ตร.จะจับใครไปโรงพักมั่วไม่ได้

ตร.จะจับใครไปโรงพักมั่วไม่ได้ครับ
 เรื่องเสร็จที่ ๔๕๒/๒๕๔๖
***นานแล้วก่อนที่จะยกเลิก ม.78 - 4 ที่ว่า แจ้งความแล้วชี้ให้จับได้เสียอีก***
บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

เรื่อง  หารือปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับการจับกุมตามมาตรา ๗๘ มาตรา ๑๑๗
                      มาตรา ๑๓๔ และมาตรา ๑๓๖ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
  
                   สำนักงานตำรวจแห่งชาติ  ได้มีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ ตช ๐๐๐๔.๖/๔๙๒๑ ลงวันที่
๒๘ ตุลาคม ๒๕๔๕ ถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ขอหารือในประเด็นปัญหาเกี่ยวกับการดำเนิน
การตามมาตรา ๗๘ มาตรา ๑๑๗ มาตรา ๑๓๔ และมาตรา ๑๓๖ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณา
ความอาญา ให้สอดคล้องกับบทบัญญัติมาตรา ๒๓๗ วรรคหนึ่ง[๑] ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
ที่บัญญัติว่า “ในคดีอาญา การจับและคุมขังบุคคลใดจะกระทำมิได้ เว้นแต่มีคำสั่งหรือหมายของศาล หรือ
ผู้นั้นได้กระทำความผิดซึ่งหน้า หรือมีเหตุจำเป็นอย่างอื่นให้จับได้โดยไม่มีหมายตามที่กฎหมายบัญญัติ…”
โดยมีประเด็นปัญหาที่ขอหารือรวม ๗ ประเด็น ดังนี้
                   ประเด็นที่หนึ่ง กรณีตามมาตรา ๗๘ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
                  
