สื่อมวลชนกับการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล

ในระยะหลายปีที่ผ่านมา แนวคิดเกี่ยวกับสิทธิส่วนบุคคล (Right of Privacy) ดำเนินไปสู่ความสับสนยิ่งขึ้น ในขณะที่สังคมอุตสาหกรรมได้แยกย่อยคนออกตามความชำนาญเฉพาะด้าน ทำให้วิถีชีวิตของมนุษย์ต้องเผชิญกับความแปลกแยกโดดเดี่ยวต่อกันมากขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อน และเราก็เริ่มที่จะยอมรับชินชากับมัน แต่ในขณะเดียวกัน เทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่ก็ทำให้ระบบการตรวจสอบเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งกว่าที่เคยมีมา

ผลก็คือในบัตรประจำตัวใบเดียว เมื่อนำเข้าเครือข่ายคอมพิวเตอร์ประมวลผลก็สามารถรู้ประวัติตลอดชีวิตของเราได้ กล้องซึ่งมีขนาดที่เล็กลงแต่มีประสิทธิภาพสูงยิ่งขึ้นทำให้สามารถแอบติดตั้งได้ทุกที่ และสามารถสำรวจดูกิจกรรมส่วนตัวของผู้อื่นได้มากยิ่งขึ้น หรือ internet แม้จะทำให้เราสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายขึ้น แต่แฮกเกอร์ (hacker) ก็ทำให้เรารู้ว่า ข้อมูลส่วนตัวของเราไม่มีความปลอดภัยใด ๆ เลยในโลกของไซเปอร์สเปส (cyberspace) แม้บริษัทที่ให้บริการหลายแห่งจะพยายามยืนยันถึงความปลอดภัยของระบบของเขาก็ตาม
ในรอบทศวรรษที่ผ่านมา มีกรณีเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลเกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะการติดตั้งกล้อง Spy Camera หรือกล้องขนาดเล็กในห้องเปลี่ยนเสื้อผ้าผู้หญิงในห้างสรรพสินค้า การติดตั้งกล้องขนาดเล็กตามโรงแรมต่าง ๆ เพื่อแอบดูกิจกรรมทางเพศของผู้อื่น การถ่ายภาพของผู้เสียชีวิตที่ไม่คำนึงถึงศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ (Dignity) ของเขา รวมไปถึงกรณีโศกนาฏกรรมของเจ้าหญิงไดอานา ที่ถูกช่างภาพอิสระตามรบกวนถ่ายภาพตลอดชีวิตของเธอ แม้กระทั่งลมหายใจสุดท้าย ภาพการตายของเธอก็ยังถูกคาดหวังว่าจะเป็นสินค้าได้ กรณีต่าง ๆ เหล่านี้ ทำให้เกิดการตื่นตัวในเรื่องของการเรียกร้องสิทธิส่วนบุคคลมากยิ่งขึ้น ในประเทศไทย สิทธิส่วนบุคคลได้ถูกรับรองการมีอยู่อย่างชัดเจนในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ในมาตรา 34 ซึ่งนับว่าเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์กฎหมายไทยที่มีบทบัญญัติในลักษณะเช่นนี้ออกมา
สื่อมวลชนเป็นวิชาชีพที่ต้องอยู่กึ่งกลางระหว่างการแสวงหาข่าวสารเพื่อนำเสนอต่อประชาชน แต่อีกด้านหนึ่งก็คือ การแสวงหาข่าวสารดังกล่าวนั้นต้องไม่ล่วงละเมิดเข้าไปสู่สิทธิส่วนบุคคล ความสับสนระหว่างการหาข่าวสารที่สื่อทำหน้าที่มากเกินไปและน้อยเกินไปนี้นำไปสู่ความสับสนของนักวิชาชีพอยู่เสมอ โดยเฉพาะในยุคสมัยที่สิทธิส่วนบุคคลกำลังเป็นประเด็นที่ถูกพิจารณา ดังนั้นจึงควรที่เราจะต้องศึกษาทบทวนองค์ความรู้เกี่ยวกับสิทธิส่วนบุคคลว่าสื่อควรมีวิธีคิดอย่างไรกับมัน

สิทธิส่วนบุคคลกับสังคมไทย
สำหรับในสังคมไทย วิธีคิดเกี่ยวกับสิทธิส่วนบุคคลในปัจจุบันเป็นเรื่องใหม่ วิธีคิดเกี่ยวกับเรื่องส่วนบุคคลในสังคมไทยแต่เดิมไม่ได้แยกขาดออกจากเรื่องสาธารณะอย่างชัดเจนเหมือนในสังคมแบบอุตสาหกรรม แต่จะมีลักษณะที่มีความกำกวมอยู่ในตัวเอง เช่นการอาบน้ำในสมัยก่อน มักอาบน้ำกันตามท่าน้ำริมแม่น้ำลำคลอง ดังนั้นแม้การอาบน้ำจะเป็นเรื่องส่วนตัว แต่ก็กระทำในพื้นที่อันเป็นสาธารณะ การแอบดูผู้อื่นอาบน้ำในสมัยก่อนจึงไม่ใช่ความผิดที่ร้ายแรงนัก สามารถยอมรับกันได้ในระดับหนึ่ง เช่นในวรรณคดีหลายเรื่อง ขณะที่นางเอกกำลังอาบน้ำ พระเอกเผอิญผ่านมาเห็น ก็ชมความงามของนางเองในขณะอาบน้ำ โดยบรรยายเป็นถ้อยคำที่ไพเราะ โดยผู้อ่านวรรณคดีไม่ได้รู้สึกว่า ชายผู้นี้กำลังมีพฤติกรรมที่เรียกว่า “ถ้ำมอง” หรือเป็นโรคจิต แต่ก็ไม่ใช่หมายความว่าการอาบน้ำเป็นเรื่องสาธารณะ เพราะผู้อาบน้ำจะนุ่งโสร่งหรือผ้าถุง ซึ่งเป็นการปกปิดบางส่วนที่ถือว่าเป็นเรื่องส่วนตัว ดังนั้นการอาบน้ำจึงกำกวม เป็นทั้งเรื่องของสาธารณะและเป็นทั้งเรื่องส่วนตัว แต่ในปัจจุบัน การอาบน้ำถูกแยกขาดจากสาธารณะ เป็นการกระทำในพื้นที่ส่วนตัว ซึ่งหากใครแอบดู จะถือว่าเป็นสิ่งที่ยอมรับกันไม่ได้เลย
