได้รับความเสียหายจากการปฏิบัติงานของข้าราชการตำรวจ สามารถร้องเรียนขอรับความเป็นธรรมได้ดังนี้ คือ
๑. สำนักงานเลขานุการ ตำรวจแห่งชาติ อาคาร ๑๗ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ถนนพระราม ๑ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ ๑๐๓๓๐ โทร. ๒๐๕-๑๑๘๔, ๒๐๕-๑๒๙๙, ๒๐๕-๑๓๘๑
๒. แผนกรับเรื่องราวร้องทุกข์ กองบัญชาการตำรวจนครบาล ถนนศรีอยุธยา วังปารุสกวัน เขตดุสิต กรุงเทพฯ ๑๐๓๐๐ โทร. ๒๘๐-๕๐๖๐-๗๙ ต่อ ๓๕๒๓
๓. งาน ๒ ประชาสัมพันธ์รับเรื่องราวร้องทุกข์ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง อาคาร ๘ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ถนนอังรีดูนังต์ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ ๑๐๓๓๐ โทร. ๒๐๕-๑๘๐๙
๔. งาน ๗ รับเรื่องราวร้องทุกข์ กองปราบปราม ถนนพหลโยธิน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ ๑๐๙๐๐ โทร. ๕๑๓-๔๙๔๙ (๒๐๖๗, ๒๐๒๗)
๕. ผู้กำกับการ หรือหัวหน้าสถานีตำรวจแต่ละสถานี หรือผู้บังคับการของหน่วยงานแต่ละหน่วย หรือผู้บัญชาการของกองบัญชาการของแต่ละแห่ง
ข้อตกลงระหว่างสำนักงานตำรวจแห่งชาติกับสภาทนายความ เรื่อง แนวทางปฏิบัติกรณีผู้ต้องหาใช้สิทธิให้ทนายความ เข้าฟังการสอบปากคำของตน ตามรัฐธรรมนูญแห่ง ราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๒๔๑
เนื่องด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๒๔๑ วรรคสอง บัญญัติว่า "ในชั้นสอบสวน ผู้ต้องหามีสิทธิให้ทนายความหรือผู้ซึ่งตนไว้วางใจเข้าฟังการสอบปากคำตนได้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติและสภาทนายความ จึงได้ร่วมกันกำหนดแนวทางปฏิบัติในกรณีผู้ต้องหาใช้สิทธิให้ทนายความเข้าฟังการสอบปากคำของตนไว้ดังต่อไปนี้
๑. ทนายความที่จะเข้าฟังการสอบปากคำต้องเป็นสมาชิกของสภาทนายความ และให้แสดงบัตรประจำตัวทนายความต่อพนักงานสอบสวนก่อน
๒. ทนายความตามข้อ ๑ สามารถเข้าฟังการสอบปากคำผู้ต้องหาในคดีอาญาทุกประเภท เมื่อผู้ต้องหาต้องการใช้สิทธิของตน
๓. สภาทนายความมีหน้าที่แจ้งรายชื่อ ที่อยู่ และหมายเลขโทรศัพท์ของทนายความอาสาให้พนักงานสอบสวนทุกท้องที่ในเขตศาลจังหวัดทุกจังหวัดรวมทั้งกรุงเทพมหานครทราบล่วงหน้า
๔. ก่อนเริ่มสอบปากคำผู้ต้องหา ให้พนักงานสอบสวนถามผู้ต้องหาว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มี และผู้ต้องหาต้องการทนายความเข้าฟังการสอบปากคำของตน ก็ให้พนักงานสอบสวนแจ้งไปยังสภาทนายความสำหรับในเขตกรุงเทพมหานคร หรือประธานทนายความจังหวัดสำหรับจังหวัดอื่น เพื่อจัดหาทนายความให้ผู้ต้องหาโดยเร็ว และให้กรรมการบริหารสภาทนายความประจำภาคทุกภาค มีหน้าที่ประสานงานในเรื่องการจัดหาทนายความในเขตศาลจังหวัดที่รับผิดชอบ เพื่อให้เกิดความสะดวกแก่ทนายความอาสาที่จะต้องเดินทางไปยังที่ทำการของพนักงานสอบสวนตามที่แจ้งมา