(ก) มาตรา ๗๘ (๒) เมื่อพบบุคคลนั้นกำลังพยายามกระทำความผิด หรือพบโดย
มีพฤติการณ์อันควรสงสัยว่าผู้นั้นจะกระทำความผิดโดยมีเครื่องมือ อาวุธ หรือวัตถุอย่างอื่นอันสามารถ
อาจใช้ในการกระทำความผิด
(ข) มาตรา ๗๘ (๓) เมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่าผู้นั้นได้กระทำความผิดมาแล้วและจะหลบหนี
(ค) มาตรา ๗๘ (๔) เมื่อมีผู้ขอให้จับโดยแจ้งว่าบุคคลนั้นได้กระทำความผิดและแจ้งด้วยว่าได้ร้องทุกข์ไว้ตามระเบียบแล้ว
                        กรณีตามมาตรา ๗๘ (๒) (๓) และ (๔) นั้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
บัญญัติไว้เป็นข้อยกเว้นในการจับกุมโดยไม่ต้องมีหมาย ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติเห็นว่า กรณีดังกล่าว
พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจสามารถจับกุมได้โดยไม่ต้องมีคำสั่งหรือหมายของศาลตามมาตรา ๒๓๗
วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
                   ประเด็นที่สอง กรณีตามมาตรา ๑๑๗ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ที่บัญญัติให้อำนาจนายประกันขอให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจที่ใกล้ที่สุดจับตัวผู้ต้องหาหรือจำเลย
ที่มีประกัน ซึ่งเห็นว่าจำเลยได้หนีหรือจะหลบหนี หรือนายประกันจะทำการจับผู้ต้องหาหรือจำเลยเองเมื่อ
ไม่สามารถขอให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจับกุมได้ทันท่วงที สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เห็นว่า กรณีนี้
เป็นเหตุจำเป็นอย่างอื่นที่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจและนายประกันจับได้โดยไม่ต้องมีคำสั่งหรือหมาย
ของศาล ตามมาตรา ๒๓๗ วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
ประเด็นที่สาม กรณีตามมาตรา ๑๓๔ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ที่บัญญัติว่า
เมื่อผู้ต้องหาถูกเรียกหรือส่งตัวมาหรือเข้าหาพนักงานสอบสวนเอง หรือปรากฏว่าผู้ใดซึ่งมาอยู่ต่อหน้า
เจ้าพนักงานเป็นผู้ต้องหา ให้ถามชื่อตัว นามสกุล ชาติ บังคับ บิดามารดา อายุ อาชีพ ที่อยู่ ที่เกิด และ
แจ้งข้อหาให้ทราบ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เห็นว่า การแจ้งข้อหาให้ผู้ต้องหาทราบดังกล่าวไม่ใช่การ
จับกุม พนักงานสอบสวนสามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องมีคำสั่งหรือหมายของศาลตามมาตรา ๒๓๗
วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
                        ประเด็นที่สี่ กรณีตามมาตรา ๑๓๖ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ที่บัญญัติว่า
พนักงานสอบสวนจะจับและควบคุมหรือจัดการให้จับหรือควบคุมผู้ต้องหาหรือบุคคลใด ซึ่งในระหว่าง
สอบสวนปรากฏว่าเป็นผู้กระทำผิด สำนักงานตำรวจแห่งชาติเห็นว่า กรณีดังกล่าวเป็นเหตุจำเป็นอย่างอื่น
ที่พนักงานสอบสวนสามารถจับกุมผู้ต้องหาที่ปรากฏตัวต่อหน้าและได้ทำการสอบสวนจนชัดเจนแล้วว่าเป็น
ผู้กระทำผิดจริง โดยไม่ต้องมีคำสั่งหรือหมายของศาลตามมาตรา ๒๓๗ วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่ง
ราชอาณาจักรไทย
                        ประเด็นที่ห้า ในกรณีที่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจับกุมผู้ต้องหามาแล้ว ต่อมามีเหตุ
ต้องปล่อยตัวผู้ต้องหาเนื่องจากส่งฟ้องศาลไม่ทันตามกำหนด หลังจากพนักงานสอบสวนทำการสอบสวน
เสร็จสิ้นและมีความเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหา สำนักงานตำรวจแห่งชาติเห็นว่า พนักงานสอบสวนสามารถ
ขอให้ศาลออกหมายจับในข้อหาเดิม เพื่อจับกุมผู้ต้องหาแล้วส่งตัวผู้ต้องหาพร้อมสำนวนการสอบสวนให้
พนักงานอัยการได้
                   ประเด็นที่หก ในกรณีที่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจับกุมผู้ต้องหามาแล้ว ต่อมามีการ
ปล่อยตัวผู้ต้องหาด้วยเหตุที่พนักงานสอบสวนมีความเห็นควรสั่งไม่ฟ้อง หลังจากพนักงานสอบสวน
ส่งสำนวนให้พนักงานอัยการแล้ว พนักงานอัยการมีความเห็นควรสั่งฟ้อง จึงมีความจำเป็นที่ต้องนำตัว
ผู้ต้องหามาฟ้อง สำนักงานตำรวจแห่งชาติเห็นว่า พนักงานสอบสวนสามารถขอให้ศาลออกหมายจับ
ในข้อหาเดิมเพื่อจับกุมตัวผู้ต้องหามาฟ้องได้
                        ประเด็นที่เจ็ด ในกรณีที่ผู้ต้องหาซึ่งมีหมายจับของพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่
และพนักงานอัยการได้สั่งให้จัดการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อให้ได้ตัวผู้ต้องหามาฟ้อง แต่ยังไม่ได้ขอให้ศาล
ออกหมายจับ ปรากฏว่าผู้ต้องหานั้นกำลังจะหลบหนีออกนอกประเทศ  สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
เห็นว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจับกุมตัวได้โดยไม่ต้องมีคำสั่งหรือหมายของศาล เพราะเป็นเหตุจำเป็น
เร่งด่วน หากรอให้ศาลออกหมายอาจจะทำให้ผู้ต้องหาหลบหนีหรือออกนอกราชอาณาจักรไป
ในชั้นพิจารณาเรื่องนี้ของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ ๑๑) ผู้แทนสำนักงานตำรวจ
แห่งชาติ (พลตำรวจตรี จักรทิพย์ กุญชร ณ อยุธยา) ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่า กรณีข้อหารือตาม
ประเด็นที่เจ็ด นั้น เป็นกรณีผู้ต้องหาถูกออกหมายจับตามหมายจับของพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ
ชั้นผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นการออกหมายจับโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา ๕๘ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณา
ความอาญาก่อนวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๔๕ ซึ่งเป็นวันที่บทบัญญัติมาตรา ๒๓๗ ของรัฐธรรมนูญแห่ง
ราชอาณาจักรไทยมีผลใช้บังคับ ทั้งนี้  ตามมาตรา ๓๓๕ (๖)[๒] ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
แต่มีปัญหาว่า หากผู้ต้องหาจะหลบหนีออกนอกประเทศภายหลังวันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๔๕ เจ้าหน้าที่จะ
กระทำการจับกุมโดยไม่ต้องมีหมายได้หรือไม่ ซึ่งในขณะนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ดำเนินการร้องขอให้ศาลออก
หมายจับผู้ต้องหาในคดีที่เคยออกหมายจับโดยพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่แล้ว ทั้งนี้
เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา ๒๓๗ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