นอกจากนี้ วิธีคิดถึงการกำหนดความหมายของคนในสังคมไทยก็มีความเปลี่ยนแปลงไป สังคมไทยเป็นสังคมที่ไม่ได้มองความหมายของบุคคลที่ความเป็นปัจเจก แต่จะมองความหมายของคนที่ระบบของความสัมพันธ์ คนหนึ่งคนไม่มีความหมาย คนจะมีความหมายเมื่อถูกยอมรับเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสังคม สังคมไทยจึงเป็นสังคมในระบบเครือญาติ ระบบอุปถัมภ์ ครอบครัวของสังคมไทยจะเป็นครอบครัวขยาย ญาติพี่น้องมีความสัมพันธ์ สังคมเป็นระบบการพึ่งพา คนในหมู่บ้าน ในชุมชน มีระบบความสัมพันธ์ต่อกันอย่างลึกซึ้งในเชิงวัฒนธรรม ต่างกับในสังคมตะวันตก ที่จะเน้นถึงความเป็นปัจเจกที่มากกว่า สังคมตะวันตกจะมองความหมายของคนที่ความแตกต่าง ความสามารถเฉพาะ ครอบครัวในสังคมตะวันตกจะแยกตัวต่างคนต่างอยู่ สังคมมีความสัมพันธ์กันในลักษณะการพึ่งพาเพื่ออาชีพการงาน มากกว่าจะเป็นการสัมพันธ์กันในลักษณะเครือญาติ ดังนั้นสิทธิส่วนบุคคลในสังคมตะวันตกจะเป็นสิทธิที่มีความเข้มแข็ง มีการออกกฎหมายเป็นหมวดหมู่เฉพาะ และมีการคุ้มครองในเรื่องดังกล่าวอย่างจริงจัง ในขณะที่สังคมไทย สิทธิส่วนบุคคลไม่สำคัญมากนัก เพราะมีความสัมพันธ์กันในลักษณะเครือญาติ ทุกคนมีสิทธิตรวจสอบผู้อื่นเสมอ และไม่ได้มองว่านั่นคือความผิดหรือเรื่องผิดปกติแต่อย่างไร
แต่อย่างไรก็ดี ตั้งแต่การประกาศแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ พ.ศ.2504 สังคมไทยมีการพัฒนาทางเศรษฐกิจขึ้นอย่างรวดเร็ว เกิดโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เรือกสวนไร่นาค่อย ๆ หายไป พร้อม ๆ กับการเกิดขึ้นของเมือง วิถีชีวิตของผู้คนเริ่มเกิดการแตกกระจายออกไปเป็นความโดดเดี่ยว ครอบครัวที่เคยเป็นครอบครัวขยาย อยู่พร้อมหน้าพร้อมตากัน ก็ค่อย ๆ แตกสลายไปสู่ครอบครัวย่อย ความสัมพันธ์ในระบบเครือญาติ กลายเป็นความสัมพันธ์ในเชิงผลประโยชน์จากการทำงาน คนในสังคมเริ่มแยกตัวอยู่กันอย่างโดดเดี่ยวยิ่งขึ้น ดังนั้น สิทธิส่วนบุคคลในสังคมไทยจึงค่อย ๆ มีบทบาทมากขึ้น
การปรากฏตัวขึ้นของสิทธิส่วนบุคคลเป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญปี พ.ศ.2540 ไม่ใช่หมายความว่าก่อนหน้านี้สังคมไทยไม่มีความคิดเกี่ยวกับสิทธิส่วนบุคคล แต่หมายความว่าการฟักตัวของสิทธิส่วนบุคคลได้ดำเนินมาถึงจุดสุกงอมที่จะต้องมี ทั้งนี้จะเห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับอื่น ๆ ก่อนหน้านี้ ไม่มีการพูดสิทธิส่วนบุคคลมาก่อน และถึงแม้ว่าการรับรองสิทธิส่วนบุคคลจะยังไม่มีการแยกออกมาเป็นหมวดหมู่หรือมีกฎหมายลูกแตกออกมาก็ตาม แต่การปรากฏตัวขึ้นของสิทธิประเภทนี้ ก็เป็นสิ่งบ่งชี้ให้เห็นถึงสภาวะบางอย่างของสังคมได้ว่า เรากำลังดำเนินไปสู่การแยกย่อยทางสังคมยิ่งขึ้น

ความหมายของสิทธิส่วนบุคคลในทางวารสารศาสตร์
ผู้ที่ทำงานในวิชาชีพสื่อสารมวลชนก็เช่นเดียวกับผู้ที่ทำงานในวิชาชีพอื่น ๆ คือเป็นลูกจ้างในสถาบันหรือองค์กรทางธุรกิจ แม้การทำงานของสื่อมวลชนอาจจะไม่ค่อยเป็นเวลา แต่สำหรับวันหยุดที่ต้องหยุดติดต่อกันหลายวันนั้น ก็เหลือผู้ที่จะต้องอยู่ทำงานในองค์กรไม่มากนัก จึงไม่น่าแปลกใจที่เมื่อถึงช่วงวันหยุดยาว ๆ ของแต่ละปี เช่นวันสงกรานต์ วันปีใหม่ หรือกระทั่งช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ก็ตาม จะมีข่าวที่เราเรียกว่า “ข่าวแห้ง” หรือข่าวที่เขียนไว้ล่วงหน้าอยู่แล้วลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ นสพ.บางฉบับถึงกับลงภาพนักแสดงนุ่งน้อยห่มน้อยก็มี