การแจ้งให้ทำเป็นหนังสือ กำหนดวัน เวลา สถานที่ที่จะสอบปากคำผู้ต้องหา เว้นแต่ในกรณีเร่งด่วนจะแจ้งทางโทรศัพท์ หรือเครื่องมือสื่อสารชนิดอื่นก็ได้ และให้พนักงานสอบสวนบันทึกการแจ้งไว้ ให้นายกสภาทนายความหรือผู้ที่นายกสภาทนายความมอบหมายสำหรับกรุงเทพมหานคร เป็นผู้จัดหาทนายความอาสา สำหรับในต่างจังหวัดให้เป็นหน้าที่ของกรรมการบริหารสภาทนายความประจำภาค หรือประธานทนายความจังหวัดแล้วแต่กรณี จัดทนายความอาสาให้แก่ผู้ต้องหาตามที่พนักงานสอบสวนแจ้งมา และให้แจ้งให้พนักงานสอบสวน ทราบโดยเร็ว
๕. ถ้าทนายความที่ได้รับแจ้ง ตามข้อ ๔ วรรคสาม ไม่มาฟังการสอบปากคำผู้ต้องหา โดยไม่แจ้งเหตุขัดข้องให้พนักงานสอบสวนทราบ ให้พนักงานสอบสวนบันทึกเหตุขัดข้องไว้ และหากรอการสอบสวนปากคำไว้จะทำให้เกิดความเสียหาย ให้ดำเนินการสอบปากคำผู้ต้องหาไปตามอำนาจหน้าที่ พร้อมกับให้แจ้งไปยังนายกสภาทนายความ หรือผู้ที่นายกสภาทนายความมอบหมายสำหรับในเขตกรุงเทพมหานคร ส่วนในจังหวัดอื่นให้แจ้งไปยังกรรมการบริหารสภาทนายความประจำภาคหรือประธานทนายความจังหวัด เพื่อจัดหาทนายความอาสามาร่วมฟังการสอบปากคำผู้ต้องหาโดยเร็ว
๖. ก่อนเริ่มทำการสอบปากคำผู้ต้องหา พนักงานสอบสวนจะต้องให้โอกาสผู้ต้องหาพบและปรึกษาทนายความเป็นการเฉพาะตัว เพื่อการปรึกษาและให้คำแนะนำเป็นเวลาพอสมควร
๗. จำนวนทนายความที่จะเข้าฟังการสอบปากคำให้มีอย่างน้อยหนึ่งคน ต่อหนึ่งคดี ในคดีใดที่มีผู้ต้องหาหลายคน หรือเป็นคดีสำคัญก็ให้ทนายความเข้าฟังการสอบปากคำได้ตามความจำเป็นและเหมาะสมต่อการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานสอบสวน
๘. ทนายความที่เข้าฟังการสอบปากคำไม่มีหน้าที่ตอบคำถามแทนผู้ต้องหา เว้นแต่คำถามนั้นไม่ชัดเจน ทนายความอาจทักท้วงขอให้พนักงานสอบสวนอธิบายหรือชี้แจงเพิ่มเติมได้ และจะต้องไม่กระทำการใดอันเป็นการรบกวนหรือขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานสอบสวนในการสอบปากคำผู้ต้องหา
๙. ถ้าทนายความที่เข้าฟังการสอบปากคำผู้ต้องหาเห็นว่า การสอบปากคำผู้ต้องหาของพนักงานสอบสวนไม่ชอบด้วยกฎหมายใด อาจคัดค้านหรือทักท้วงการสอบปากคำของพนักงานสอบสวนได้ และก่อนที่พนักงานสอบสวนจะสอบปากคำหรือตั้งคำถามผู้ต้องหาต่อไป ให้พนักงานสอบสวนจดข้อคัดค้านหรือข้อทักท้วงลงไว้ในบันทึกการสอบปากคำ หรือจะให้ทนายความยื่นคำคัดค้านหรือคำทักท้วงเป็นหนังสือ เพื่อรวมไว้ในสำนวนการสอบสวนก็ได้
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ ๑๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๒ เป็นต้นไป
(ลงชื่อ) พลตำรวจเอก ประชา พรหมนอก
(ลงชื่อ) สัก กอแสงเรือง (ประชา พรหมนอก) (นายสัก กอแสงเรือง)
ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาตินายกสภาทนายความ

ที่มา http://www.tulawcenter.com/