                   คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ ๑๑) ได้พิจารณาปัญหาข้อหารือของสำนักงานตำรวจ
แห่งชาติ โดยมีผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้แทนสำนักงานศาลยุติธรรม ผู้แทนสำนักงานอัยการ
สูงสุด และผู้แทนกระทรวงมหาดไทย (กรมการปกครอง) เป็นผู้ชี้แจงรายละเอียดข้อเท็จจริงแล้ว
มีความเห็นดังต่อไปนี้
                   โดยที่มาตรา ๓๑ วรรคหนึ่งและวรรคสาม[๓] ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
บัญญัติว่าบุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย การจับ คุมขัง ตรวจค้นตัวบุคคล จะกระทำ
มิได้เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ประกอบกับมาตรา ๒๙[๔] ของรัฐธรรมนูญ
แห่งราชอาณาจักรไทย ได้บัญญัติหลักประกันเกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพของบุคคลไว้ว่า บุคคลจะถูก
จำกัดสิทธิและเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ไม่ได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่ง
กฎหมายเฉพาะเพื่อการที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้และเท่าที่จำเป็นเท่านั้น และจะกระทบกระเทือนสาระ
สำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพนั้นมิได้ ตลอดจนบทบัญญัติมาตรา ๒๓๗ วรรคหนึ่ง[๕] ของรัฐธรรมนูญ
แห่งราชอาณาจักรไทย ที่บัญญัติให้ในคดีอาญา การจับและคุมขังบุคคลใดจะกระทำมิได้ เว้นแต่มี
คำสั่งหรือหมายของศาล หรือผู้นั้นได้กระทำความผิดซึ่งหน้า หรือมีเหตุจำเป็นอย่างอื่นให้จับได้โดย
ไม่มีหมายตามที่กฎหมายบัญญัติ  ดังนั้น การจะดำเนินการตามข้อยกเว้นตามมาตรา ๒๓๗ วรรคหนึ่ง
ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่ให้อำนาจกระทำได้จะต้องปฏิบัติในขอบเขตและเงื่อนไขที่จำกัด
เท่าที่มีเหตุจำเป็นจริง ๆ เท่านั้น
                   อย่างไรก็ตาม การจะพิจารณาว่าข้อเท็จจริงใดถือว่าเป็นเหตุจำเป็นอย่างอื่นให้จับโดย
ไม่มีหมายตามมาตรา ๗๘ มาตรา ๑๑๗ มาตรา ๑๓๔ และมาตรา ๑๓๖ แห่งประมวลกฎหมายวิธี
พิจารณาความอาญานั้น  คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ ๑๑) มีความเห็นในแต่ละประเด็น ดังต่อไปนี้