กรณีหนึ่งที่เกิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา ปี คศ.1989 ซึ่งเราเรียกกรณีนี้ว่า “Blade-Citizen” เกิดขึ้นในช่วงวันหยุดเช่นกัน เรื่องมีอยู่ว่า ก่อนหน้าที่จะถึงวันหยุดประจำปีหลายวัน มีนักกีฬาเบสบอลหญิงผู้หนึ่งให้สัมภาษณ์ทางหนังสือพิมพ์เกี่ยวกับการเล่นกีฬาของเธอ มีข้อความตอนหนึ่งที่เธอเอ่ยถึงพ่อของเธอ โดยเล่าว่าพ่อของเธอเคยเป็นนักเบสบอลระดับชาติมาก่อนในช่วงทศวรรษ 1920
คุณสมบัติที่สำคัญของนักข่าวคือการมีจมูกที่ไวต่อความเป็นข่าว (Nose for News) แม้ข้อความที่นักกีฬาหญิงที่เอ่ยถึงพ่อของเธอจะไม่มากนัก แต่ก็ทำให้นักข่าวมองเห็นแล้วว่าในช่วงวันหยุดยาวที่ใกล้จะมาถึงนั้น เขาควรทำข่าวแห้งอะไรเก็บไว้ตีพิมพ์ในขณะที่เขาลาพัก คุณสมบัติที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือความถูกต้องของข้อมูล เขาตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นจากหนังสือสถิติกีฬา และพบว่ามีผู้ที่มีนามสกุลเดียวกับหญิงผู้นี้เป็นนักกีฬาระดับชาติในช่วงทศวรรษ 1920 จริง นักข่าวผู้นั้นจึงไม่รอช้า เขาตามไปขอสัมภาษณ์ชายชราวัย 95 ปี ผู้นั้นทันที
ชายชราได้เล่าเรื่องราวที่สนุกสนานมากมายเกี่ยวกับการเล่นเบสบอลสมัยก่อน รวมไปถึงประสบการณ์แปลก ๆ ของเขา ผู้สื่อข่าวได้รวบรวมบทสัมภาษณ์ทั้งหมดและเขียนออกมาอย่างประณีต ข่าวนี้เป็นข่าวที่งดงามและสมบูรณ์แบบมาก มันถูกเขียนก่อนวันหยุดหลายวัน ทำให้ผู้สื่อข่าวสามารถหยุดยาวในช่วงวันหยุดได้
อย่างไรก็ดี อีกเพียง 1 – 2 วันก่อนที่ข่าวชิ้นนี้จะถูกตีพิมพ์ ก็มีผู้อ่านทางบ้านโทรศัพท์เข้ามาที่สำนักงาน ซึ่งขณะนั้นทั้งผู้สื่อข่าวที่ทำข่าวนี้รวมไปถึงบรรณาธิการข่าวก็ต่างลาหยุดไปหมดแล้ว เหลือแต่ผู้ช่วยบรรณาธิการซึ่งทำหน้าที่แทน ผู้อ่านทางบ้านคนนั้นโทรศัพท์เข้ามาเพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับบทสัมภาษณ์ของนักกีฬาหญิงเบสบอลที่ให้สัมภาษณ์ตอนหนึ่งถึงพ่อของเธอซึ่งถูกนำเสนอไปเมื่อหลายวันก่อนว่า สิ่งที่เธอพูดมานั้นไม่เป็นความจริง เพราะชื่อของนักกีฬาเบสบอลที่เธออ้างว่าเป็นพ่อนั้น เสียชีวิตไปแล้วตั้งแต่ปี ค.ศ. 1942 โดยอ้างถึงหนังสือบันทึกข้อมูลทางการกีฬาเล่มหนึ่ง
ในครั้งแรกผู้ช่วยบรรณาธิการยังไม่ติดใจเชื่อนัก เพราะหนังสือสถิติกีฬาก็ตีพิมพ์ข้อมูลที่ผิดพลาดบ่อย ๆ แต่หลังจากนั้นก็มีโทรศัพท์เข้ามาอีกหลายสาย โดยอ้างถึงข้อมูลจากแหล่งอื่น ๆ ยืนยันในสิ่งเดียวกันว่า ชายที่ถูกอ้างชื่อถึงนี้เสียชีวิตไปแล้วถึง 47 ปี จริง ๆ
บรรณาธิการรักษาการจึงตรวจสอบข่าวนี้ใหม่อีกครั้ง แต่การอ่านครั้งนี้ความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับเขานั้นแตกต่างไปจากการอ่านครั้งแรก ๆ เรื่องที่น่าจะเป็นเรื่องปกติ แต่ขณะนี้ ทุกสิ่งทุกอย่างดูน่าสงสัยไปหมด
ที่สุดบรรณาธิการก็ตัดสินใจไปหาชายชราด้วยตัวเองเพื่อสัมภาษณ์อีกครั้ง ซึ่งชายชราก็ยังคงให้สัมภาษณ์เหมือนเดิม บรรณาธิการถามเกี่ยวกับบันทึกข้อมูลในหนังสือสถิติกีฬา ชายชรายืนยันว่าหนังสือผิด บรรณาธิการพยายามคาดคั้นอีกหลายคำถาม เช่นทำไมเพื่อนเมื่อ 30 ปีก่อน ไม่มีใครรู้ว่าชายชราผู้นี้เคยเป็นนักเบสบอลมาก่อน หรือการขอดูหลักฐานเพื่อยืนยันว่าเขาเป็นนักเบสบอลคนนั้นจริง ๆ เป็นต้น
แม้ชายชราจะพยายามตอบหลายคำถาม เช่นหลักฐานที่ใช้ยืนยัน เขาบอกว่ามันสูญเสียไปหมดแล้วตั้งแต่เกิดอุบัติเหตุเมื่อ 30 กว่าปีก่อน แต่ท้ายที่สุดชายชราก็ดูเหนื่อยที่จะพูดอะไรต่อไป เขาพูดกับบรรณาธิการว่า “ฉันไม่อยากคุยเรื่องนี้อีก, ฉันเหนื่อยเหลือเกิน” เขาพูดคำพูดประโยคนี้ 2 ครั้ง
สำหรับการทำงานข่าวแล้ว ความน่าเชื่อถือเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ดังนั้นความถูกต้องของข้อมูลถือเป็นหน้าที่สำคัญที่สื่อมวลชนจะต้องรับผิดชอบอย่างดียิ่ง บรรณาธิการพยายามพิจารณาเรื่องดังกล่าวอย่างละเอียดรอบคอบว่าเขาจะนำเสนอข่าวนี้อย่างไร ในที่สุดเขาก็ตัดสินใจเลือกอยู่ข้างความถูกต้อง เขาพยายามอย่างยิ่งในการปรับปรุงข่าวเกี่ยวกับชายชราคนนี้ใหม่ให้มีความถูกถ้วนมากยิ่งขึ้น เขานำเสนอข้อเท็จจริงที่เขาค้นพบ บทสัมภาษณ์ครั้งหลังที่ทำให้เห็นได้ชัดว่าชายชราผู้นี้กำลังโกหก เขานำเสนอข้อมูลอย่างรอบด้านและอย่างประณีต เขาละเอียดอ่อนแม้แต่ถ้อยคำเพียงเล็กน้อย มันเป็นงานข่าวที่ทำด้วยความจริงใจ และเขาก็พบว่า ข่าวที่เขาเรียบเรียงขึ้นใหม่นี้ มีความสมบูรณ์รอบด้าน และตรงตามข้อเท็จจริง เป็นข่าวที่สมบูรณ์มากที่สุดข่าวหนึ่งที่เขาเคยเขียน เขานำเสนอข่าวนี้ในวันรุ่งขึ้นซึ่งตรงกับวันหยุดที่จะต้องนำเสนอข่าวที่เตรียมไว้นี้พอดี
แต่หลังจากที่ข่าวชิ้นนี้ถูกตีพิมพ์เผยแพร่ออกไป กลับมีโทรศัพท์และจดหมายจำนวนมากมายจากผู้อ่านที่แสดงถึงความโกรธเกลียด ผู้อ่านบางคนบอกว่าการนำเสนอข่าวของผู้สื่อข่าวนี้เป็นเสมือนคมมีดที่กรีดบาดประชน (Blade-Citizen) กลายเป็นว่างานข่าวที่ทำด้วยความจริงใจและทุ่มเทนี้เป็นฝ่ายผิด แต่ในขณะที่ชายชราผู้นี้กลับได้รับความเห็นใจจากสังคม
ปัญหาอยู่ตรงที่ว่า ชายชราผู้มีอายุ 95 ปีผู้นี้ เขาเชื่อมาตลอดชีวิตของเขาว่าเขาเป็นนักกีฬาเบสบอลระดับชาติ เขาพยายามเล่าเรื่องนี้ให้ลูกหลานของเขาฟังทุกวันจนลูกหลานของเขาเชื่อในสิ่งที่ชายชราคนนี้พูด จนกระทั่งในวัย 95 ปี ซึ่งเป็นวัยที่ความทรงจำเลอะเลือนจนยากที่จะแยกได้ออกว่าอะไรคือความจริงหรืออะไรคือสิ่งที่เขาวาดภาพขึ้นมาตามความฝันที่เขาอยากจะเป็น คำถามจึงอยู่ที่ว่า ชายชราคนนี้มีสิทธิหรือไม่ที่จะโกหกครอบครัวของเขาเอง และที่สำคัญที่สุด ชายชราคนนี้มีสิทธิหรือไม่ที่จะโกหกตัวเอง มีสิทธิหรือไม่ที่จะอยู่ในโลกของความฝันของตัวเองที่สร้างภาพแห่งความภาคภูมิใจของเขามาตลอดชีวิต
ข่าวเรื่องนี้ไม่ใช่เริ่มต้นที่ชายชราต้องการเป็นข่าว แต่เริ่มจากที่ลูกสาวของเขาซึ่งเชื่อในสิ่งที่พ่อเล่า มาให้สัมภาษณ์กับนักข่าวโดยให้สัมภาษณ์เรื่องอื่น สำหรับเรื่องพ่อของเธอเป็นเพียงส่วนย่อยของบทสัมภาษณ์ทั้งหมด หมายความว่าเธอและพ่อของเธอไม่มีเจตนาที่จะโกหกหลอกลวงใคร แต่ผู้สื่อข่าวเป็นผู้ที่ตามมาขยายผลเรื่องนี้เอง โดยเขียนเป็นข่าวแห้งทิ้งไว้ในช่วงวันหยุด เมื่อมีการตรวจสอบภายหลังพบว่าข่าวนี้อาจไม่จริง แต่หนังสือพิมพ์ก็ไม่มีข่าวอื่นที่เตรียมไว้ สิ่งที่ทำก็คือการไปสัมภาษณ์โดยตั้งคำถามอย่างคาดคั้นจากชายชรา เป็นการละเมิดต่อสิทธิส่วนบุคคลของครอบครัวของผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของข่าวหรือไม่ ผู้อ่านบางรายเขียนจดหมายมาถึงกองบรรณาธิการว่า การกระทำครั้งนี้ เป็นการกระทำที่ไม่มีหัวใจเหมือนทุกครั้งที่หนังสือพิมพ์เป็น จดหมายอีกจำนวนมากเรียกร้อง จริยธรรมของหนังสือพิมพ์ มีฉบับหนึ่งเขียนว่า ชายชราผู้นี้กำลังถูกทำร้ายด้วยนามอันไพเราะที่เรียกว่า “เพื่อความน่าเชื่อถือของหนังสือพิมพ์”