ประเด็นที่หนึ่ง กรณีตามมาตรา ๗๘[๖] แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
สามารถแยกประเด็นการพิจารณาได้ดังนี้
                   (๑) กรณีตามมาตรา ๗๘ (๒) แยกพิจารณาได้เป็น ๒ ประการ คือ
                         (ก) กรณีเมื่อพบบุคคลกำลังพยายามกระทำความผิดนั้น เห็นว่า ในกรณีที่พนักงาน
ฝ่ายปกครองหรือตำรวจพบเห็นบุคคลใดกำลังพยายามกระทำความผิดตามมาตรา ๗๘ (๒) แห่งประมวล
กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กรณีดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการกระทำความผิดซึ่งหน้าตามมาตรา ๘๐[๗]
แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และเป็นกรณีที่เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา ๒๓๗ วรรคหนึ่ง
ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่กำหนดให้มีการจับโดยไม่ต้องมีคำสั่งหรือหมายของศาล
                         (ข) กรณีเมื่อพบบุคคลโดยมีพฤติการณ์อันควรสงสัยว่าผู้นั้นจะกระทำความผิดโดย
มีเครื่องมือ อาวุธ หรือวัตถุอย่างอื่นอันสามารถอาจใช้ในการกระทำความผิดนั้น เห็นว่า กรณีดังกล่าวอาจ
ถือว่าเป็นเหตุจำเป็นอย่างอื่นให้จับโดยไม่มีหมายได้ ดังปรากฏในกรณีที่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ
พบเห็นบุคคลมีเครื่องมือ อาวุธ หรือวัตถุอย่างอื่น อันสามารถอาจใช้ในการกระทำความผิด  อย่างไรก็ตาม การ
จะพิจารณาว่ากรณีใดจะเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา ๒๓๗ วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
หรือไม่ นั้น ต้องพิจารณาข้อเท็จจริงอื่นประกอบด้วย เช่น ผู้นั้นมีอาวุธไว้ในครอบครองโดยมีเจตนาที่จะนำ
อาวุธดังกล่าวไปใช้ในการกระทำความผิดในทันทีทันใดนั้นเอง จึงเป็นเหตุจำเป็นอย่างอื่นซึ่งเข้าข้อยกเว้นที่
ให้จับได้โดยไม่ต้องมีคำสั่งหรือหมายของศาล
                   (๒) กรณีตามมาตรา ๗๘ (๓) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เห็นว่า
กรณีใดจะถือว่าเป็นกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าผู้นั้นได้กระทำความผิดมาแล้วและจะหลบหนี ซึ่งเข้า
ข้อยกเว้นที่ให้จับได้โดยไม่มีคำสั่งหรือหมายของศาลตามมาตรา ๒๓๗ วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่ง
ราชอาณาจักรไทยหรือไม่ นั้น จะต้องพิจารณาข้อเท็จจริงเป็นกรณีๆ ไป และต้องพิจารณาข้อเท็จจริงอย่าง
เคร่งครัดว่า เป็นกรณีที่มีหลักฐานตามสมควรว่าผู้นั้นได้กระทำความผิดอาญาและมีเหตุอันควรเชื่อว่าผู้นั้น
จะหลบหนี และมีความจำเป็นเร่งด่วน ซึ่งไม่สามารถขอหมายจับจากศาลได้ทันท่วงทีตามนัยมาตรา ๒๓๗
วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เช่น กรณีที่ผู้กระทำความผิดจะหลบหนีออกนอก
ประเทศ เป็นต้น
                   (๓) กรณีตามมาตรา ๗๘ (๔)[๘] แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เห็นว่า
กรณีเมื่อมีผู้ขอให้จับโดยแจ้งว่าบุคคลผู้นั้นได้กระทำความผิดและแจ้งด้วยว่าได้ร้องทุกข์ไว้ตามระเบียบนั้น
ไม่เป็นข้อยกเว้นที่ให้อำนาจพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจับได้โดยไม่ต้องมีคำสั่งหรือหมายของศาล
เนื่องจากมิใช่กรณีเป็นความผิดซึ่งหน้าหรือมีเหตุจำเป็นอย่างอื่นที่ให้จับได้ตามที่รัฐธรรมนูญแห่ง
ราชอาณาจักรไทยบัญญัติเป็นข้อยกเว้น เพราะไม่ใช่กรณีเร่งด่วน

ประเด็นที่สอง  กรณีตามมาตรา ๑๑๗[๙] แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
เห็นว่า ถือได้ว่าเป็นเหตุจำเป็นอย่างอื่นตามที่มาตรา ๒๓๗ วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร
ไทย บัญญัติเป็นเหตุยกเว้นไว้ เพราะเป็นกรณีเร่งด่วนที่ไม่อาจรอให้ศาลออกหมายจับได้ทัน และผู้ต้องหา
หรือจำเลยที่หลบหนีหรือจะหลบหนีดังกล่าวต้องเป็นผู้ที่ได้เคยถูกจับมาก่อนที่จะได้รับการปล่อยชั่วคราว
โดยอาจถูกจับตามหมายจับ หรือมิฉะนั้นก็เป็นกรณีการจับได้โดยที่ไม่ต้องมีหมายจับ ซึ่งถือว่าได้ผ่าน
กระบวนการตรวจสอบจากศาลมาแล้วครั้งหนึ่ง  ดังนั้น เจ้าพนักงานหรือบุคคลซึ่งทำสัญญาประกันจึงสามารถ
จับผู้ต้องหาหรือจำเลยที่หนีหรือจะหลบหนีได้ตามที่กำหนดในมาตรา ๑๑๗ แห่งประมวลกฎหมายวิธี
พิจารณาความอาญา โดยไม่เป็นการขัดกับมาตรา ๒๓๗ วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