กรณีข้างต้นเป็นกรณีศึกษาเกี่ยวกับเรื่องของสิทธิส่วนบุคคล เมื่อเราพูดถึงสิทธิส่วนบุคคล โดยมากเราจะคิดถึงเรื่องของการแอบดูหรือการนำเสนอภาพอันเป็นกิจกรรมส่วนตัวของผู้อื่น แต่ในความเป็นจริงแล้ว เรื่องนี้กินความหมายมากกว่านั้น สิทธิส่วนบุคคล (right of privacy) โดยทั่วไปจะหมายถึง สิทธิในชีวิตส่วนตัว เป็นสิทธิของบุคคลที่จะอยู่โดยลำพัง (to be let alone) สิทธิที่จะได้รับการปลดปล่อยจากสังคม แยกออกจากสังคม ออกจากการตรวจสอบของสังคม ดังเช่นในเรื่องจะเห็นว่าชายชราผู้นี้กำลังโกหกกับครอบครัวของเขา ถ้าการโกหกดังกล่าวไม่ได้ทำให้สังคมเดือนร้อน เขามีสิทธิที่จะโกหกต่อครอบครัวหรือตัวของเขาเองหรือไม่ สื่อมวลชนมีสิทธิที่จะเข้าไปตรวจสอบหรือไม่
สิทธิส่วนบุคคลจึงเป็นเรื่องของสำนึก เป็นเรื่องของจิตใจ มากกว่าจะเป็นเรื่องของการกระทำทางกายหรือภายนอก การแอบดูหรือแอบถ่ายภาพของผู้อื่น แม้โดยทั่วไปจะถือเป็นการละเมิดต่อสิทธิส่วนบุคคล แต่ความจริงแล้วก็อาจไม่เสมอไป เช่น ถ้าการแอบดูหรือแอบถ่ายภาพนั้นเป็นการสมยอมของผู้ถูกแอบดูหรือถูกถ่ายภาพ กรณีนี้ก็ไม่อาจเรียกว่าเป็นการละเมิดต่อสิทธิส่วนบุคคลได้ ดังนั้นสิทธิส่วนบุคคลจึงไม่ใช่เป็นเรื่องของการกระทำเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของวิธีคิดด้วยว่าขณะนี้เขากำลังถูกสังคมตรวจสอบในสิ่งที่เขาต้องการจะอยู่โดยลำพังหรือไม่ ดังนั้นแม้เขาจะไม่ได้ทำในสิ่งน่าอายหรืออยู่ในที่ส่วนตัวที่ปกปิดมิดชิด อาจจะกำลังนั่งดื่มกาแฟในร้านกาแฟที่คนพลุกพล่าน แต่ถ้ามีใครสักคนมานั่งจ้องมองเขา เช่นนี้ก็ถือว่าเป็นการละเมิดต่อสิทธิส่วนบุคคลของเขาแล้วเช่นกัน
ในทางวารสารศาสตร์ สิทธิส่วนบุคคลที่ผู้สื่อข่าวจะต้องระวัง ไม่ก้าวไปสู่การล่วงละเมิดมีอย่างน้อย 4 ประการ ได้แก่
1. การเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวของผู้อื่นต่อสาธารณะ (Public Disclosure of Private Facts) หมายถึงการนำเอาข้อมูลหรือภาพส่วนตัวของผู้อื่นไปเปิดเผยโดยที่เจ้าของไม่ยินยอม
2. การบุกรุกความเป็นส่วนตัวของผู้อื่น (Intrusion) ได้แก่การรบกวนความเป็นอยู่ส่วนตัวหรือทำความเสียหายต่อสมบัติส่วนตัวผู้อื่น เช่นการแอบถ่ายภาพของผู้อื่น การถ่ายภาพของผู้เสียชีวิตโดยไม่คำนึงถึงความสง่างามแห่งความเป็นมนุษย์ของเขา การบุกรุกเข้ามาในบ้านของผู้อื่นเพื่อขอสัมภาษณ์โดยที่เจ้าตัวไม่ยินยอม เป็นต้น ซึ่งเรื่องนี้จะมีกฎหมายอื่น ๆ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
3. การใช้ภาพผิดที่ (False Light) ได้แก่การเอาภาพของบุคคลอื่นไปเผยแพร่ประกอบเรื่องราวในข่าวหรือสารคดี โดยที่เจ้าตัวไม่ได้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์เลย และไม่อนุญาตด้วย เช่น ทำข่าวเรื่องนักศึกษาขายตัว แล้วนำเอาภาพของนักศึกษาที่เจ้าตัวไม่เกี่ยวข้องมาประกอบข่าว เป็นต้น
4. การนำชื่อหรือภาพของบุคคลอื่นไปโฆษณาหรือหาผลประโยชน์ โดยไม่ได้รับอนุญาต (Misappropriation)
อย่างไรก็ดี เรื่องส่วนบุคคลบางเรื่อง ก็อาจไม่สามารถอ้างสิทธิที่จะไม่ให้สังคมตรวจสอบได้ เช่น ถ้าสามีฆ่าภรรยาตัวเองตาย แล้วบอกว่าเป็นเรื่องส่วนบุคคล เป็นเรื่องภายในครอบครัว ฉะนั้นห้ามผู้สื่อข่าวเข้าไปยุ่งนั้นย่อมไม่ได้ สิทธิส่วนบุคคลย่อมไม่กินความเลยไปถึงเรื่องราวอันเป็นการกระทำที่ผิดต่อกฎหมายและมีผลกระทบต่อสังคม เพราะทันทีที่เกิดการละเมิดดังกล่าว เรื่องส่วนบุคคลของบุคคลผู้นั้น จะแปรสภาพกลายเป็นสิทธิที่จะรู้ (Right to Know) ของประชาชนทันที

สิทธิส่วนบุคคลกับสิทธิที่จะรู้
หลักการของสังคมประชาธิปไตย คือความเป็นสังคมแบบพหุสัจจะ ความจริงไม่ได้มีเพียงหนึ่งเดียว เป็นสังคมที่เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา เป็นสังคมของการมีส่วนร่วม และหลากหลายความคิดเห็น (Participatory Society) ดังนั้นต้องมีการอภิปรายและถกเถียง (Discussion and debates) สังคมประชาธิปไตยไม่ใช่สังคมที่พยายามกำจัดความขัดแย้งในทางความคิด หรือพยายามทำให้ความคิดในสังคมเป็นหนึ่งเดียว แต่เป็นสังคมที่ยอมรับความขัดแย้งในทางความคิด และใช้ข้อมูลต่าง ๆ ที่มีในการหาทางออกที่ดีที่สุด แต่การที่เขาจะอภิปรายเพื่อหาทางออกที่ดีที่สุดได้ เขาจะต้องรู้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนั้น ๆ ดังนั้นพลเมืองจะต้องมีสิทธิที่จะรู้ (Right to Know) ข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ก่อน
เมื่อประชาชนมีสิทธิที่จะรู้ จึงเป็นหน้าที่สำคัญของสื่อมวลชนที่จะแสวงหาข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ มามอบให้กับประชาชน เมื่อประชาชนมีข้อมูลข่าวสารที่มากพอก็จะนำไปสู่การถกเถียงเพื่อหาคำตอบ และเพื่อให้สื่อมวลชนสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สื่อจึงได้รับมอบ “สิทธิในการแสวงหาข่าวสาร” เพื่อนำความรู้ที่ได้มามอบให้แก่ประชาชน
แต่อย่างไรก็ดี แม้ประชาชนมีสิทธิที่จะรู้ แต่สิทธิดังกล่าวก็จะมีข้อจำกัด หลักประการหนึ่งซึ่งเป็นข้อจำกัดสิทธิที่จะรู้คือหลักในเรื่องของสิทธิส่วนบุคคล (right of privacy) กล่าวคือ ประชาชนย่อมมีสิทธิที่จะรู้ได้ ตราบที่ไม่ไปละเมิดต่อเรื่องส่วนตัวของบุคคลอื่น สิทธิที่จะรู้จึงถูกจำกัดอยู่ด้วยสิทธิส่วนบุคคล อาจกล่าวได้ว่า สิทธิที่จะรู้เป็นสิทธิของสังคมในการตรวจสอบหาข้อมูลต่าง ๆ แต่ในขณะที่สิทธิส่วนบุคคลเป็นสิทธิของปักเจกชนที่จะไม่ให้สังคมตรวจสอบ
ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 ได้บัญญัติเกี่ยวกับสิทธิส่วนบุคคลไว้ ในมาตรา 34 ซึ่งมีใจความดังนี้
“มาตรา 34 สิทธิของบุคคลในครอบครัว เกียรติยศ ชื่อเสียง หรือความเป็นอยู่ส่วนตัว ย่อมได้รับความคุ้มครอง
การกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลาย ซึ่งข้อความหรือภาพไม่ว่าด้วยวิธีใดไปยังสาธารณชน อันเป็นการละเมิดหรือกระทบถึงสิทธิของบุคคลในครอบครัว เกียรติยศ ชื่อเสียง หรือความเป็นอยู่ส่วนตัว จะกระทำมิได้ เว้นแต่กรณีที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน”
จะเห็นว่า แม้รัฐธรรมนูญจะรับรองการมีอยู่ของสิทธิส่วนบุคคล แต่ก็มีความในตอนท้ายของวรรค 2 ที่ว่า “เว้นแต่กรณีที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน” หมายความว่ารัฐธรรมนูญจะคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคล เว้นแต่เมื่อสิทธิส่วนบุคคลนั้นจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ สิทธิส่วนบุคคลดังกล่าวย่อมถูกแทนที่ด้วยสิทธิที่จะรู้ของประชาชน
ในทางวารสารศาสตร์ถือว่าสิทธิส่วนบุคคลของคนแต่ละคนก็มีไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับสถานะของบุคคลผู้นั้นในสังคมด้วย กล่าวคือ เมื่อบุคคลผู้นั้นเป็นบุคคลสาธารณะ (Public Figure) สิทธิส่วนบุคคลของเขาก็จะลดน้อยถอยลง และสิทธิที่จะรู้ของประชาชนจะเข้ามาแทนที่ ดาราภาพยนตร์หรือโทรทัศน์ต้องการให้ชื่อของตนติดปากคนดู ก็เท่ากับเป็นการยินยอมพร้อมใจในการสูญเสียสิทธิส่วนบุคคลอยู่แล้ว รวมไปถึงนักการเมืองหรือบุคลากรของรัฐก็จะมีสิทธิส่วนบุคคลที่ลดลงไป เพราะเขาเข้าไปเกี่ยวข้องกับการบริหารราชการแผ่นดินอันเกี่ยวโยงไปถึงผลประโยชน์ของคนทั้งประเทศ นักการเมืองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐเหล่านี้จึงมีสิทธิส่วนบุคคลที่ลดลงไป สิทธิของประชาชนในการตรวจสอบจะเข้ามาแทนที่มากขึ้น หรือแม้บุคคลนั้นไม่ใช่บุคคลสาธารณะหรือเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ แต่เขาได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่มีคุณค่าควรเป็นข่าว (newsworthiness) เช่น ประสบอุบัติเหตุ ร่วมเดินขบวนประท้วง หรือแม้กระทั่งกางร่มในวันฝนตกหนักในข่าวเกี่ยวกับอุทกภัย เหล่านี้สื่อมวลชนสามารถนำภาพมาทำเป็นข่าวได้ทั้งสิ้น แต่สื่อมวลชนก็ควรจะต้องชั่วใจหรือประมาณการณ์ให้ดีว่า เด็กหญิงที่เข้าไปมีส่วนในเหตุการณ์ที่เป็นข่าว เด็กชายที่ทำร้ายเพื่อนโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เหล่านี้ควรจะเอาภาพของพวกเขามาลงพิมพ์หรือไม่ สื่อมวลชนอาจจะต้องเผชิญปัญหาอยู่บ่อย ๆ ว่า จะคำนึงถึงความรู้สึกของผู้ตกเป็นข่าวหรือว่าจะสนองสิทธิที่จะรู้ของประชาชน