                   ประเด็นที่สาม  กรณีตามมาตรา ๑๓๔ [๑๐] แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
เห็นว่า กรณีที่พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาแก่ผู้ต้องหาซึ่งเป็นกรณีที่ผู้ต้องหาถูกเรียก หรือส่งตัวมา หรือ
เข้าหาพนักงานสอบสวนเอง หรือปรากฏว่าผู้ซึ่งมาอยู่ต่อหน้าเจ้าพนักงานเป็นผู้ต้องหานั้น เป็นเรื่องขั้นตอน
การสอบสวนผู้ต้องหา ไม่ใช่การจับกุมตามนัยของมาตรา ๒๓๗ วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร
ไทย

                   ประเด็นที่สี่  กรณีตามมาตรา ๑๓๖ [๑๑] แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
เห็นว่า กรณีที่พนักงานสอบสวนจะจับและควบคุมหรือจัดการให้จับหรือควบคุมผู้ต้องหาหรือบุคคลใด
ซึ่งระหว่างการสอบสวนปรากฏว่าเป็นผู้กระทำความผิดนั้น ไม่ถือเป็นเหตุจำเป็นอย่างอื่นตามที่มีกฎหมายบัญญัติให้เจ้าพนักงานมีอำนาจจับได้โดยไม่มีหมายตามมาตรา ๒๓๗ วรรคหนึ่ง
ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยเจ้าพนักงานจะต้องขอหมายจับจากศาลเสียก่อน

                   ประเด็นที่ห้า  เห็นว่า กรณีที่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจับกุมตัวผู้ต้องหามาแล้ว
ต่อมามีเหตุปล่อยตัวผู้ต้องหาเนื่องจากสั่งฟ้องศาลไม่ทันตามกำหนด หลังจากพนักงานสอบสวนทำการ
สอบสวนเสร็จสิ้นและมีความเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหา กรณีดังกล่าวพนักงานสอบสวนมีอำนาจขอให้ศาล
ออกหมายจับผู้ต้องหาในข้อหาเดิมเพื่อจับกุมตัวผู้ต้องหาแล้วส่งตัวผู้ต้องหาให้พนักงานอัยการได้

                   ประเด็นที่หก  เห็นว่า กรณีที่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจับกุมตัวผู้ต้องหามาแล้ว
ต่อมามีการปล่อยตัวผู้ต้องหาด้วยเหตุควรที่พนักงานสอบสวนเห็นควรสั่งไม่ฟ้อง หลังจากพนักงาน
สอบสวนส่งสำนวนให้พนักงานอัยการแล้ว พนักงานอัยการมีความเห็นควรสั่งฟ้อง กรณีดังกล่าวพนักงาน
สอบสวนมีอำนาจขอให้ศาลออกหมายจับผู้ต้องหาในข้อหาเดิมเพื่อจับกุมตัวผู้ต้องหามาฟ้องต่อศาลได้
                 
ประเด็นที่เจ็ด  เห็นว่า เนื่องจากบทบัญญัติ มาตรา ๒๓๗ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร
ไทยได้ใช้บังคับมาเป็นระยะเวลาพอสมควรแล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องซึ่งต้องถือปฏิบัติตามบทบัญญัติ
ดังกล่าว ได้ออกระเบียบปฏิบัติและดำเนินการเพื่อให้สอดคล้องกับบทบัญญัติมาตรา ๒๓๗ ของ
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแล้ว ดังนั้น จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องพิจารณาประเด็นตามปัญหา
ดังกล่าวอีก
                 


                                                              ลงชื่อ      พรทิพย์  จาละ
                                                                   (นางสาวพรทิพย์  จาละ)
                                                                        รองเลขาธิการฯ
                                                   รักษาราชการแทน เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา


สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
        มิถุนายน ๒๕๔๖
ส่งพร้อมหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ นร ๐๙๐๑/๐๖๔๘ ลงวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๔๖ ซึ่งสำนักงาน
คณะกรรมการกฤษฎีกา มีถึงสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี
[๑] มาตรา ๒๓๗  ในคดีอาญา การจับและคุมขังบุคคลใด จะกระทำมิได้ เว้นแต่มีคำสั่งหรือ
หมายของศาล หรือผู้นั้นได้กระทำความผิดซึ่งหน้า หรือมีเหตุจำเป็นอย่างอื่นให้จับได้โดยไม่มีหมายตามที่กฎหมาย
บัญญัติ โดยผู้ถูกจับจะต้องได้รับการแจ้งข้อกล่าวหาและรายละเอียดแห่งการจับโดยไม่ชักช้า กับจะต้องได้รับโอกาส
แจ้งให้ญาติหรือผู้ซึ่งถูกจับไว้วางใจทราบในโอกาสแรก และผู้ถูกจับซึ่งยังถูกควบคุมอยู่ต้องถูกนำตัวไปศาลภายใน
สี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาที่ผู้ถูกจับถูกนำตัวไปถึงที่ทำการของพนักงานสอบสวน เพื่อศาลพิจารณาว่ามีเหตุที่จะ
ขังผู้ถูกจับไว้ตามกฎหมายหรือไม่ เว้นแต่มีเหตุสุดวิสัยหรือมีเหตุจำเป็นอย่างอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ
                             ฯลฯ                                           ฯลฯ

[๒] มาตรา ๓๓๕  ในวาระเริ่มแรก มิให้นำบทบัญญัติดังต่อไปนี้ มาใช้บังคับกับกรณีต่างๆ ภายใต้
เงื่อนไขดังต่อไปนี้
                             ฯลฯ                                           ฯลฯ
                          (๖) มิให้นำบทบัญญัติมาตรา ๒๓๗ มาใช้บังคับ จนกว่าจะมีการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติแห่งกฎหมายเพื่อให้การเป็นไปตามบทบัญญัติดังกล่าว ซึ่งต้องไม่เกินห้าปีนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้
                             ฯลฯ                                           ฯลฯ
                   [๓] มาตรา ๓๑  บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย
                     การทรมาน ทารุณกรรม หรือการลงโทษด้วยวิธีการโหดร้ายหรือไร้มนุษยธรรม จะกระทำมิได้
แต่การลงโทษประหารชีวิตตามที่กฎหมายบัญญัติ ไม่ถือว่าเป็นการลงโทษด้วยวิธีการโหดร้ายหรือไร้มนุษยธรรมตาม
ความในวรรคนี้
                     การจับ คุมขัง ตรวจค้นตัวบุคคล หรือการกระทำใดอันกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพตามวรรคหนึ่ง
จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
                   [๔] มาตรา ๒๙  การจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้จะกระทำมิได้ เว้นแต่
โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะเพื่อการที่รัฐธรรมนูญนี้กำหนดไว้และเท่าที่จำเป็นเท่านั้น และจะ
กระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพนั้นมิได้
                     กฎหมายตามวรรคหนึ่งต้องมีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไปและไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใด
กรณีหนึ่งหรือแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเจาะจง ทั้งต้องระบุบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจในการตรา
กฎหมายนั้นด้วย
                     บทบัญญัติวรรคหนึ่งและวรรคสองให้นำมาใช้บังคับกับกฎหรือข้อบังคับที่ออกโดยอาศัยอำนาจ
ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายด้วยโดยอนุโลม
                   [๕] โปรดดูเชิงอรรถที่ ๑, ข้างต้น