ยังมีคำถามที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ เรารู้แต่ว่ามีสิทธิบางอย่างเป็นสิทธิส่วนบุคคล สิทธิบางอย่างเป็นสิทธิที่จะรู้ สิทธิส่วนบุคคลบางอย่าง ของบางบุคคล ในบางสถานการณ์ อาจจะแปรสภาพไปเป็นสิทธิที่จะรู้ได้ แต่เส้นที่ขั้นระหว่างสิทธิที่จะรู้และสิทธิส่วนบุคคลนั้น เราจะใช้อะไรเป็นเกณฑ์ในการพิจารณา ประชาชนมีสิทธิที่จะรู้ได้แค่ไหน และแค่ไหนถือเป็นการเข้าไปในเรื่องส่วนบุคคลของผู้อื่นมากเกินไป สื่อมวลชนจะสามารถสร้างความชอบธรรมต่อการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของผู้อื่นได้อย่างไร คำถามเหล่านี้อาจไม่มีคำตอบที่ชัดเจนแน่นอนตายตัวเหมือนการคำนวณด้วยสูตรทางคณิตศาสตร์ เพราะการรายงานข่าวเป็นเรื่องเชิงคุณค่าทางสังคม เมื่อสื่อมวลชนเผชิญหน้ากับปัญหาที่เกิดขึ้นในสถานการณ์จริงของวิชาชีพ สื่อจะต้องตัดสินใจเลือกว่าจะแก้ปัญหาดังกล่าวได้อย่างไร เมื่อทางหนึ่งสื่อต้องรายงานข้อเท็จจริงต่อสังคมอย่างซื่อสัตย์ แต่ในอีกทางหนึ่ง สื่อก็ต้องเคารพต่อสิทธิส่วนบุคคลของผู้อื่น ในทางวารสารศาสตร์ มีเกณฑ์คร่าว ๆ ที่สื่อมวลชนควรระลึกในการตัดสินใจเลือกที่จะกระทำ 3 ประการ ได้แก่
1. การตัดสินใจนั้น ต้องไม่ผิดจากมโนสำนึกหรือผิดต่อความยุติธรรม (decency and fairness) แม้กฎหมายจะไม่เข้ามาดูแลถึงเรื่องของการใช้ภาพผิดที่ การพูดกำกวม ความไม่รอบคอบ และการพูดเกินความจริง แต่ถ้าผิดต่อมโนสำนึกหรือความยุติธรรมก็ถือว่าการกระทำนั้นเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง
2. ต้องคำนึงถึงค่านิยมของสังคม มาตรฐานแห่งการยอมรับของสังคมในขณะนั้นเป็นอย่างไร เพื่อจะได้ทราบว่าการเปิดเผยข้อมูลนั้นชอบต่อการรับรู้ของสาธารณะหรือไม่ เงื่อนไขนี้ถือว่า เรื่องที่สนองความกระเหี้ยนกระหือหรือสนองต่อความสอดรู้สอดเห็น ย่อมไม่ใช่เรื่องที่มีคุณค่าควรแก่การเป็นข่าว
3. ความสง่างามแห่งความเป็นมนุษย์ (dignity) จะต้องไม่ถูกทำลายด้วยการอ้างอภิสิทธิ์ของสื่อมวลชน

สิทธิส่วนบุคคลในกฎหมายฉบับอื่น ๆ
นอกจากสิทธิส่วนบุคคลจะปรากฏในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 แล้ว ยังมีกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง แม้จะไม่ได้ระบุถึงสิทธิส่วนบุคคลโดยตรงเหมือนในรัฐธรรมนูญก็ตาม แต่ก็มีความคาบเกี่ยวมาถึงสิทธิส่วนบุคคลด้วย กฎหมายที่สำคัญ ได้แก่
1. ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มีประเด็นที่คาบเกี่ยวกับสิทธิส่วนบุคคลในส่วนที่ว่าด้วยความผิดฐานละเมิด มีใจความสำคัญดังปรากฏในมาตราต่าง ๆ ดังนี้
“มาตรา 420 ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย ให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แต่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สิน หรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิด จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น
มาตรา 421 การใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดเสียหายแก่บุคคลอื่นนั้น ท่านว่าเป็นการอันมิชอบด้วยกฎหมาย
มาตรา 423 ผู้ใดกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง เป็นที่เสียหายแก่ชื่อเสียงหรือเกียรติคุณของบุคคลอื่นก็ดี หรือเป็นที่เสียหายแก่ทางทำมาหาได้ หรือทางเจริญของเขาโดยประการอื่นก็ดี ท่านว่าผู้นั้นจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่เขาเพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันเกิดแต่การนั้น แม้ทั้งเมื่อตนมิได้รู้ว่าข้อความนั้นไม่จริง แต่หากควรจะรู้ได้
ผู้ใดส่งข่าวสาส์นอันตนมิได้รู้ว่าเป็นความไม่จริงหากว่าตนเองหรือผู้รับข่าวสาส์นนั้นมีทางได้เสียโดยชอบในการนั้นด้วยแล้ว ท่านว่าเพียงที่ส่งข่าวสาส์นเช่นนั้น หาทำให้ผู้นั้นต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่
มาตรา 438 ค่าสินไหมทดแทนจะพึงใช้โดยสถานใดเพียงใดนั้น ให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด
อนึ่ง ค่าสินไหมทดแทนนั้นได้แก่การคืนทรัพย์สินอันผู้เสียหายต้องเสียไปเพราะละเมิดหรือใช้ราคาทรัพย์สินนั้น รวมทั้งค่าเสียหายอันจะพึงบังคับให้ใช้เพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันได้ก่อขึ้นนั้นด้วย
มาตรา 447 บุคคลใดทำให้เขาต้องเสียหายแก่ชื่อเสียง เมื่อผู้ต้องเสียหายร้องขอ ศาลจะสั่งให้บุคคลนั้นจัดการตามควรเพื่อทำให้ชื่อเสียงของผู้นั้นกลับคืนดี แทนการให้ใช้ค่าเสียหายหรือทั้งให้ใช้ค่าเสียหายด้วยก็ได้”
2. ประมวลกฎหมายอาญา มีประเด็นที่คาบเกี่ยวมาถึงสิทธิส่วนบุคคล ในหมวด 8 ว่าด้วยความผิดฐานบุกรุก ใน 2 มาตรา ดังนี้
“มาตรา 362 ผู้ใดเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นเพื่อถือครอบครองอสังหาริมทรัพย์นั้นทั้งหมดหรือแต่บางส่วน หรือเข้าไปกระทำการใด ๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของเขาโดยปกติสุข ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 364 ผู้ใดโดยไม่มีเหตุอันสมควรเข้าไปหรือซ่อนตัวอยู่ในเคหสถาน อาคารเก็บรักษาทรัพย์ หรือสำนักงานในความครอบครองของผู้อื่น หรือไม่ยอมออกไปจากสถานที่เช่นว่านั้น เมื่อผู้มีสิทธิที่จะห้ามมิให้เข้าไปได้ไล่ให้ออก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
จะเห็นว่าสิทธิส่วนบุคคลในกฎหมายฉบับอื่น ๆ จะเป็นการพูดรวม ๆ กันไปกับความผิดในลักษณะอื่น ๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้สื่อมวลชนจะต้องพึงระมัดระวังอย่างดียิ่งในการปฏิบัติหน้าที่

สรุป

หน้าที่สำคัญของสื่อมวลชนคือการนำเสนอข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ต่อประชาชน เพื่อให้ประชาชนสามารถนำไปสู่ข้อถกเถียงเพื่อหาคำตอบที่ดีที่สุดในสังคมได้ แต่สิทธิในการแสวงหาข่าวสารของสื่อมวลชนก็ใช่จะเป็นไปอย่างไม่มีขีดจำกัด จะมีบางเรื่องที่สื่อไม่สามารถนำมาเสนอต่อประชาชนได้ หนึ่งในนั้นคือเรื่องส่วนบุคคลของผู้อื่น รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 บอกให้เรารู้ในมาตรา 34 ว่าเรื่องส่วนตัวของบุคคลอื่นย่อมได้รับการคุ้มครอง แต่อย่างไรก็ดี ในกฎหมายข้อเดียวกันนั้น ก็ยังเปิดช่องให้สื่อสามารถแสวงหาข่าวสารเพื่อนำเสนอได้ หากเรื่องส่วนบุคคลนั้นเป็นเรื่องที่มีประโยชน์ต่อสาธารณะ ดังนั้นจึงอยู่ที่วิธีคิดของสื่อมวลชนว่า ในขณะที่เขากำลังเผชิญหน้ากับการตัดสินใจ เขาจะเลือกนำเสนอข่าวสารอย่างไรจึงไม่ละเมิดต่อเรื่องส่วนบุคคลของผู้อื่นมากเกินไป ในขณะเดียวกันก็ต้องตอบสนองต่อประโยชน์ของสาธารณะ ทั้งหมดนี้สื่อมวลชนจะต้องคิดและเลือกอย่างดีที่สุด ไม่ใช่เพียงเพื่อ “ความน่าเชื่อถือของสื่อมวลชน” แต่ยังเพื่อความเป็นธรรมที่จะไม่ซ้ำเติมต่อประชาชนที่กำลังตกเป็นเหยื่อของเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นให้ยิ่งรับชะตากรรมที่รุนแรงยิ่งขึ้น