[๖] มาตรา ๗๘  พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจะจับผู้ใดโดยไม่มีหมายจับนั้นไม่ได้ เว้นแต่ในกรณี
ต่อไปนี้        
  (๑) เมื่อบุคคลนั้นได้กระทำความผิดซึ่งหน้าดังบัญญัติไว้ในมาตรา ๘๐
  (๒) เมื่อพบบุคคลนั้นกำลังพยายามกระทำความผิด หรือพบโดยมีพฤติการณ์อันควรสงสัยว่าผู้นั้นจะ
กระทำความผิดโดยมีเครื่องมือ อาวุธ หรือวัตถุอย่างอื่น อันสามารถอาจใช้ในการกระทำความผิด
  (๓) เมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่าผู้นั้นได้กระทำความผิดมาแล้ว และจะหลบหนี
  (๔) เมื่อมีผู้ขอให้จับโดยแจ้งว่าบุคคลนั้นได้กระทำความผิด และแจ้งด้วยว่าได้ร้องทุกข์ไว้ตาม
ระเบียบแล้ว
                   ฯลฯ                                           ฯลฯ
[๗] มาตรา ๘๐  ที่เรียกว่าความผิดซึ่งหน้านั้น ได้แก่ความผิดซึ่งเห็นกำลังกระทำ หรือพบในอาการใดซึ่ง
แทบจะไม่มีความสงสัยเลยว่าเขาได้กระทำผิดมาแล้วสด ๆ
                      อย่างไรก็ดี ความผิดอาญาดังระบุไว้ในบัญชีท้ายประมวลกฎหมายนี้ ให้ถือว่าความผิดนั้นเป็น
ความผิดซึ่งหน้าในกรณีดังนี้
                      (๑) เมื่อบุคคลหนึ่งถูกไล่จับดังผู้กระทำโดยมีเสียงร้องเอะอะ
                      (๒) เมื่อพบบุคคลหนึ่งแทบจะทันทีทันใดหลังจากการกระทำผิดในถิ่นแถวใกล้เคียงกับที่เกิดเหตุ
นั้นและมีสิ่งของที่ได้มาจากการกระทำผิด หรือมีเครื่องมือ อาวุธหรือวัตถุอย่างอื่นอันสันนิษฐานได้ว่าได้ใช้ในการกระทำ
ผิด หรือมีร่องรอยพิรุธเห็นประจักษ์ที่เสื้อผ้าหรือเนื้อตัวของผู้นั้น
[๘] โปรดดูเชิงอรรถที่ ๖, ข้างต้น
[๙] มาตรา ๑๑๗  เมื่อผู้ต้องหาหรือจำเลยหนีหรือจะหลบหนี บุคคลซึ่งทำสัญญาประกันหรือเป็น
หลักประกันอาจขอให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจที่ใกล้ที่สุดจับผู้ต้องหาหรือจำเลยนั้น ถ้ามิสามารถจะขอความ
ช่วยเหลือจากเจ้าพนักงานเช่นนั้นได้ทันท่วงที ก็ให้มีอำนาจจับผู้ต้องหาหรือจำเลยนั้นได้เอง แล้วส่งไปยังพนักงาน
ฝ่ายปกครองหรือตำรวจที่ใกล้ที่สุด และให้พนักงานนั้นรีบจัดส่งผู้ต้องหาหรือจำเลยนั้นไปยังเจ้าพนักงานหรือศาล
โดยคิดค่าพาหนะจากบุคคลนั้น
[๑๐] มาตรา ๑๓๔  เมื่อผู้ต้องหาถูกเรียก หรือส่งตัวมา หรือเข้าหาพนักงานสอบสวนเองหรือปรากฏว่า
ผู้ใดซึ่งมาอยู่ต่อหน้าเจ้าพนักงานเป็นผู้ต้องหา ให้ถามชื่อตัว นามสกุล ชาติ บังคับ บิดามารดา อายุ อาชีพ ที่อยู่ ที่เกิด
และแจ้งข้อหาให้ทราบ และต้องบอกให้ทราบก่อนว่า ถ้อยคำที่ผู้ต้องหากล่าวนั้นอาจใช้เป็นพยานหลักฐานยันเขาในการ
พิจารณาได้ เมื่อผู้ต้องหาเต็มใจให้การอย่างใด ก็ให้จดคำให้การไว้ ถ้าผู้ต้องหาไม่เต็มใจให้การเลย ก็ให้บันทึกไว้
[๑๑] มาตรา ๑๓๖  พนักงานสอบสวนจะจับและควบคุม หรือจัดการให้จับหรือควบคุมผู้ต้องหาหรือ
บุคคลใดซึ่งในระหว่างสอบสวนปรากฏว่าเป็นผู้กระทำผิด หรือจะปล่อยชั่วคราวโดยไม่มีประกันเลย หรือมีประกัน
หรือมีประกันและหลักประกันด้วย หรือปล่อยไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ในเรื่องนั้น ๆ ก็ได้

...ตร.ไทยเลี่ยงได้อีก บอกว่าจับตาม ม.80